โซจู เครื่องดื่มของมองโกลที่กลายเป็นของประจำชาติเกาหลี

11 สิงหาคม 2566 - 10:46

Soju-From-Mongkols-To-Korean-National-Drink-SPACEBAR-Thumbnail
  • โซจู เครื่องดื่มประจำชาติของคนเกาหลีที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวมองโกลในสมัยโครยอ กรรมวิธีการผลิตที่แปลกใหม่ที่ถูกนำเข้ามาทำให้เครื่องดื่มชนิดนี้ได้รับความนิยมและแพร่หลายไปทั่วพื้นที่

  • โซจู วอดก้า และเหล้าขาว ความแตกต่างของเครื่องดื่มแต่ละชนิดที่มีความคล้ายคลึงกันเพียงสีเท่านั้น

‘โซจู’ เครื่องดื่มยอดนิยมของผู้คนยุคใหม่ที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก ด้วยการเข้ามาของ K-Wave ที่ส่งผลต่อความสนใจของผู้คนในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ เพลง หรืออาหาร จึงทำให้ใครๆ ก็รู้จักขวดสีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องดื่มชนิดนี้ แม้จะได้รับความนิยมจากผู้คนมากมาย และได้รับการขนานนามว่า ‘เครื่องดื่มประจำชาติของคนเกาหลี’ แต่ต้นกำเนิดของโซจูกลับไม่ได้อยู่ในประเทศเกาหลีอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน 

ย้อนกลับไปเมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว ในสมัยโครยอตอนต้น คนเกาหลีนิยมดื่มเหล้าน้ำข้าวเป็นหลัก โดยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ชองจู (청주) หรือเหล้าที่มีลักษณะขาวใส เป็นเหล้าที่อยู่ด้านบนของถังหมัก เครื่องดื่มชนิดนี้จะใช่เสิร์ฟให้แก่ราชวงศ์หรือเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น ในขณะที่ทักจู (탁주) หรือเหล้าก้นถังที่มีลักษณะขุ่นจะถูกเสิร์ฟให้สามัญชนทั่วไป จนในช่วงศตวรรษที่ 14 ของอาณาจักรโครยอ ผู้รุกรานชาวมองโกลนำโดยเจงกิสข่านได้นำเทคนิคการกลั่นแบบเลวานไทน์จากอาระเบียมายังคาบสมุทรเกาหลี โดยจะใช้ข้าว หรือ ‘นูรูก’ หัวเชื้อยีสต์ธรรมชาติมาหมักผสมและกลั่นออกมาด้วยอุณหภูมิสูง เหล้าที่ได้จึงจะมีความหวาน เข้ม แต่ลื่นคอ ผู้คนจึงเริ่มนิยมดื่มโซจูและเริ่มแพร่หลายไปทั่วทุกพื้นที่ของเกาหลีในที่สุด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3CNWdK1qitKnULlKEJWXnq/3b71a323fa606dedd7a4b0cac3fbf0da/Soju-From-Mongkols-To-Korean-National-Drink-SPACEBAR-Photo_V01
Photo: Wikimedia
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5TqSwqCcz4kkauS1kW7nQw/868b6aca06eeff0e37791b911be5b3c6/Soju-From-Mongkols-To-Korean-National-Drink-SPACEBAR-Photo_V02
Photo: Wikimedia
ความชื่นชอบและความนิยมที่มีต่อโซจูดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 1910 เมื่อญี่ปุ่นทำการผนวกเกาหลีเข้าเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิแห่งแรก พวกเขาก็เริ่มกำจัดประเพณีและวิธีชีวิตต่างๆ ของคนเกาหลีออกไป พวกเขาสั่งระงับการใช้ภาษาเกาหลี บังคับให้ผู้คนเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น และพยายามกวาดล้างการผลิตโซจูในพื้นที่ต่างๆ จนทำให้สูตรนับพันของโซจูที่เคยถูกพัฒนาตามแต่ละพื้นที่หายไปและเกือบจะทำลายล้างอุตสาหกรรมนี้จนหมดสิ้น

