รู้จัก ‘ปลาอานนท์’ จำเลยความเชื่อ เมื่อเกิดแผ่นดินไหว

28 มี.ค. 2568 - 11:04

    spacebar สเปซบาร์, ปลาอานนท์, แผ่นดินไหว, ชาดก, สุนทรภู่, พระอภัยมณี, รามเกียรติ์

    เวลาเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว คนที่นับถือพระพุทธศาสนาและอ่านชาดกเยอะๆ จะชอบพูดว่าเป็นเพราะ ‘ปลาอานนท์’ พลิกตัว ปลาอานนท์จึงเป็นจำเลยทุกครั้งที่เกิดเหตุ แม้จะเป็นเรื่องเปรียบเปรย แต่ก็น่าหาความรู้

    ‘ปลาอานนท์’ คือใคร เกี่ยวอะไรกับแผ่นดินไหว?

    spacebar สเปซบาร์, ปลาอานนท์, แผ่นดินไหว, ชาดก, สุนทรภู่, พระอภัยมณี, รามเกียรติ์
    Photo: ปลาอานนท์ ภาพวาดโดย จิตรกร ฟูใจ. HOLEOFART.com

    อดีตกาลล่วงมาแล้วมีปลาใหญ่ (ยักษ์) 6 ตัวอยู่ในมหาสมุทร คือ ปลาอานนท์, ปลาอุปนนท์, ปลาอัชโชหาละ ทั้ง 3 นี้กายยาวตัวละ 500 โยชน์ (8,000 กิโลเมตร) อีก 3 ตัวคือ ปลาติมิงคละ, ปลาติมิระมิงคละ, ปลามหาติมิระมิงคละ ทั้ง 3 นี้กายยาวตัวละ 1,000 โยชน์ (16,000 กิโลเมตร)

    ปลาทั้ง 6 ตัวกินหินและสาหร่ายเป็นอาหาร ปลาอานนท์อยู่ในจุดหนึ่งของมหาสมุทร มีพวกปลาเข้าไปหาเป็นอันมาก

    วันหนึ่งปลาทั้งหลายจึงคิดกันว่า “พวกสัตว์ 2 เท้า 4 เท้าทุกเหล่าย่อมมีราชา (2 เท้า คือ นก มีราชาคือ หงส์ทองธตรัฐ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ขณะที่ 4 เท้า คือ สัตว์บกทั่วไป มีพวก มฤค เป็นต้น มีราชาคือ ไกรสรราชสีห์) แต่พวกเราไม่มีราชาจึงควรยกปลาอานนท์ขึ้นเป็นราชา”

    spacebar สเปซบาร์, ปลาอานนท์, แผ่นดินไหว, ชาดก, สุนทรภู่, พระอภัยมณี, รามเกียรติ์
    Photo: ปลาอานนท์

    เมื่อคิดและมีมติเป็นเอกฉันท์แล้วจึงยกปลาอานนท์ขึ้นเป็นพญาแล้วพากันไปเฝ้าทุกเวลาเช้าเย็น

    วันหนึ่งปลาอานนท์กินก้อนหินและสาหร่ายอยู่ในภูเขา (ก้นทะเล) มีปลาตัวหนึ่งหลุดเข้าไปในปาก รู้สึกมีรสอร่อยมากจึงคายออกมาดูก็รู้ว่าเป็นเนื้อปลา จึงคิดว่า “เราอยู่มาตั้งนานไม่รู้จักกินของอร่อยเราควรหาอุบายกินปลาต่อไป”

    ตั้งแต่นั้นมาจึงจับปลากินวันละ 2 ตัว เช้า-เย็นจนคิดว่าถ้าพวกปลารู้เข้าจะแตกหนีหมด จึงทำอย่างระมัดระวังจักกินปลาตัวที่ย่อคำนับแล้วกลับทีหลังปลาอื่น จากนั้นจึงทำตามที่คิดนั้นจนปลาทั้งหลายหมดไปโดยลำดับ กาลผ่านไปฝูงปลาเริ่มเกิดสงสัยไต่ถามกันไปมาว่าพวกเราหายไปไหนหนอจึงน้อยลงๆ เช่นนี้

    มีปลาฉลาดตัวหนึ่งเกิดสงสัยปลาอานนท์จึงไปแอบอยู่ที่หูพญาปลาอานนท์ เมื่อเห็นหมู่ปลาที่ไปเฝ้าคำนับกลับแล้วเห็นปลาอานนท์จับปลาตัวหลังสุดกินเสีย ปลาฉลาดนั้นจึงไปบอกฝูงปลา ปลาทั้งหลายจึงพากันแตกหนีไปสิ้น

    เมื่อปลาอานนท์ไม่พบฝูงปลาก็เที่ยวตามหาจนไปพบภูเขาลูกหนึ่งจึงคิดว่าพวกปลาคงมาอาศัยอยู่ในภูเขานี้

    “เราจักโอบภูเขานี้”

    แล้วจึงโอบภูเขาเข้าด้วยหางและศีรษะ แต่พอเห็นหางตัวเองก็โกรธคิดว่าพวกปลาหลอกตน จึงฮุบหางตัวเองถึง 50 โยชน์แล้วเกิดทุกขเวทนามีเลือดนองไปตามมหาสมุทรถึงแก่ความตายในที่สุด

    spacebar สเปซบาร์, ปลาอานนท์, แผ่นดินไหว, ชาดก, สุนทรภู่, พระอภัยมณี, รามเกียรติ์
    Photo: ปลาอานนท์โอบภูเขาไล่ฮุบหางตัวเอง

    เรื่องปลาอานนท์กับแผ่นดินไหวมาจากตำนานการหนุนโลกในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกสิบขุนสิบรถ ซึ่งสุนทรภู่เป็นคนช่วยแต่งต่อในวรรคหนึ่ง กล่าวโดยย่อคือ...

    “นทีตีฟองนองระลอก

    คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น

    สุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน

    อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน”

    หรือไม่เช่นนั้น ที่มาก็อาจมาจาก “บทอัศจรรย์” หรือฉากเลิฟซีนระหว่างศรีสุวรรณกับนางเกษรา ในเรื่อง พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ ที่ว่า...

    “ดังกำลังมังกรสำแดงฤทธิ์

    ให้มืดมิดกลางทะเลแลเวหา

    ลงเล่นน้ำดำดึ่งถึงสุธา

    สะท้านกระทั่งหลังปลาอานนท์นอน

    ปลากระดิกพลิกครีบทวีปไหว

    เมรุไกรโยกยอดจะถอดถอน

    มัตติมิงกลิ้งเล่นชโลทร

    คงคาคลอนคลื่นคลั่งฝั่งสินธู”

    เรื่องนี้ทำให้ถูกตีความและขยายความจนกลายเป็นความเชื่อว่า ปลาอานนท์นอนหนุนโลกและพลิกตัวจนเกิดแผ่นดินไหว และเป็นความเชื่อที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

    นี่คือเหตุที่มาของคำ

    “แผ่นดินไหว เพราะปลาอานนท์ พลิกตัว”

    ทั้งหมดเป็นชาดก ตำนาน เรื่องเล่า และความเชื่อ แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของรอยเลื่อนนั่นต่างหาก

    เรื่องเด่นประจำสัปดาห์