คุณปู่ถูกใจ คุณย่ากดไลก์ !! รวมภาพยนตร์ไทยสุดคลาสสิค ที่หาชมได้ในเน็ตฟลิกซ์

22 ต.ค. 2566 - 10:00

  • เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์อันล้ำค่า พร้อมกับสำรวจสภาวะสังคมไทยในอดีตที่ถูกบันทึกและถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม กับบรรดาภาพยนตร์ไทยย้อนยุค ที่หวนกลับมาฉายซ้ำให้เราได้ดูกันอีกครั้งบนจออิเล็กทรอนิกส์

Thai-Classic-Movies-SPACEBAR-Hero.jpg
Thai-Classic-Movies-SPACEBAR-Photo01.jpg

Taxi Driver (Citizen I) – “ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น” (2520)

ภาพยนตร์ขึ้นหิ้งจากผู้กำกับไทยระดับตำนานอย่าง หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือที่เรารู้จักกันในนาม “ท่านมุ้ย” เล่าเรื่องราวของ “ทองพูน” จตุพล ภูอภิรมย์ หนุ่มบ้านนอกชนชั้นแรงงานที่หอบลูกชายวัย 5 ขวบ ดิ้นรนเพื่อมาหาหนทางรอดด้วยการขับแท๊กซี่ในกรุงเทพ แต่ไม่นานเครื่องมือหากินอย่างรถแท๊กซี่ก็ถูกมาปล้นเอาไป ซึ่งโดยรวมตัวภาพยนตร์ก็ทำหน้าที่บันทึกห้วงเวลาของเมืองหลวงในยุคนั้นและถ่ายทอดออกมาได้อย่างปราณีต ทำให้ได้รู้ว่า แม้ปัจจุบันหลายอย่างจะแปรเปลี่ยนไป แต่บางอย่างก็ยังคงอยู่ ทั้งปัญหาโลกแตกอย่างรถติด ความเน่าเฟะของระบบราชการ ไปจนถึงความโหดร้ายของระบบเศรษฐกิจที่บดขยี้และกดขี่คนจนมาช้านาน

Thai-Classic-Movies-SPACEBAR-Photo02.jpg

Butterfly and Flowers - “ผีเสื้อและดอกไม้” (2528)

ผลงานชิ้นเอกของ ยุทธนา มุกดาสนิท สร้างจากบทประพันธ์ชื่อเดียวกันของนิพพานฯ (มกุฏ อรฤดี) เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของจังหวัดชายแดนใต้ ความยากลำบากของคนชายขอบ ว่าด้วยเด็กๆ ในแก๊ง “กองทัพมด” ที่มีหน้าที่ลักลอบขนข้าวสารและน้ำตาลทราย ไปขายตามชายแดนประเทศมาเลเซียเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือครอบครัวที่ยากลำบาก โดดเด่นในด้านสุนทรียะทางภาพยนตร์ที่งดงามไปเสียหมดทั้งภาพ งานสร้าง บรรยากาศอันอบอุ่นของวิถีชีวิตชาวมุสลิม และเรื่องราวสวยงามของมิตรภาพ ตัวหนังมีท่าทีปลอบประโลม พร้อมจุดประกายความหวังให้กับทุกคนที่กำลังต่อสู้กับศัตรูตัวร้ายอันดับหนึ่งตลอดกาลอย่าง “ความยากจน” แต่ก็ตั้งคำถามกับการเป็น “คนดี” ไปด้วย ซึ่งเมื่อละสายตาจากความสวยงามบนจอแล้วหันมามองโลกความจริงอันโหดร้าย ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้ตกตะกอนบางสิ่งบางอย่างในใจได้ไม่น้อย

Thai-Classic-Movies-SPACEBAR-Photo03.jpg

Santi-Vina – “สันติ-วีณา” (2497)

ผลงานชิ้นสำคัญของ รัตน์ เปสตันยี ผู้ล่วงลับ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมายหลายแง่มุม ถูกบันทึกว่าเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี 35 มม. และยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังความข้องเกี่ยวกับการเมืองไทยในยุคหนึ่ง โดยเป็นภาพยนตร์ที่ถูกนำมาใช้สานสัมพันธ์ทางการฑูตกับบรรดาประเทศสังคมนิยม อาทิ ญี่ปุ่น หรือ โซเวียต เพื่อถ่วงดุลสถานะทางฑูตจากทางฝั่งสหรัฐอเมริกา ภายหลังมีการรายงานว่าตัวฟิล์มของภาพยนตร์สันติ-วีณาได้เสียหายไป ก่อนที่หลายสิบปีต่อมาจะมีการค้นพบว่ายังมีฟิล์มหลงเหลืออยู่ในคลังฟิล์มภาพยนตร์ของ Gosfilmofond ของประเทศรัสเซีย และหอภาพยนตร์แห่งชาติของจีน ทำให้ในปี พ.ศ. 2559 สันติ-วีณา เวอร์ชั่น รีมาสเตอร์ 4k ถูกนำมาจัดฉายอีกครั้งในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 69 ในสายภาพยนตร์คลาสสิค ซึ่งจากประวัติที่ร่ายยาวเหยียดมาขนาดนี้ ไม่ว่ามองมุมไหนก็ควรค่าแก่การรับชมสักครั้งในชีวิต

Thai-Classic-Movies-SPACEBAR-Photo04.jpg

BEHIND THE PAINTING “ข้างหลังภาพ” (2528)

วรรณกรรมคลาสสิคที่ถูกตีพิมพ์ฉายซ้ำมานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งในเวอร์ชันที่มีให้รับชมในเน็ตฟลิกซ์นี้ กำกับการแสดงโดย อาเปี๊ยก โปสเตอร์ โดนเด่นที่เอกลักษณ์คือการคงไว้ซึ่งบทสนทนาที่ตรงตามแบบฉบับนิยาย ลีลาภาษาภาพก็ไม่ธรรมดามีความละเมียดละไมในการออกแบบการถ่ายทำทุกฉากงดงามราวกับภาพวาด ส่วนตัวเรื่องก็ไม่ได้บิดพลิ้วจากแบบฉบับนิยายแต่อย่างใด อ่านลึกอย่างไรก็เข้าใจอย่างนั้น ไม่ว่าจะตีความแทนค่าออกมาถึงชั้นการเมืองที่แฝงอยู่ หรือดูแค่เพียงฉาบนอกของความเป็นภาพยนตร์โรแมนติคคลาสสิคที่ร้อยเรียงด้วยความรักอันต้องห้าม ไม่ว่าอย่างไรก็ยังคงความร่วมสมัยไว้ได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์