Space Review: The Whale เมื่อศรัทธาคือความหวังของชีวิต

20 กุมภาพันธ์ 2567 - 05:08

EDIT-space-review-the-whale-SPACEBAR-Thumbnail
  • รีวิว (เกือบ) หมดเปลือกหลังจากชมเรื่อง The Whale หนังน้ำดีจากผู้กำกับเรื่อง Black Swan และ Mother! กับการกลับมาของ เบรนแดน เฟรเซอร์ และฝีมือการแสดงเปี่ยมคุณภาพของเขา

เกิดเสียงฮือฮากันตั้งแต่หนังเรื่อง The Whale ยังไม่ทันเข้าโรงภาพยนตร์ แต่หลังจากที่ฉายรอบปฐมทัศน์ให้กับบรรดาสื่อต่างๆ รวมถึงนักวิจารณ์ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิซ ก็มีเสียงฮือฮามากขึ้นไปอีกถึงการแสดงของ เบรนแดน เฟรเซอร์ (Brendan Fraser) ที่เรียกได้ว่าเป็นการหวนคืนสู่วงการภาพยนตร์อย่างมีคุณภาพอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากที่ผมได้เข้าไปชมจริงๆ ก็คงพูดได้เต็มปากว่าไม่เป็นการกล่าวเกินจริง 
 
The Whale เป็นผลงานกำกับโดย ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (Darren Aronofsky) ผู้กำกับน้ำดีจากเรื่อง Mother! และ Black Swan โดยอิงเนื้อหาจากบทละครบรอดเวย์ในชื่อเดียวกันของ แซมมวล ดี. ฮันเตอร์ (Samuel D. Hunter) เกี่ยวกับ ชาร์ลี อาจารย์สอนวิชาการเขียนที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคอ้วน (Obesity) กับความหวังครั้งสุดท้ายที่อยากกลับมาสานสัมพันธ์กับลูกสาวอีกครั้ง 
 
หลังจากผมได้เข้าไปชมเรื่อง The Whale นอกจากน้ำตาที่หลั่งรินอยู่เป็นช่วงๆ ก็มีประเด็นและเรื่องราวมากมายที่อยากกล่าวถึง ทั้งในแง่ของการจัดฉาก การกำกับ การแสดงของนักแสดง ไปจนถึงนัยยะเกี่ยวกับศาสนาที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อ The Whale ไม่ได้เป็นแค่เรื่องราวของคนที่ดิ้นรนกับโรคอ้วน แต่มันสามารถถ่ายทอดภาวะอารมณ์ของความเป็นมนุษย์ได้อย่างงดงาม และน่าเศร้าใจในเวลาเดียวกัน 
 

*เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์* 

 

เพราะมันคือละคร 

ถ้าใครเป็นเด็กเรียนละคร ต่อให้ไม่รู้จักบทละคร The Whale ก็มองออกว่ามันคือการสร้างฉากหนังอิงจากฉากบนละครเวที ซึ่งตัวบท The Whale เป็นผลงานของ แซมมวล ดี. ฮันเตอร์ ที่ได้รับรางวัล Drama Desk Award ในปี 2013 และรางวัล Lucille Lortel Award ในปี 2013 สำหรับบทละครยอดเยี่ยม  
 
สำหรับการทำออกมาเป็นภาพยนตร์ไม่แปลกใจที่อาโรนอฟสกี้จะกำกับออกมาได้ดี เพราะสมัยที่เรียนภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เขาเคยกำกับละครมาหลายเรื่อง รวมถึงจัดฉากกับมิวสิกคัลคาบาเล่ต์ พอหันมาทำหนังบ้าง เขาก็ไม่ลืมที่จะใส่องค์ประกอบความเป็นละครอย่างที่เห็นในเรื่อง Black Swan และ Mother!  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3R5ZsZ9LAgvg4tZBbD1koU/1d459c01f140da74e6bcd5580e29c870/EDIT-space-review-the-whale-SPACEBAR-Photo01
Photo: The Whale ฉบับละครเวที
ใน The Whale ฉบับภาพยนตร์มีการจัดฉากเหมือนละครเกือบทุกประการ หากเทียบกับการแสดงละครจริงๆ เก้าอี้โซฟาวางอยู่กลางฉาก ข้างหลังเป็นโต๊ะทำงาน เคาท์เตอร์ และห้องครัว ถัดมาเป็นโถงทางเข้าไปห้องอื่นๆ รวมถึงชั้นหนังสือขนาดใหญ่ ซึ่งตลอดระยะเวลาร่วมเกือบสองชั่วโมงของหนังเป็นการดำเนินเรื่องภายในห้องนั่งเล่นของชาร์ลีโดยทั้งสิ้นตั้งแต่เริ่มจนจบ อาจมีฉากที่เห็นโลกภายนอกบ้างเพียงเล็กน้อย แต่การดำเนินหนังเช่นนี้สามารถสร้างมวลอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในห้องนั่งเล่นได้ หรืออย่างน้อยเป็นการเข้าใจถึงความอึดอัดของตัวละครที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนได้  
 
