Shroud of Turin ผ้าห่อร่างพระเยซูกับข้อกังขาเกี่ยวกับความจริงแท้

20 มิ.ย. 2566 - 02:45

  • เปิดเผยเรื่องราว Shroud of Turin ผ้าลินินที่เชื่อว่าเป็นผ้าห่อร่างพระเยซูหลังจากถูกตรึงกางเขน กับทฤษฎี ข้อเท็จจริง และข้อโต้แย้งมากกว่าเกี่ยวกับความจริงแท้มานานจนถึงปัจจุบัน

VIBE-shroud-of-turin-controversy-SPACEBAR-Thumbnail
ช่วงหนึ่งเฟสบุ๊กเคยมีกระแสแชร์โพสต์เกี่ยวกับ ‘Shroud of Turin’ หรือผ้าห่อศพที่เชื่อว่าเคยห่อหุ้มพระศพของพระเยซูหลังจากโดนตรึงกางเขนมาแล้ว จากร่องรอยเผยเห็นคล้ายเป็นใบหน้าละม้ายคล้ายคลึงกับพระเยซูคริสต์ โพสต์นี้แชร์ไปร่วมหลายร้อยคน เนื้อหามีการอธิบายที่มาพร้อมกับอ้างอิงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันความจริงแท้ของผ้าคลุมที่ว่านี้  
 
Shroud of Turin เคยเป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการมาเนิ่นนานแล้ว มักเรียกกันว่า ‘Shroud of Turin Controversy’ ลักษณะของผ้าเป็นผ้าลินินยาว 14 ฟุต (ราว 4-5 เมตร) มีรอยสีน้ำตาลจางๆ ที่คาดว่าเป็นเลือดที่แห้งแล้วคล้ายกับชายคนหนึ่ง และยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนหลังจากที่ เซคอนโด ปิอา (Secondo Pia) ถ่ายภาพผ้าคลุมและเปลี่ยนเป็นสีขาวดำเมื่อปี 1898 Shroud of Turin มีการบันทึกข้อมูลครั้งแรกเมื่อปี 1354 ในประเทศฝรั่งเศส เสนอต่อเจ้าอาวาสในโบสถ์เมืองลิเรย์โดยอัศวินเฌอฟรัว เดอ ชาร์นี (Geoffroi de Charny) แต่ไม่มีใครรู้ว่าเขาสามารถเอาผ้าคลุมนี้มาได้อย่างไร โดยตลอดที่ผ่านมาได้รับการยกย่องให้เป็นของศักสิทธิ์ของโบสถ์คาทอลิก เพราะเชื่อว่าภาพชายที่ปรากฎอยู่บนผ้าลินินคือ เยซูแห่งนาซาเร็ธ หรือศาสดาพระคริสต์ 
 
ในปี 1453 มาร์กาเร็ต เดอ ชาร์นี หลานสาวของเฌอฟรัว ขายผ้าคลุมนี้ให้กับตระกูลขุนนางแห่งเมืองซาวอย แต่การขายนี้ทำให้เธอถูกขับไล่ออกจากชุมชน ผ้าคลุมได้อยู่กับตระกูลแห่งซาวอยจนถึงปี 1578 แม้ว่าเคยเกือบถูกเผาในปี 1532 ณ โบสถ์ในเมืองชองเบรี ฝรั่งเศส จากเหตุเพลิงไหม้ ตระกูลแห่งซาวอยย้ายผ้าคลุมอีกทีในปี 1578 ไปไว้ในโบสถ์เซนต์จอห์นเดอะแบพทิสต์ (the Cathedral of Saint John the Baptist) ณ เมืองตูริน (ปัจจุบันเป็นเมืองของอิตาลี) จึงเป็นที่มาของชื่อ Shroud of Turin หรือ ผ้าคลุมแห่งเมืองตูริน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7yRu36HrOigGaQggzWYmTp/fb6629ca14928a031aa93e4048654437/VIBE-shroud-of-turin-controversy-SPACEBAR-Photo01
ในเมืองไทยผ้าห่อพระศพนี้ถูกผลักดันอีกครั้งโดย คุณพ่อวิชัย โภคทวี เอส.เจ. ด้วยการหาหลักฐานมากมายเพื่อพิสูจน์ความจริงแท้ของ Shroud of Turin บนโพสต์มีการอธิบายทางการแพทย์ไว้ว่า 
 
“จากเบาะแสทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ทำให้การสืบสวนทางการแพทย์เกิดขึ้นตามมา การสืบสวนทางการแพทย์ระบุว่า บุคคลในภาพบนผ้าผืนนี้ถูกทรมาน และเสียชีวิตจากการถูกตรึงบนกางเขน   

‘เราไม่ได้เห็นเพียงคนที่ตาย แต่เราเห็นคนที่หน้าของเขาบวมเพราะถูกตบตี โดยจะเห็นได้ว่าแก้มข้างหนึ่งบวมกว่าอีกข้างหนึ่ง แต่หน้าบวมทั้งสองข้าง มีรอยถูกเฆี่ยนด้วยแส้ของชาวโรมัน ซึ่งเป็นสายหนัง สองถึงสามเส้น ที่ปลายสายหนังจะมีตุ้มโลหะสองตุ้มคล้ายดัมเบล ร่างของเขาเต็มไปด้วยรอยของแส้นี้มากกว่า 120 แผล 

‘ที่แปลกกว่านั้นคือรอยแผลจากการโดนตรึงบนกางเขน รอยแผลทำให้เห็นการตรึงที่บริเวณข้อมือ เพราะชาวโรมันรู้ว่าถ้าตรึงที่ฝ่ามือ จะรับน้ำหนักไม่ไหวจนฉีกขาดและตัวจะตกลงมาได้ แต่ถ้าตรึงบริเวณข้อมือ มันจะรับน้ำหนักได้ และไม่ฉีกขาด 

‘เรายังเห็นรอยเลือดปกคลุมไปทั่วศีรษะ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่เรียกกันว่ามงกุฎหนาม ที่ทหารโรมันเอามาสวมพระเยซูเพื่อล้อเลียนว่าเป็นกษัตริย์และเพื่อทรมาน แต่ความจริงแล้วทหารโรมันไม่ได้ประดิษฐ์ประดอยมงกุฏที่เป็นวงกลมแบบนั้น แต่เป็นการเอากอหนามมาโปะแล้วทุบลงไปบนศีรษะ ลักษณะเหมือนหมวกมากกว่ามงกุฏ ทำให้มีเลือดออกมาทั่วศีรษะ 

