เอไอบุก ‘ธัญวลัย’ คำถามถึงจริยธรรมกับงานศิลปะ หรือจะหมดยุคของศิลปินวาดภาพ

22 กุมภาพันธ์ 2567 - 07:13

thanwalai-ai-issue-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ร่วมกันหาคำตอบว่าเราควรแสดงท่าทีและความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นเรื่องภาพจากเอไอที่อาจเกิดจากความไม่เข้าใจในกระบวนการการทำงาน คุณค่าทางความคิดที่ถูกเพิกเฉย กับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ระบบเอไอกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และนับวันเริ่มมีศักยภาพมากขึ้น อย่างที่เห็นกันในวิดีโอที่สร้างโดยเอไอของ Sora ระบบสร้างวิดีโอจากพรอมต์ของ OpenAI ที่ผู้คนในวงการตัดต่อถึงกับออกมาพูดในเชิงขบขันว่าถึงเวลาที่ช่างตัดต่อภาพต้องเตรียมรับมือกับปัญหาเรื่องการโดนแย่งงาน เช่นเดียวกันกับวงการนักเขียนที่บางคนเริ่มนำมาใช้จริงบนหนังสือ บทความ หรือข่าว แต่วงการหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักยิ่งกว่าคือวงการศิลปะ

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2024 เพจเฟซบุ๊ก tunwalai.com หรืออีกชื่อหนึ่งคือเพจธัญวลัย อีกช่องทางในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับนิยายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ประกาศยืนยันอย่างชัดเจนว่า ‘ไม่สนับสนุนปก AI’ พร้อมยืนเคียงข้างศิลปินทุกคน’ ขอความร่วมมือร่วมใจให้ทุกคนติดแฮชแท็ก #ธัญวลัยไม่สนับสนุนปก AI

“ขอยืนเคียงข้างนักวาด ไม่สนับสนุนการใช้ภาพละเมิดลิขสิทธิ์ หากมีการพบเห็น ทีมงานจะดำเนินการลบปกที่ละเมิดลิขสิทธิ์ทันที และจะไม่ทำการโปรโมตให้ในทุกช่องทาง”

thanwalai-ai-issue-SPACEBAR-Photo_SQ01.jpg
Photo: tunwalai.com /Facebook

คำกล่าวเช่นนี้หมายความถึงระบบเอไอที่เริ่มเข้าสู่ตลาดนิยายออนไลน์บนเว็บไซต์ธัญวลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนแสดงความคิดเห็นว่าเป็นการแสดงจุดยืนที่ดีของทีมงานธัญวลัยเพื่อเป็นการสนับสนุนศิลปินต่อไป ขณะเดียวกันบางคนไม่เห็นด้วยในเรื่องงานที่ถูกเผยแพร่ไปแล้วบนแพลตฟอร์มว่างานเหล่านั้นต้องถูกลบไปด้วยหรือไม่?

นอกจากเว็บไซต์ธัญวลัยแล้ว ‘วายล้วนล้วนรีวิว’ ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม X ชุมชนนักอ่านนิยายวายยังออกมาแสดงความเห็นว่า

“จะมีแค่สายผลิตจริงๆ เหรอที่จะเข้าใจว่างาน AI มันส่งผลกระทบต่อสายผลิตกันขนาดไหน ทั้งนักเขียน นักวาด ล่าสุด ศิลปิน นักร้อง เห่ยย กว่าจะสร้างสรรค์ได้ 1 ผลงาน มันใช้เวลาฝึกฝนกันมาอย่างหนักนะ ใช้เวลาหลายปีด้วย ช่วยเห็นใจมนุษย์ด้วยกันบ้างเถอะ”

thanwalai-ai-issue-SPACEBAR-Photo V01.jpg
Photo: mildlyinfuriating /Reddit

อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่กำลังถูกเอไอบุกคือ Amazon Kindle หนังสือ นิทาน และนิยายหลายเรื่องจากนักเขียนหน้าใหม่ที่เริ่มหันมาใช้ภาพเอไอมากขึ้น บ่งบอกว่าภาพเอไอกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ปรากฏการณ์นี้มีคำอธิบายอยู่เบื้องหลัง โดยปัญหาหลักคือเรื่องของเงินในการลงทุน

ภาพงานเอไอมักพบได้ในงานเขียนของนักเขียนมือใหม่เป็นส่วนใหญ่ที่เฉลี่ยแล้วมีปัญหากับการลงทุนจ้างงานวาดภาพ อาจจะด้วยสาเหตุหลายประการ หนึ่งคือเป็นนักเขียนในวัยเรียน (ไม่มีเงินทุน) สองเป็นนักเขียนแต่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไปในส่วนของงานภาพ ซึ่งเป็นเรื่องของคอนเนคชันและความยากในการหานักวาดที่ถูกใจ สามคือการตัดปัญหาเรื่องการบรีฟภาพ หรือการต้องเจรจากับผู้คน การใช้เอไอไม่มีความกวนใจในเรื่องนี้ และสี่คืออัตราราคาการจ้างงานที่ไม่แน่นอน แล้วแต่ประสบการณ์ของผู้วาด