ถ้าเทียบเรื่องมวลอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจอภาพยนตร์กับความเป็นละคร ผมพูดตรงๆ ว่าการทำเป็นหนังทำให้ผู้ชมรู้สึกเอ่อล้นไปด้วยความตึงเครียดมากกว่า ด้วยมุมกล้องที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ตัวละครได้ชัดเจนกว่าด้วยการซูมหน้าโคลสอัพ บวกกับระยะเวลาของหนังที่ต้องดึงผู้ชม ภาพรวมของหนังจึงมีความตึงเครียดในทุกฉากทุกอารมณ์อย่างไม่เว้นให้หายใจ นอกจากนี้อาโรนอฟสกี้ไม่ลืมที่จะใช้แสงสื่ออารมณ์ในบางช่วงของหนัง เช่น ฉากการปรากฎตัวของเอลลี (ลูกสาวของชาร์ลี) ที่เล่นกับแสงที่เล็ดลอดออกจากประตูห้อง หรือในตอนจบของเรื่อง ซึ่งผมจะมาพูดเรื่องนี้ต่อในส่วนท้ายของบทความ  
 

การแสดงที่น่าชื่นชมของเฟรเซอร์ 

เบรนแดน เฟรเซอร์ ถือว่าเป็นไฮไลท์ของหนังเรื่องนี้ อาจจะด้วยบทตัวละครที่จำเป็นต้องนำไปตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ากดดันไม่น้อย แต่เฟรเซอร์ก็ทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยมจริงๆ ส่วนตัวผมรู้สึกว่าการที่รับรู้ภูมิหลังเกี่ยวกับเฟรเซอร์ก่อนที่เขาจะหวนคืนกลับมา ยิ่งทำให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจกับตัวละครชาร์ลีมากขึ้น ในแง่ของความโดดเดี่ยวของชาร์ลีนั้นไม่ต่างอะไรกับเฟรเซอร์ ผมคงคิดไปเองว่าเฟรเซอร์ได้หยิบยกความเป็นตัวเองใส่เข้ามาในเรื่อง ตัวละครชาร์ลีเลยถูกแสดงออกมาด้วยความมีมิติ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6YzYXf4fk8LPoSF8ASvAGq/517d058f53e040f736ec2143b405df8a/EDIT-space-review-the-whale-SPACEBAR-Photo02
Photo: A24
ถ้าเป็นเรื่องการแสดงของเฟรเซอร์ที่ผมอยากพูดถึงคงเป็นฉากการกินอย่างมูมมามของชาร์ลีในช่วงต้นเรื่อง หลังจากที่ลิซ (เพื่อนพยาบาลที่คอยดูแลชาร์ลี) คอยช่วยจัดแจงห้องให้เรียบร้อย ลิซกับชาร์ลีนั่งบนโซฟาดูโทรทัศน์กันไปสักพัก จากนั้นชาร์ลีทำลายความเงียบด้วยการบอกว่า “ลิซ ได้โปรดเถอะ” ลิซ (ที่มีสีหน้าบึ้งตึง) เดินไปหยิบบักเกตไก่ทอดบนเคาท์เตอร์มาให้ชาร์ลี ชาร์ลีหยิบไก่ออกมากินด้วยความหิวโซ  
 
บางคนอาจรู้สึกว่ามันเป็นเหตุการณ์ปกติที่ชาร์ลีจะเป็นแบบนั้น คนอ้วนหิวเป็นเรื่องธรรมดาที่จะหิวมากเป็นพิเศษ แต่เท่าที่ผมสังเกต ชาร์ลีไม่ได้มีความสุขกับการกินขนาดนั้น มันไม่ใช้การกินเหมือนที่เราเห็นวิดีโอม็อกบังที่มีการกินอาหารต่อหน้ากล้องด้วยความเอร็ดอร่อย จริงๆ แล้วชาร์ลีกินไก่ทอดเพราะมันเป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ มากกว่า และเป็นการกินที่ “ฉันต้องกินมัน เพื่อที่ความหิวโซอันเกิดจากโรคอ้วนจะได้หยุดระรานเสียที” สีหน้าของชาร์ลีนั้นเรียบเฉยค่อนไปทางเบื่อหน่าย ซึ่งเฟรเซอร์สามารถถ่ายทอดอารมณ์เหล่านั้นออกมาได้ดี  
 

ความผิดชอบชั่วดีกับศาสนา 

The Whale สามารถถากถางเรื่องศาสนาได้อย่างแสบสัน ภายในเรื่องถูกอิงชื่อเป็น นิวไลฟ์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับลัทธิ หรือนิกาย ของศาสนาคริสต์ เรื่องศาสนาที่ปรากฎใน The Whale นั้นมีอยู่หลายประเด็น ประเด็นแรกคือการเสียดสีว่านิวไลฟ์เป็นลัทธิหลอกลวงโลกที่หลอกเอาเงินจากศรัทธาของคน ซึ่งปัจจุบันเราจะพบเห็นเรื่องราวแบบนี้ได้ทั่วโลก ประเด็นต่อมาคือนิวไลฟ์ หรือศาสนาคริสต์ ที่วิพากษ์วิจารณ์โดย ลิซ ที่ไม่ใช่คนขาว กับชาร์ลี ผู้ซึ่งศึกษาพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้ง (อาจเป็นเพราะพื้นที่เป็นอาจารย์สอนวรรณกรรม และการเขียน) และเป็นเกย์ อีกทั้งยังมีคู่ชีวิตที่เป็นอดีตผู้ศรัทธานิวไลฟ์ (อลัน) ตัวละครที่วิพากษ์นิวไลฟ์ล้วนเป็นสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกับศาสนาคริสต์ (ที่มีประวัติกับ LGBTQ+ และผู้เผยแพร่ศรัทธาล้วนเป็นคนขาว) และเหมือนตีแผ่ผ่านบทพูดให้ผู้ชมเห็นความจริงของศาสนาในโลกปัจจุบัน  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/79CVUjLLzoFanjn4ki305f/dd5502fd1660b9d57cda2dc07b6cfbb1/EDIT-space-review-the-whale-SPACEBAR-Photo03
Photo: A24
โทมัส มิชชันนารีนิวไลฟ์ผู้หลบหนีการกระทำผิดเชื่อว่าการที่ชาร์ลีได้เจอเขาคือแผนของพระเจ้า พระเจ้าสื่อสารผ่านตัวเขาให้มาช่วยเหลือชาร์ลี แต่แล้วเหตุการณ์กลับตาลปัตร โทมัสกลับกลายเป็นผู้ถูกช่วยเหลือโดยชาร์ลีจากการที่เขาไปเจอข้อความบนหนังสือไบเบิ้ลของอลัน จากตอนแรกที่เขาคิดว่าเขาเป็นผู้ช่วย เขากลับพูดออกมาว่าพระเจ้าประสงค์ให้เขามาเจอชาร์ลีเพื่อรับคำสอนสำคัญ และในท้ายที่สุดจากคนที่เอ่ยปากช่วยชาร์ลี โทมัสกลับบรรดาลโทสะด้วยการบอกชาร์ลีว่าเขาเป็นคน ‘น่ารังเกียจ’ และตักตวงสิ่งที่ตัวเองได้ด้วยการกลับบ้านไปหาครอบครัวที่ให้อภัยเขา  
 

เดินตามรอย Moby-Dick 

ในตอนแรกเริ่มที่ชาร์ลีเกือบหัวใจล้มเหลว โทมัสปรากฎตัวพร้อมกับการอ่านงานเรียงความจากการร้องขอของชาร์ลีอย่างงุนงง เรียงความที่ว่านี้เป็นการรีวิวนิยายชื่อดังเรื่อง Moby-Dick ผลงานชิ้นสำคัญของ เฮอแมน เมลวิลล์ (Herman Melville) ว่าด้วยชายที่ออกไปล่าปลาวาฬ ซึ่งระหว่างการล่าปลาวาฬ นวนิยายยังพาเราหลงเข้าไปในบทสนทนาของตัวละครทั้งในเรื่องความดี ความชั่ว และการมีอยู่ของพระเจ้า รวมถึงห้วงอารมณ์ของความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ The Whale สามารถหยิบยืมแนวคิดหลักๆ ของ Moby-Dick มาได้ อย่างน้อยคือเรื่องความดีความชั่ว 
 