‘เราเห็นแผลด้านข้างลำตัว รอยแผลที่มีเลือดเยอะที่สุดในผ้าห่อศพมาจากแผลนี้ และเลือดได้ไหลย้อยไปด้านหลัง ดังนั้นรอยเลือดบนผ้าผืนนี้ ตรงกันกับคำบอกเล่าในพระวรสารทุกประการ ทำให้เป็นข้อสันนิษฐานที่เชื่อมั่นได้อย่างชัดเจนว่าภาพของผู้เสียชีวิตคือร่างของผู้ใด
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1RSsXnuwpX0E5qkjsu0ib6/51c0647544438b8210b6c502e0c02577/VIBE-shroud-of-turin-controversy-SPACEBAR-Photo02
“วิธีการ carbon dating ไม่ใช่วิธีเหมาะกับผ้าที่ถูกบูรณะมาเยอะเช่นผ้าผืนนี้ งานวิจัยที่ทำ carbon dating ในปี 1988 แล้วสรุปว่าเป็นของปลอม ก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลดิบจนมีการฟ้องศาลให้เปิดข้อมูลและได้พบข้อผิดพลาดในข้อมูลดิบที่เปิดออกมา (เพราะโดนคำสั่งศาล) เรียกว่าถูกหักล้างไปแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่ยังเชื่ออยู่เพราะตอนผลวิจัยออกมาสื่อเล่นข่าวเยอะมาก แต่ตอนหักล้าง สื่อเงียบ” เจ้าของโพสต์ กล่าวบนโพสต์พร้อมกล่าวว่ามีวิธีการที่ดีกว่านั้นคือ WAXS หรือ Wide Angle X-ray Scattering เป็นเทคนิควัดการกระเจิงของรังสีเอกซ์ที่มุมเล็กๆ เพื่อศึกษาลักษณะโครงสร้างของสสาร
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/aogEJ1dcA1B2Jif4e57xg/5e7e7980772c8246666f397f96efd019/VIBE-shroud-of-turin-controversy-SPACEBAR-Photo03
“วิธีการใหม่เช่น Wide Angle X-ray Scattering (WAXS) ก็เป็นวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าเป็นไปได้มากกว่า แต่ก็อาจจะไม่ได้อายุจริงๆของผ้าอยู่ดี เนื่องจากตามประวัติศาสตร์ผ้าผืนนี้มีเส้นทางการเดินทางที่ยาวนาน 20 ศตวรรษ โดย 7 ศตวรรษแรกถูกเก็บรักษาแบบธรรมดา และมาถูกเก็บอย่างดีตามมาตรฐานการเก็บรักษาวัตถุโบราณเอาใน 14 ศวรรษหลัง และเพิ่งจะได้เก็บในห้องควบคุมความชื้นและอุณหภูมิแบบที่เก็บปัจจุบันก็เมื่อไม่นานเมื่อเทียบกับอายุของมัน ทำให้ต้องมีการคำนวนค่าความเสื่อมในช่วงที่ถูกเก็บรักษาในสภาพแบบธรรมดาอย่างละเอียด และมีความซับซ้อนเพราะเส้นใยผ้าถูกบูรณะมากมาย ทำให้เป็นเรื่องที่ยากมากในการหาอายุจริงของผ้าด้วยวิทยาการเท่าที่เรามีในปัจจุบัน”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4CX9KYWJ5tmR3n9gQdDdng/a9fc0c24d2e4f1269bd081a2be666dfa/VIBE-shroud-of-turin-controversy-SPACEBAR-Photo04
Shroud of Turin เคยผ่านการตรวจคาร์บอนมาแล้วในปี 1988 ร่วมสามครั้ง ผลสรุปคือพบว่าผ้าห่อนี้ถูกทำขึ้นในช่วงยุคกลางระหว่างปี 1260-1390 สีน้ำตาลที่เชื่อว่าเป็นเลือดนั้นพบจริงๆ แล้วเป็นสีย้อม และการประทับเป็นร่างเกิดจากการประทับขึ้นใหม่ซ้ำหลายครั้ง ภาพของชายที่เชื่อว่าเป็นพระเยซูนั้นดูเหมือนชาวยุโรปเกินไป ไม่ใช่รูปร่างแบบชาวยิวเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ผ้าที่ใช้คลุมควรใช้แยกคนละผืนกับใบหน้า หากอิงตามพระคัมภีร์ไบเบิล และใบหน้าที่เห็นควรบิดเบี้ยวมากกว่านี้จากการโดนคลุมอย่างแน่นหนา สรุปคือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการค้นพบนั้นเป็นบทสรุปที่เพียงพอในการบอกว่า Shroud of Turin หรือผ้าห่อพระศพพระเยซูไม่ใช่ของจริงอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจกัน  
 
อันที่จริงการกล่าวว่า Shroud of Turin เป็นของทำขึ้นใหม่มีมาตั้งแต่ปี 1389 แล้ว ปิแอร์ ดาร์ซีส์ (Pierre d’Arcis) บิชอปแห่งเมืองทรัว (Troyes) ประเทศฝรั่งเศส เคยส่งรายงายต่อโป๊ปเคลเมนต์ที่ 7 (Pope Clement VII) โดยมีเนื้อหาให้ศิลปินสมควรสารภาพความจริงว่าทำผ้าคลุมขึ้นมา ดาร์ซีส์ยังกล่าวว่าเจ้าอาวาสโบสถ์ลิเรย์รู้อยู่แล้วว่าเป็นของทำขึ้นใหม่ แต่ต้องอาศัยเพื่อเรี่ยไรเงินให้กับโบสถ์ ต่อมาโป๊ปเคลเมนต์ที่ 7 ได้ออกมาพูดเองว่า Shroud of Turin ไม่ใช่ผ้าห่อพระศพพระเยซูจริง แม้แต่โป๊ปฟรานซิส (Pope Francis) ยังมองว่าเป็นสัญลักษณ์แทนความรักมากกว่า 
 
จะว่าไปแล้วนั้น การทำวัตถุทางศาสนาขึ้นมาไม่ใช่เรื่องแปลกในประวัติศาสตร์ (หากสิ่งนั้นถูกทำขึ้นมาใหม่จริงๆ) ผู้สร้างอาจมีแรงจูงใจในการสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลหลายประการ อาจเป็นเพราะความรักในศาสนาและศาสนาอันที่เป็นที่รัก หรืออาจต้องการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อโน้มน้าวผู้คน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่สำหรับคนในยุคปัจจุบัน ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารนั้นจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลโดยละเอียดและระมัดระวัง เพื่อการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงเข้าใจความเป็นมาอย่างแท้จริง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์