มูลค่าของเล่นแถมจากขนม ราคาพุ่งแสนจริง หรือแค่เป็นกระแส

6 กุมภาพันธ์ 2567 - 08:34

snack-toys-for-sale-or-for-fun-2-SPACEBAR-Hero.jpg
  • การตั้งราคาของเล่นเหล่านี้ในตลาดเป็นเพียงแค่ ‘กระแส’ สิ่งที่มีมูลค่าจริงๆ อาจต้องมีความจีรังยั่งยืน และต้องหายากเกินกว่าแค่การเจอในลังกระดาษในตู้เก็บของ

กระแสโอรีโอ้มิว (Mew Oreo) ยังไม่ทันดับมอด ดูเหมือนชาวไทยต้องกลับไปรื้อกล่องเก็บของที่บ้านกันอีกครั้ง เพราะจู่ๆ กระแส ‘ทาโซ่โปเกมอน’ ก็ผุดขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ประกาศตามหา 3 ลวดลาย (ออมสตาร์, พิชู, เอฟี) ที่อาจมีมูลค่าถึงหลักหมื่น เรียกได้ว่ากระแสใหญ่ๆ นี้ยังคงวนเวียนอยู่ที่ของเล่นที่ผูกโยงกับการ์ตูนคลาสสิกในวันวาน เกิดเป็นข้อสงสัยว่า ตามท้องตลาดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นโอรีโอ้หรือทาโซ่โปเกมอน ราคาพุ่งสูงจริงหรือเป็นเพียงกระแส หรือที่คนทุกวันนี้นิยมใช้คำว่า ‘ปั่น’

ย้อนไปที่โอรีโอ้มิวกันสักนิด โอรีโอ้มิวคือขนมโอรีโอ้ที่มีลวดลายมิว ซึ่งเป็นตัวละครที่เรียกว่า โปเกมอนมายา (Mythical Pokemon) ตามจักรวาลโปเกมมอนจัดว่าเป็นตัวโปเกมอนหายาก เมื่อปี 2021 โอรีโอ้มีการจัดทำโอรีโอ้ลายโปเกมอน โดยประกาศด้วยว่าเป็นโปเกมอนพิเศษหายาก เพื่อเชิญชวนให้คนเอามาอวดกันหากพบเจอ และหนึ่งในนั้นคือลวดลายมิว

snack-toys-for-sale-or-for-fun-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Rawipark Ketprasart /Facebook

กระแสโอรีโอ้มิวเกิดขึ้นจริงๆ ตอนที่มีคนลงขาย eBay ในราคาหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าเทียบเป็นเงินบาทไทยคือราคาหลักล้านบาทเลยทีเดียว มีการใช้หลักการในการดูสภาพเป็นจริงเป็นจังไม่ต่างจากพระเครื่อง เช่น ต้องมีกลีบครบ 74 กลีบ หรือตาของมิวต้องเท่ากัน ยิ่งสภาพดีมูลค่ายิ่งสูง แต่แล้วทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียง ‘กระแส’ เท่านั้น ทุกวันนี้หากเข้าไปใน eBay หรือตามกลุ่มขายของเล่นเก่าของไทยจะพบว่าโอรีโอ้ลายมิวมีราคาไม่ถึงหลักพันด้วยซ้ำ บางตัวขายแค่ในหลักร้อย เรื่องนี้ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะการวางราคาสูงกับวัตถุแสนธรรมดาจัดเป็นเรื่องปกติที่พบได้บนโลกโซเชียลเพื่อเรียกกระแส 

ทำไมคนยึดติดอยู่กับของเล่นในวันวาน 

จากกระแสทาโซ่โปเกมอนนั้นทำให้เราเข้าใจว่าผู้คนยังคงสลัดของเล่นในวันวานไม่หลุด บนเฟซบุ๊กเองก็มีกลุ่มมากมายที่ขายของเล่นเก่าในราคาที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่การ์ดยูกิโอ (Yugi Oh) การ์ดไอติมวอลล์ลายดราก้อนบอล ของแถมรุ่นเก่าจากงานกิจกรรม ไปจนถึงทาโซ่โปเกมอนที่แถมมากับซองขนม อย่างการ์ดยูกินั้นเป็นของเล่นวันวานที่มีมูลค่าตลอดกาล บางคนถึงขั้นเก็บใส่กรอบเพราะมีมูลค่าในตลาดจริงๆ ถึงสิบล้าน เช่น การ์ดไทเลอร์ นักรบผู้ยิ่งใหญ่ (Tyler, The Great Warrior) มีมูลค่าถึงสามแสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 11 ล้านบาทไทย)

snack-toys-for-sale-or-for-fun-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Alex Cimo