หากรู้สึกว่าอัตราราคาการจ้างวาดภาพสูงไป นั่นหมายความว่า ผู้คนในยุคสมัยนี้ไม่ให้คุณค่าแก่งานศิลปะจริงหรือไม่? คำถามนี้น่าจะเป็นคำถามที่กวนใจศิลปินวาดภาพหลายคน โดยคำตอบขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป หลักๆ คือคนส่วนใหญ่นอกวงการไม่ค่อยมีใครเข้าใจกระบวนการทำงาน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาต้องให้คุณค่าขนาดนั้น เหมือนกับที่นักวาดภาพไม่เข้าใจว่าการทำอาหารมีความยากอย่างไร หรือการทำธุรกิจต้องเจอกับอะไรบ้าง

thanwalai-ai-issue-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Caremyr /X

กล่าวโดยสรุปมันคือการไม่เข้าใจขอบเขตหรือกระบวนการทำงานของกันและกันในเรื่องการวาดภาพ ยกตัวอย่างการวาดสรีระของมนุษย์ต้องอาศัยการฝึกฝนวาดแต่ละส่วนของร่างกายในแบบเดิมๆ หลายพันภาพเพื่อให้นักวาดคุ้นมือ และต้องทำแบบนี้ซ้ำกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมถึงการสังเกตการณ์วัตถุ ท่าทางของสิ่งรอบตัว โดยเฉพาะกับนักวาดภาพดิจิทัลที่ต้องบวกค่าอุปกรณ์ราคาสูง บางคนต้องเสียเงินไปมากมายกับค่าเรียนที่แพงมาก สิ่ง่สำคัญคือ original idea ที่นักวาดต้องรวบรวมไอเดียเพื่อให้งานแตกต่างจากคนอื่นๆ

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มี Midjourney ระบบสร้างภาพจากพรอมต์ก็เข้ามาสู่ ArtStation เช่นกัน โดยเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกสำหรับศิลปินวาดภาพไว้ลงผลงานสำหรับรับงานต่างๆ จากอุตสาหกรรมแอนิเมชัน ภาพยนตร์ วิดีโอเกม และการ์ตูน ซึ่งศิลปินในนั้นต่างก็ออกมาแบนจนตอนนี้แทบไม่มีพื้นที่สำหรับภาพเอไอ (อาจจะมีบ้างประปราย) สมาชิกจากชุมชนบน ArtStation ต่างออกมาต่อต้านงานศิลปะเอไอด้วยการวางภาพพร้อมคำกำกับว่า ‘No AI Art’ บนโปรไฟล์ตัวเอง จนภาพขึ้นไปอยู่บนหน้า Trending หลังจากหลายคนสังเกตว่าระบบเอไอได้ดึงภาพงานศิลปะจากเว็บไซต์ ArtStation ไปใช้

thanwalai-ai-issue-SPACEBAR-Photo_SQ02.jpg
Photo: Xi Zhang /ArtStation

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2022 อเล็กซานเดอร์ นานิชคอฟ (Alexander Nanitchkov) ศิลปินชาวบัลแกเรีย ออกมาโพสต์บนทวิตเตอร์ว่า ศิลปะเอไอทุกวันนี้เป็นการสร้างภาพโดยการอิงอาศัยจากภาพถ่าย และภาพวาดของศิลปินที่อุทิศให้กับงาน แต่กลับถูกขโมยโดยคนเห็นแก่ตัวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม

แดน อีเดอร์ (Dan Eder) อีกหนึ่งศิลปินออกมากล่าวบนทวิตเตอร์เช่นกันว่า “การได้เห็นงานศิลปะเอไอเผยแพร่บน ArtStation ทำให้ผมรู้สึกเศร้า ผมชอบเล่น MJ (Midjourney) เหมือนกับทุกคนนะ แต่การใส่ภาพที่สร้างจากคำสั่งลงบนเว็บไซต์เคียงข้างกับงานศิลปะที่ใช้ทั้งเวลาและประสบการณ์มันเป็นอะไรที่ไม่เคารพกันมากๆ”

ทั้งหมดเป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการสร้างภาพด้วยเอไอ เพียงแต่การที่จะอ้างว่าตัวเองทำงานศิลปะเหมือนคนอื่นๆ นั้นคงพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะมีความแตกต่างกันทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถ และระยะเวลาที่หมดไปกับฝีมือ และการเสนอเป็นทางเลือกในการสร้างงานศิลปะ (ทั้งๆ ที่หยิบไอเดียคนอื่นมายำรวม) ดูเหมือนจะเป็นการไม่ให้เกียรติคนทำงานกันไปหน่อย ถ้าเทียบกับสุภาษิตคงเรียกว่า ‘ทำนาเป็นหลังคน’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์