ประเด็นที่น่าสนใจบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับการคัดเลือกนักแสดงของช่อง YANITO บน TikTok ที่มีการออกมาชวนพูดคุยเกี่ยวคอนเทนต์จากช่องของต่างประเทศที่กล่าวว่า “คนที่ฉีด Lip Filler ควรอยู่แค่ในวงการอินฟลูฯ หรือเซเลบริตี้ ไม่ควรอยู่ในฐานะนักแสดงบนหน้าจอทีวีโดยเฉพาะภาพยนตร์หรือละครแนวพีเรียด”
ในคลิปสั้นนั้นได้ออกมาแชร์ถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เคยพบเห็นหลังจากที่ได้ชมละครพีเรียดเรื่องหนึ่งแต่กลับพบว่ามีนักแสดงทำเล็บเจล โดยมีชาวเน็ตออกมาแสดงความเห็นว่า “ในสมัยอยุธยามีเล็บเจลแล้วเหรอคะ?” “ทำไมนักแสดงหรือทีมงานตรงนั้นไม่มีใครบอกให้เอาเล็บเจลออกเหรอ ปล่อยให้หลุดมาได้ยังไง” จนทำให้เกิดการฉุกคิดถึงประเด็นนี้
แต่ก็มีคนเห็นต่างเช่นกัน โดยบอกว่า “ก็แค่ละครป่ะ เอาไรมากดูแค่สนุกก็พอ” ด้วยความที่ร่ำเรียนมาด้านภาพยนตร์จึงได้ออกมาเเสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ว่า ”การฉีดฟิลเลอร์หรืออะไรก็แล้วแต่ถ้ามันอยู่ในบทบาทที่เหมาะสมก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ามันอยู่ในภาพยนตร์หรือละครพีเรียดพอเห็นมันก็รู้สึกนิดหนึ่ง“
จากคลิปใน TikTok ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “วงการบันเทิงไทยให้ความสำคัญกับความเป็นดาราหรือความเป็นนักแสดงมากกว่ากัน” โดยในมุมมองของตัวนักเขียนเองไม่ได้มองแค่เรื่องการคัดนักแสดงเป็นหลัก แต่มองถึงองค์ประกอบภาพรวมหลายๆ อย่าง เช่น นักแสดงประกอบ และสไตล์การแต่งหน้า
ต้องบอกก่อนว่าจากที่ศึกษามานั้นการแต่งหน้าของสาวๆ ในสมัยก่อนจะนิยมแต่งองค์ทรงเครื่องเฉพาะอีเวนต์สำคัญๆ เท่านั้น นั่นคือการถวายตัวต่อพระมหากษัตริย์ ถ้าอยากรู้ว่าแต่งหน้าแบบไหนให้นึกถึงละครเรื่อง ‘แม่หยัว’ ในฉากที่เข้าถวายตัวนั่นคือความสมจริงของละครพีเรียด สิ่งที่เอ่ยมาก็ไม่ได้ผิดแต่หากทุกอย่างถูกจัดวางให้อยู่ในบทบาทที่เหมาะสมคงจะสมจริงและดีกว่าไม่น้อย
หลายคนอาจมองว่า "ก็แค่ละคร ดูเอาสนุกก็พอ" เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังคงมองละครและภาพยนตร์เป็นเพียงแค่สื่อบันเทิงมากกว่าจะเป็นศิลปะที่ต้องการความละเอียดและสมจริง แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับสื่อที่หลากหลายขึ้นจากทั่วโลกกลับมองเห็นช่องว่างของมาตรฐานการผลิตที่ควรได้รับการพัฒนามากกว่านี้
ส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่ต้องการจะกล่าวหาการแสดงของวงการบันเทิงไทยว่าไม่สมบทบาท แต่ถ้าเทียบกับวงการบันเทิงของต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ นักแสดงหลายคนไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตาที่จะกำหนดบทบาทของพวกเขา แต่เป็นความสามารถในการเข้าถึงตัวละครและทำให้ผู้ชมเชื่อว่าพวกเขา "เป็น" ตัวละครนั้นจริงๆ
สุดท้ายแล้วไม่มีใครอยากให้ผู้ชมเลือกที่จะไม่ดูละครที่ทำให้พวกเขารู้สึก ‘ไม่อิน’ เพียงเพราะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกมองข้าม เพราะภาพยนตร์หรือละครแนวพีเรียดไทยถ้าทำออกมาดีก็เป็น Soft Power ของไทยได้เช่นกัน
เรื่อง: อารียา ธีรการุณวงศ์