เมื่อซีรีส์ The White Lotus Season 3 ออนบนหน้าจอ หลายคนรอชื่นชมการแสดงของศิลปินไทยตัวท็อปอย่าง ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล พร้อมสัมผัสกับบรรยากาศที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ไทย ผ่านเรื่องราวของตัวละครและฉากต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงแรม The White Lotus บนเกาะสมุย ทว่า สิ่งที่ทำให้แฟนๆ ตื่นเต้นไม่ใช่แค่สถานที่หรือเนื้อหาในซีรีส์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเลือกใช้ “จิตรกรรมไทย” ในการสร้าง Opening Theme สะท้อนความเป็นไทยในมุมที่ไม่เหมือนใคร

จิตรกรรมไทยใน Opening Theme ศิลปะที่สะท้อนความเป็นไทย
ใน Opening Theme ของซีรีส์ The White Lotus Season 3 ทีมงานเลือกที่จะไม่ใช้มุมมองของนักท่องเที่ยวที่เห็นสถานที่ในประเทศไทยเป็นแลนด์มาร์กในแบบที่เราคุ้นเคย แต่กลับเลือกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านจิตรกรรมไทย โดยเฉพาะการใช้ภาพจากจิตรกรรมฝาผนังที่มีชื่อเสียงใน พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และ พระอุโบสถ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

จิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับการเลือกมาใช้ในซีรีส์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในวงการศิลปะไทย เป็นผลงานฝีมือช่างเขียนชั้นครูที่มีชื่อเสียงในยุคสมัยของรัชกาลที่ 3 ในช่วงเวลาที่งานเขียนและการสร้างวัดรุ่งเรืองที่สุด จิตรกรรมที่วัดสุวรรณฯ เขียนโดย ครูทองอยู่ (หลวงวิจิตรเจษฎา) กับ ครูคงแป๊ะ (หลวงเสนีบริรักษ์) สองคนสองสไตล์แข่งกันวาดติดม่านแบ่งผนังโบสถ์กันไปคนละครึ่ง เขียนเป็นชาดก เนมิราชชาดก และมโหสถชาดก ที่มีความละเอียดและซับซ้อน งานที่เห็นใน Opening Theme เป็นของครูทองอยู่ ถ้าเป็นของครูคงแป๊ะจะเป็นอีกแนวหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาพวาดคนต่างชาติ

อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ (นามปากกา น. ณ ปากน้ำ) ให้คำจำกัดความงานของสองท่านไว้ว่า วิธีการเขียนยังคงดำเนินรอยตามแบบแผนโบราณ แต่ลักษณะและกรรมวิธีถึงจะเขียนไม่เหมือนกัน แต่ฝีมือของทั้งสองคนทัดเทียมกัน และมักจะเขียนภาพภายในพระอุโบสถเดียวกัน เขียนอยู่ผนังติดกัน ลักษณะและกรรมวิธีการเขียนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ผลงานของทั้งสองท่านได้รับการยกย่องว่างามเป็นเยี่ยม
ความหมายและมุมมองในจิตรกรรม
ในงานจิตรกรรมไทย ภาพของคนและสัตว์ที่ถูกมองว่าเป็นรายละเอียดเล็กๆ มักจะมีความหมายลึกซึ้ง นอกจากจะช่วยเสริมเติมแต่งความสมบูรณ์ให้กับจิตรกรรมแล้ว ยังเป็นการสะท้อนชีวิตประจำวันของผู้คนในสมัยนั้นด้วย นี่คือสิ่งที่จิตรกรตั้งใจใส่ไว้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสังคมในยุคที่ถูกบันทึกไว้


การสร้างสรรค์ภาพในฉากจบของ Opening Theme
การเลือกใช้ภาพจาก “เนมิราชชาดก” ผลงานของครูทองอยู่ ในฉากจบของ Opening Theme เชื่อมโยงถึงเรื่องราวของซีซั่นนี้ได้อย่างลงตัว เนมิราชชาดกเป็นเรื่องราวของกษัตริย์ที่ออกบวชและกลับมาเกิดใหม่เพื่อรักษาบรรพชิตและบำเพ็ญประโยชน์ให้กับมนุษย์ ผ่านการเดินทางท่องไปในสวรรค์และนรก เพื่อนำเรื่องราวของบาปบุญคุณโทษมาเล่าให้มนุษย์ฟัง ซึ่งตรงกับเรื่องราวที่ผู้ชมจะได้รับรู้เกี่ยวกับกรรมและชะตากรรมของตัวละครในซีซั่นนี้
ในแง่ของการสร้างสรรค์ทางศิลปะ การเลือกใช้จิตรกรรมฝาผนังจากวัดสุวรรณฯ เป็นส่วนหนึ่งในการโปรโมตซีรีส์ The White Lotus ได้รับการยกย่องอย่างมาก ไม่เพียงเพราะภาพเหล่านั้นเป็นงานฝีมือที่งดงามในยุคทองของงานจิตรกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ยังช่วยถ่ายทอดความเป็นไทยในมุมที่ไม่คุ้นเคย ทว่า เต็มไปด้วยเสน่ห์และความลึกซึ้งของศิลปะวัฒนธรรมไทย

ชวนเยือนวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสกับความงดงามของจิตรกรรมเหล่านี้จริงๆ การเยือนวัดสุวรรณฯ ด้วยตนเองถือเป็นประสบการณ์ที่ไม่ควรพลาด โดยเฉพาะในยุคที่ภาพจิตรกรรมเหล่านี้กำลังประสบปัญหาจากความชื้นและการเสื่อมสภาพ
ลองไปเยือนวัดสุวรรณฯ ไปชมของจริง ก่อนที่เวลาและความชื้นจะทำให้ภาพแห่งความทรงจำเลือนรางไปตามกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย