ท่าเตียน จากชุมชนค้าขาย สู่ย่านธุรกิจบริการ

10 มีนาคม 2567 - 10:00

Tha-Tien-Story_-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ท่าเตียน อดีตตลาดสำคัญของกรุงเทพมหานครกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

  • ขอพาไปทบทวนความทรงจำกันอีกสักครั้งก่อนที่จะเปลี่ยนไปมากกว่านี้

ท่าเตียน อดีตตลาดสำคัญของกรุงเทพมหานครกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล จึงขอพาไปทบทวนความทรงจำกันอีกสักครั้งก่อนที่จะเปลี่ยนไปมากกว่านี้ หลายคนมีความทรงจำกับท่าเตียนแตกต่างกันออกไป บางคนเคยไปรับประทานอาหารร้านประจำกับครอบครัว มีร้านขายของแห้งที่เคยมาซื้อกับอาม่า เป็นแม้กระทั่งร้านร่ำสุราที่เคยมากับเพื่อน ท่าเตียนในอดีตล้วนมีความทรงจำหลายอย่างที่ชวนให้นึกถึง

Tha-Tien-Story_-SPACEBAR-Photo03.jpg

พื้นที่ท่าเตียนถูกพัฒนาให้เป็นตึกร้านค้าในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2450 โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมของท่าเตียนมีลักษณะเป็นอาคารตึกล้อมตลาด ท่าเตียนเป็นย่านการค้าสำคัญมาอย่างยาวนาน พ.ศ. 2470 มีการสร้างตึกแถวริมน้ำในรูปแบบ Art Deco เพื่อให้เช่าทำการค้า ต่อมาปี พ.ศ. 2510 เกิดไฟไหม้ตลาดมรกฎ ทำให้เราได้เห็นว่าท่าเตียนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทั้งเพราะเวลาเปลี่ยน บริบทเปลี่ยนจึงทำให้การใช้ประโยชน์จากพื้นที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

Tha-Tien-Story_-SPACEBAR-Photo04.jpg
Tha-Tien-Story_-SPACEBAR-Photo05.jpg

ตลาดท่าเตียน คือ ตลาดใหญ่ เพราะเป็นจุดที่เรือสินค้า ผักผลไม้มาจากต่างจังหวัด เป็นฮับของการขนส่ง มีเรือเขียว เรือแดง วิ่งไปหลายจังหวัด ในอดีตตลาดท่าเตียนใหญ่เป็นที่อ้างอิงราคาสินค้าวันนี้ เพราะเป็นที่ตั้งของกรมการค้าภายใน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งความนิยมของการขนส่งทางรถ การย้ายออกของพ่อค้าแม่ค้าไปยังปากคลองตลาด การย้ายกรมการค้าภายใน ทำให้พื้นที่ท่าเตียนไม่ได้ถูกใช้งานทางการค้าที่เป็นตลาดเหมือนเดิม โดยกลายเป็นย่านที่พักอาศัยราคาประหยัด เป็นที่พักราคาถูกแทน ตึกแถวที่เคยใช้เป็นพื้นที่ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าถูกแบ่งเป็นห้องเช่าขนาดเล็กนับสิบห้อง ในราคาค่าเช่าห้อง 100–500 บาทต่อเดือน 

ต่อมา พ.ศ. 2525 มีการวางแนวทางในการอนุรักษ์พื้นที่ในเกาะเมืองรัตนโกสินทร์ ออกกฎหมายควบคุมอาคารและที่พักอาศัยการใช้พื้นที่ท่าเตียนเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง มีการมาถึงของมิวเซียมสยาม ทำให้มีการเริ่มมองท่าเตียนว่าควรจะเป็น Living Museum เมื่อเวลาผ่านไป การท่องเที่ยวได้รับการส่งเสริม ท่าเตียนที่อยู่ตรงข้ามกับแลนด์มาร์กสำคัญอย่าง พระปรางค์วัดอรุณฯ ทำให้ท่าเตียนถูกพัฒนารองรับการท่องเที่ยว ส่งผลให้ผู้คนมาที่นี่เพื่อหามุมมองใหม่ๆ สวยๆ มากขึ้น

Tha-Tien-Story_-SPACEBAR-Photo06.jpg

จนมาถึงปี พ.ศ. 2542 ผู้คนในท่าเตียนเริ่มมีการขายตึกและย้ายออก ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2548 จะเริ่มมีแนวคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ท่าเตียนอีกครั้งให้กลายเป็นย่านของการท่องเที่ยว พักผ่อน ชมวิว นั่งชิล ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ท่าเตียนจึงเริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณริมน้ำที่มองเห็นพระอาทิตย์ตกดินที่พระปรางค์วัดอรุณฯ โดยว่ากันว่าราคาต่อยูนิตอยู่ที่ 30 ล้านบาท ส่วนค่าเช่าอยู่ที่ 150,000 บาทต่อเดือน 

สุดท้าย ท่าเตียน ก็คงจะไม่เหี้ยนเตียนในความเปลี่ยนแปลง แต่คงเปลี่ยนไปจากภาพร้านค้าที่เห็นจนชินตาเป็นร้านอาหาร โรงแรม แหล่งพักผ่อนยามเย็น และยังคงเป็นย่านที่มีความทรงจำทั้งเก่าและใหม่ Sense of Place ในการเปลี่ยนไปสู่ย่านบริการการท่องเที่ยว ผู้คนมาที่นี่ไม่ได้หวังที่จะได้อิ่มท้องอย่างเดียว แต่หวังจะได้อิ่มใจ ได้ความทรงจำดีๆ และภาพสวยๆ จาก ท่าเตียนกลับไปด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์