ชาร์ลีเปรียบได้กับวาฬในตำนาน และตัวละครในนวนิยายชื่อคีเคก ซึ่งอิชมาเอล ตัวเอกของเรื่องรู้สึกไม่วางใจเพราะรอยสักบนตัวของคีเคก แต่ภายหลังอิชมาเอลรู้ว่าคีเคกคือคนที่มีจิตใจงาม ไม่ต่างจากชาร์ลีที่บางคนอาจมองเขาด้วยความรังเกียจจริงๆ แต่จิตใจของเขางดงามยิ่ง เรียงความว่าด้วยเรื่อง Mody-Dick ยังสะท้อนความน่าสงสารของวาฬ ขณะเดียวกันก็สะท้อนความน่าสงสารของตัวชาร์ลีด้วยเช่นกัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2h7c3xfNWr0eGxsFoqVbRg/781069554007c6c129de6ba8ca6e9b32/EDIT-space-review-the-whale-SPACEBAR-Photo04
Photo: Amazon
“ทั้งชีวิตของเขา (เอแฮป) พยายามหมายปองชีวิตของวาฬตัวนั้น (Moby-Dick) ฉันว่ามันเศร้าเพราะวาฬตัวนี้ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก และไม่รู้ว่าเอแฮปอยากจะฆ่ามันมากแค่ไหน เขาเป็นแค่สัตว์ตัวใหญ่ที่น่าสงสาร และฉันรู้สึกเศร้าแทนเอแฮปเหมือนกัน เพราะเขาคิดว่าชีวิตเขาจะดีขึ้นหากเขาสามารถฆ่าวาฬตัวนี้ได้ แต่ในความเป็นจริง มันไม่ช่วยเขาเลยแม้แต่น้อย” 
 
ชาร์ลีท่องเรียงความดังกล่าวตลอดฉากที่ตนลุกจากโซฟาไปยังที่นอน ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงตัวเขา ชาร์ลีคือสัตว์ตัวใหญ่ที่น่าสงสาร จิตใจของเขาเป็นเหมือนเอแฮป และเขาเชื่อว่าต่อให้เขาขจัดโรคภัย หรือทำให้ตัวเองตายไปก็ไม่มีความหมายอะไรต่อเขามากนัก 
 
“หนังสือเล่มนี้ทำให้ฉันนึกถึงชีวิตของตัวเอง” อันเป็นประโยคสุดท้ายที่เขาท่องด้วยเสียงที่เศร้าสร้อยก่อนเข้าสู่นิทรา 
 

