ชีวิตก่อนมาไทยของ นายคอร์ราโด เฟโรชี ผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ในไทย

14 กันยายน 2566 - 07:16

silpa-bhirasri-biography-SPACEBAR-Thumbnail
  • เส้นทางชีวิตของ คอร์ราโด เฟโรชี หรือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี จากช่างฝีมืองานประติมากรรมในอิตาลีสู่การเป็นผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ในไทย

ตอนที่ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เดินทางมายังสยาม ยังไม่มีใครรู้จักเขาเลยสักนิด แม้แต่ชาวอิตาลีด้วยกันเอง รวมถึงชาวสยามด้วย เมื่อปี 1923 เฟโรชีตั้งใจเดินทางมายังสยามเพื่อร่างออกแบบเหรียญกษาปณ์ และงานสถาปัตยกรรมอื่นๆ ในสยาม โดยช่วงนั้นตรงกับช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สยามกำลังพยายามรับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากตะวันตกเข้ามาเพื่อปรับงานศิลปะในสยามให้มีความทันสมัยมากขึ้น 
 
ชาวอิตาลีถือเป็นตัวเลือกแรกๆ สำหรับวังหลวงสยาม เพราะด้วยความสามารถทางศิลปะที่บ่มเพาะมานานตั้งแต่ยุคเรเนอซองส์ มีศิลปินชั้นครูมากมายพยายามสร้างความโดดเด่นด้วยเทคนิคทางศิลปะ และสถาปัตยกรรม แม้แต่ศิลปินจากยุโรปเหนือยังต้องมาศึกษางานศิลปะที่ยุโรปใต้ (อิตาลี) โดยเฉพาะเมืองฟลอเรนซ์ที่มีสำนักศิลปะอยู่มากมาย เปิดรับคอมมิชชันงานศิลปะอยู่ตลอดเวลา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/63fPDRKxEqJZeXBMztqhaD/dcaf75ff2544deb6869cb9d974e0ddcc/silpa-bhirasri-biography-SPACEBAR-Photo01
Photo: มหาวิทยาลัยศิลปากร
บ้านของ คอร์ราโด เฟโรชี อยู่ไม่ห่างจากโบสถ์มากนัก พ่อของเขาเป็นผู้ฝักใฝ่อนาธิปไตย และมักถูกจับข้อหาที่เกี่ยวโยงกับการเมืองอยู่บ่อยครั้ง แต่นอกจากนั้นคือเปิดร้านขายไวน์เล็กๆ ในวัยเด็กมีบันทึกว่าเขาชอบเดินเล่นที่ริมแม่น้ำอาร์โน และจะหยิบกองโคลนกองทรายขึ้นมาปั้นเล่น ความชื่นชอบในศิลปะแห่งการปั้น ทำให้เฟโรชีเติบโตและทำงานเป็นลูกมือสำนักศิลปะ อันเป็นวิถีการเรียนรู้ดั้งเดิมของศิลปินชาวอิตาลี ที่มักฝากตัวเป็นลูกมือกับศิลปินชั้นครูตามแต่ละสำนัก จนท้ายที่สุดระหว่างปี 1905-1911 เขาได้เข้าไปเรียนในสถาบันศิลปะแห่งซานต้าโครเช (Santa Croce Institute of Art) ตามคำอ้างอิงใน ‘Libero Ricerche Sulia Scultura del Primo Novecento’ นิตยสารราย 6 เดือนของศูนย์ Libero Andreotti ฉบับที่ 11 ประจำปี 1998 และมีส่วนร่วมในการจัดแสดงงานปลาสเตอร์ที่ Turin International Exhibition ปี 1911
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2s0w9yRMZPxnELhsjsW88Z/189bad459c6033c4e07371f7f04b7cee/silpa-bhirasri-biography-SPACEBAR-Photo_V01
Photo: มหาวิทยาลัยศิลปากร
อย่างไรก็ตาม มีข้อกังขาเกี่ยวกับสถานศึกษาของเฟโรชี จากหลักฐานในตอนนี้เกือบทุกแหล่งข้อมูลที่เป็นภาษาไทยมีการระบุว่าเขาจบจากสถาบันศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์ โดยมีการแนบภาษาอิตาลีว่า อัคคาเดเมีย ดิ อาร์ติ ดิ ฟิเรนเซ่ (Accademia di Belle Arti di Firenze) ข้อมูลระบุว่าสถาบันนี้ถูกก่อตั้งตั้งแต่สมัยเรเนอซองส์ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ตอนแรกถูกแยกออกมาเป็นสองแห่งระหว่างสำนักศิลปินแห่งหนึ่ง (หนึ่งในนั้นมีมิเคลานเจโล และวาซาลีเป็นศิษย์) กับกลุ่มศิลปินที่ถูกคัดเลือกให้มาทำงานศิลปะให้กับเมืองเมดิชี ภายหลังถูกผนวกรวมเข้าด้วยกันในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ให้เป็นสถาบันการศึกษาเดียวกัน สำหรับข้อมูลภาษาอังกฤษสถาบันที่เฟโรชีศึกษาใช้เป็นชื่อ The Royal Art Academy of Florence แต่กลายเป็นว่าไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าสถาบันนี้อยู่ที่ไหนในอิตาลี 
 