เรื่องนี้ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะมูลค่าตามท้องตลาดผูกโยงอยู่กับวันเวลาและสิ่งที่ขาดหายไปที่ไม่สามารถหาได้อีกแล้ว ของแถมหรือของเล่นเหล่านี้เป็นของที่ผลิตขึ้นมานานแล้วเกิน 10-20 ปี และไม่มีการผลิตเพิ่ม ทำให้ของเล่นเหล่านี้เป็นของหายาก ยิ่งหายากเท่าไหร่ยิ่งมีมูลค่ามากเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับผู้คนที่ให้คุณค่ากับมันด้วย เป็นทฤษฎีสัญญาทางสังคม (Social Contract) ง่ายๆ ที่ผู้คนต่างพร้อมใจกันให้สิ่งๆ หนึ่งมีคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากพันธบัตรหรือเหรียญเงิน

เป็ก-พิทักษ์พงษ์ เจียมศรีพงษ์ ศิลปินนักวาดภาพประกอบชาวไทยให้คำตอบกับเรื่องนี้ว่า “(ของเล่นราคาเฉียดแสน) สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นความจริง ทุกอย่างคือคอนเทนต์ตั้งราคาปลุกกระแส มีแต่คนโพสต์ว่ามีคนรับซื้อ แต่พอจะขายจริงๆ คนรับซื้อคือไม่มีตัวตน ไม่รู้อยู่ไหน พวกขนมอย่างโอรีโอ้ก็เหมือนกัน แต่พวกการ์ดโปเกมอนที่เมืองนอกคือขายได้ราคาจริงเพราะมันเป็นกระดาษ เก็บได้นาน” 

ทำไมคนถึงชอบสะสมของ?

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน แต่ก็ไม่ยากที่จะทำความเข้าใจว่าทำไมเราถึงมีพฤติกรรมแบบนั้น สำหรับการสะสมของก็เป็นหนึ่งในพฤติกรรมมนุษย์อันแปลกประหลาดที่ไม่สัมพันธ์อะไรใดๆ กับการเอาชีวิตรอดตามทฤษฎีวิวัฒนาการ แต่เมื่อมาคิดดูก็มีความเกี่ยวโยงกันอยู่เล็กน้อย มนุษย์ชอบสะสมเพราะอาจเป็นนิสัยเดิมที่ชอบเก็บของมีค่าเพื่อดำรงชีพ ถ้าเป็นยุคหินพวกเขาคงกักเก็บอาหาร แต่พอมาเป็นยุคนี้พวกเรากลับเก็บการ์ดยูกิ

มีหลากหลายเหตุผลที่ผู้คนชอบสะสมของ มันอาจไม่เกี่ยวกับการเก็บของเพื่อดำรงชีพอย่างเดียวเสมอไป สิ่งที่เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นคือเรา (มนุษย์) สามารถให้คุณค่าแก่งานศิลปะได้ เราชื่นชมมัน ให้คุณค่ามันเพื่อสัมพันธ์ทางใจมากกว่าทางกาย ดังนั้นแล้ว ผู้คนอาจสะสมของเพราะสิ่งของเหล่านั้นผูกโยงกับความทรงจำวัยเด็ก (วัยเด็กคือสิ่งที่คนเราโหยหา) เราอาจชื่นชมความงามของมันในแบบที่คนอื่นมองไม่เห็น และบางคนอาจสะสมเพราะต้องการเก็งกำไรในอนาคต ซึ่งเหมาะกับมนุษย์ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 ไม่น้อย ทั้งหมดล้วนเป็นรสนิยมและการให้คุณค่าแก่สิ่งของที่แตกต่างกัน และสิ่งที่เราควรทำในฐานะมนุษย์ที่เจริญแล้วคือ ‘การเคารพซึ่งกันและกัน’ ไม่ว่าใครที่เราพบเจอจะสะสมของที่ดูแปลกพิลึกพิลั่นเพียงใด

snack-toys-for-sale-or-for-fun-SPACEBAR-Photo03.jpg

เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าของชิ้นไหนก็สามารถมีมูลค่าได้ทั้งนั้นหากผู้คนหันมาให้คุณค่ากับมัน วันใดที่ปากการ็อตติ้งยกเลิกการผลิต มันอาจกลายเป็นของมีมูลค่าสูงในอีก 10 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ หรือแก้วกาแฟเนสท์เล่ที่ได้จากงานปีใหม่อาจมีราคาเป็นแสนในอีก 100 ปีข้างหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตคนจะให้ความสนใจกับสิ่งใดเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่เรารู้แน่ๆ คือมูลค่าทุกอย่างล้วนเกิดจากวันเวลาและความหายากของมันแค่นั้นเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์