ศรัทธา และความหวังไม่จำเป็นต้องพึ่งศาสนา 

เอลลี ลูกสาวของชาร์ลีที่ห่างหายไปนานหลายปี กลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้องของชาร์ลี หวังเพื่อกลับมาสานสัมพันธ์กันอีกครั้ง เราไม่มีทางรู้นิสัยใจคอที่แท้จริงของเอลลีได้ เพราะหนังพยายามหลอกล่อเราด้วยการนำแม่ของเธอเข้ามาพูดความจริงว่า เอลลีเป็นนั้นร้ายกว่าที่คิด และเป็นดั่งมาร ในขณะที่ชาร์ลี ผู้มองโลกในแง่ดีเสมอกล่าวเสมอว่า เอลลีนั้น ‘ช่างน่าทึ่ง’ แต่ที่แน่ๆ เธอเป็นความหวังทั้งหมดทั้งมวลสำหรับชาร์ลี และนี่คือสิ่งที่ทำให้ครอบครัวเขาแตกสลาย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5ZYivT9PHHbuFvzXOH8T57/373318520b51d4651a74b4ba954bdefd/EDIT-space-review-the-whale-SPACEBAR-Photo05
Photo: A24
ชาร์ลีแท้จริงเป็นคนเห็นแก่ตัว เขาทิ้งลูกวัย 8 ขวบ กับภรรยา เพื่อไปหาแฟนหนุ่ม และตลอดระยะเวลาที่หายไปสิ่งที่เขาถามไถ่กับภรรยาเก่าคือเรื่องลูกสาวตัวเอง เขาไม่เคยถามภรรยาเก่าว่าเธอเป็นอย่างไรบ้างสักนิด เช่นเดียวกันกับลิซ ชาร์ลีไม่เกรงกลัวเรื่องความตาย เขาไม่ยอมเข้าโรงพยาบาล แต่ก็มักพูดขอโทษกับลิซเสมอสำหรับภาระที่เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนก่อ เขาไม่ได้รู้สึกรู้สึกสาต่อความรู้สึกของผู้อื่นอย่างลิซว่าจะเธอจะเป็นอย่างไรหลังจากที่เขาตาย เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าบางทีการเห็นอกเห็นใจคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญแม้ตัวเองจะทนทุกข์ การทนทุกข์ของเราไม่ได้หมายความว่าจะไม่กระทบกับชีวิตคนอื่นๆ อย่างกรณีของชาร์ลี การหมางเมินความเป็นอยู่ของภรรยาเก่าทำให้เขา “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเธอ (ภรรยาเก่า) และลูกสาว” ตลอดหลายปี
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/uxSVvWZBF8WsRMII9yYcM/55657cc8be1b71c973e5a008547c3109/EDIT-space-review-the-whale-SPACEBAR-Photo06
Photo: A24
ในตอนท้ายของเรื่อง เราจะเห็นความหวังที่ลุกโชนของชาร์ลี The Whale ทำให้เรารู้ว่าศรัทธาไม่จำเป็นต้องมาจากศาสนา แต่อาจเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจชีวิตต่อไป สำหรับชาร์ลีแล้วมันคือลูกสาวของเขา กับเรียงความแสนวิเศษเกี่ยวกับวาฬในตำนาน ซึ่งการดำเนินเรื่องผมว่ามันวิเศษมากตรงที่ทีแรกชาร์ลีท่องเรียงความด้วยความสิ้นหวัง ในตอนจบเขากลับฟังมันด้วยใจที่มุ่งมั่น แสงที่สาดส่องจากบานประตูสื่ออารมณ์แห่งความหวัง กับความหวัง (เอลลี) ที่ยืนระหว่างประตู อ่านเรียงความของตัวเองด้วยเสียงที่หนักแน่น ชาร์ลีพยายามลุกขึ้นมาจากโซฟาโดยปราศจากไม้ค้ำ แววตาแห่งความหวังปรากฎอยู่บนหน้า เขาค่อยๆ ก้าวขาอันหนักหน่วงไปข้างหน้าทีละก้าว จนกระทั่งยืนอยู่เบื้องหน้าลูกสาวของเขา จากนั้นแสงสว่างวาบจากข้างบนก็สาดส่องลงมาบนตัวชาร์ลี ทุกอย่างจบโดยสมบูรณ์ 
 
แน่ล่ะว่าผมรู้สึกปรับอารมณ์ไม่ทันเพราะมันช่างจบไวเสียเหลือเกินอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นการจบที่วิเศษมาก ชาร์ลีรู้สึกเหมือนล่วงรู้ เข้าถึงอะไรบางอย่าง และอาบแสงแห่งความหวังเข้าไปเต็มๆ เขารู้สึกเหมือนตัวเองได้ออกไปจากห้องนั้น เป็นความรู้สึกเดียวกับที่เขาเคยได้รับเมื่อตอนไปทะเลเมื่อหลายปีก่อน ถ้าผู้กำกับต้องการเล่นกับศาสนาจริงๆ ผมก็คงจะเชื่อมโยงว่าการเข้าถึงสิ่งสูดสุดของชีวิตจริงๆ ไม่จำเป็นต้องพึ่งศาสนา แต่ขอให้เรามีศรัทธากับอะไรบางอย่างก็เพียงพอจะให้ชีวิตๆ หนึ่งมีความหมายต่อไป 
 
ผมชอบตอนจบเพราะชาร์ลีเหมือน overcome (ก้าวข้าม) กับเรื่องอะไรบางอย่างที่ส่งผลสาหัสต่อชีวิตเขา อย่างที่เห็นตอนที่เขายินดีเผยใบหน้ากับนักเรียน (ที่ไม่เคยเห็นอาจารย์ของเขาเลย) ได้เห็นกัน และผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม เขาแทบจะไม่สนใจมัน มันเป็นบทสรุปที่ยอดเยี่ยม ผมเชื่อว่าชีวิตชาร์ลีต่อจากนั้นมันคงดีขึ้นมากๆ ผมหวังว่านะ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Lx9Svu3ZTitNrFIMfXBAu/f18477ca2d0090a4f22a0882bc747b5d/EDIT-space-review-the-whale-SPACEBAR-Photo07
Photo: A24

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์