แม้จะเจอวิกฤติครั้งใหญ่ที่กินเวลาเนินนานหลายปี แต่โซจูก็ยังคงเป็นเครื่องดื่มในความทรงจำของคนเกาหลีเสมอ ทำให้เมื่อได้รับอิสระภาพผู้คนเริ่มกลับมาผลิตโซจูกันอย่างแข็งขันอีกครั้ง ซึ่งถึงแม้จะเกิดการแบ่งประเทศเกิดขึ้น แต่โซจูก็ยังคงครองพื้นที่ในใจของผู้คนได้ทั้งฝั่งใต้และฝั่งเหนือ

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ คำว่า ‘โซจู’ (소주) สามารถแปลตรงตัวว่า ‘เหล้าไหม้’ โดยแต่เดิมหมายถึงเครื่องดื่มกลั่นที่มี ABV 35% หรือแอลกอฮอล์ตามปริมาตร อย่างไรก็ตาม ในปี 1965 รัฐบาลเกาหลีได้มีมาตรการห้ามไม่ให้กลั่นโซจูจากข้าวทำให้ผู้คนเริ่มใช้มันเทศและมันสำปะหลังมากลั่นสุราแทน เมื่อสารตั้งต้นเปลี่ยนไป ผู้คนจึงเริ่มปรับปริมาณแอลกอฮอล์ในโซจูให้น้อยลง ถึงอย่างความแรงจะน้อยลง มันก็ยังคงเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมขวัญใจนักดื่มทุกคน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4HOYOn0rl2wVHHULwACHPs/5706ec3c0b7d3d434d17012d5bb81cb2/Soju-From-Mongkols-To-Korean-National-Drink-SPACEBAR-Photo01
อย่างที่รู้กันว่ารสชาติของโซจูจะมีความขมและให้สัมผัสที่ร้อนแรง คล้ายคลึงกับวอดก้าของรัสเซีย และเหล้าขาวพื้นบ้านของไทย แต่ความจริงแล้วเหล้าทั้ง 3 นั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยโซจูมีส่วนผสมหลักเป็นแป้ง, ธัญพืช, ข้าวสาลี, มันเทศ หรือแม้กระทั่งมันสำปะหลัง และมีแอลกอฮอลล์ 20%-35% กลั่นด้วยความร้อนสูงทำให้มีรสชาติหวานอมขม ในขณะที่เหล้าขาวจะมีความขมกว่า เนื่องจากมีน้ำอ้อย น้ำตาลอ้อย หรือกากน้ำตาลอ้อยเป็นส่วนผสมหลักและมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 40% ทำให้เหล้าขาวจะมีความแรงและความแสบร้อนเวลาดื่มมากกว่า และอย่างสุดท้ายวอดก้า เครื่องดื่มที่รสชาติขมที่สุด เนื่องจากผลิตจากธัญพืชและมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ถึง 40%-95%  

นอกจากเครื่องดื่มโซจูแล้ว วัฒนธรรมการดื่มของเกาหลีก็กลายเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกจากการพบเห็นผ่านซีรีส์เกาหลีเช่นกัน โดยบนโต๊ะเหล้าของเกาหลีก็จะมีกฎเกณฑ์มากมายทั้งการห้ามรินเหล้าให้ตัวเอง การต้องป้องปากดื่มและการชนแก้วต่ำกว่าผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากนี้โซจูและการดื่มยังเป็นภาพสะท้อนลักษณะนิสัยของคนเกาหลีได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2017 คนเกาหลีใต้ดื่มโซจูไปถึง 3.6 ล้านล้านขวด หรือประมาณ 86 ขวด/ คน/ ปี สะท้อนให้เห็นภาพความความเครียดของผู้คนที่ใช้เหล้าเป็นที่ระบาย และการชื่นชอบการสังสรรค์อีกด้วย ว่าแล้วก็อยากกรึ๊บสักแก้ว... 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์