4 ปีต่อมาหลังจากที่แต่งงานและหย่าร้างกับ เปาลีนา แอนเจลินี (Paolina Angelini) ด้วยการสนับสนุนสำคัญจาก มาริโอ โฟเรซิ (Mario Foresi) เฟโรชีได้สร้างผลงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตครั้งแรกที่เมืองปอร์โตเฟราอิโอในชื่อ ‘War Memorial’ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในงานประติมากรรมชิ้นสำคัญแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของอิตาลี 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7y1iLODm36HowbQ2E53y8k/e4273cc44087b56d29e65f6f0044de59/silpa-bhirasri-biography-SPACEBAR-Photo_V02
Photo: War Memorial. Wikimedia
ปี 1924 เฟโรชีชนะในการรับเลือกให้เป็นผู้ออกแบบเหรียญ และงานศิลปะอื่นๆ ในสยาม ซึ่ง ณ เวลานี้เองที่ได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล เฟโรชีเดินทางไปสยามพร้อมกับคู่ชีวิตใหม่ และลูกสาววัยสองขวบ และแน่นอนว่าชีวิตในกรุงสยามในทีแรกของเขานั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะทุกครั้งเขาทำอะไรก็ตามมักไม่ได้รับความเห็นชอบของคนสยาม จนกระทั่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือที่ชาวต่างชาติมักเรียกว่า ‘เจ้าชายนริศ’ (Prince Naris) เสนอให้เฟโรชีปั้นหุ่นเหมือนพระองค์ เจ้าชายนริศขึ้นชื่อว่าเป็นช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม และเป็นผู้สนับสนุนศิลปะคนสำคัญของประเทศไทย ด้วยความดูแลของพระองค์ เฟโรชีสามารถสำแดงฝีมือให้เป็นที่ยอมรับของคนสยามที่ยังไม่คุ้นชินกับศิลปะแบบตะวันตก หรือ ‘ศิลปะยุคใหม่’ อย่างที่เห็นจากผลงานประติมากรรมมากมายในประเทศไทย อันนำไปสู่การก่อตั้งสถาบันการศึกษาศิลปะแห่งแรกในไทย ซึ่งภายหลังถูกตั้งให้เป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร และเฟโรชีถูกเรียกชื่อใหม่ว่า ‘อาจารย์ศิลป์ พีระศรี' ได้รับสัญชาติไทยในปี 1947
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/40wcAUfe0t5RzkuvqxA8t8/82e0be5cd27571084320fe4a131b09a0/silpa-bhirasri-biography-SPACEBAR-Photo02
Photo: มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์ศิลป์แทบไม่ได้กลับไปที่บ้านเกิดของตัวเองอีกเลย มีบันทึกว่าท่านกลับไปที่อิตาลีเพียง 2 ครั้งในรอบ 20 ปี หนึ่งในนั้นคือหลบหนีจากภัยสงคราม และตั้งใจกลับไปใช้ชีวิตที่อิตาลีต่อด้วยการทำงานเกี่ยวกับการทำเหรียญ ซึ่งภายหลังท่านขอเลือกอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากภาระหน้าที่การงาน อุดมการณ์ในการสอนศิลปะให้กับชาวไทย (และมีลูกศิษย์ที่กลายเป็นศิลปินคนสำคัญมากมาย) ทำให้ประเทศไทยได้รู้จักและเข้าถึงงานศิลปะในแบบสากลมากขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์