ราชวงศ์อังกฤษ ราชวงศ์ที่ได้รับการยอมรับและความสนใจจากผู้คนทั่วโลกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการวางตัว แฟชันที่สวมใส่ หรือรวมไปถึงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ในราชวงศ์ก็ด้วย
ช่วงหลายปีหลังมานี้ หลายคนคงอาจได้เห็นแง่มุม หรือรับรู้เรื่องราวของพวกเขาเพิ่มเติมมาบ้างแล้ว เพราะความสนใจที่ไม่เคยลดลงต่อราชวงศ์ทำให้มีทั้งข่าว หนังสือ สารคดี รวมไปถึงซีรีส์อย่าง ‘The Crown’ ออริจินัลซีรีส์บนสตรีมมิงแพลตฟอร์ม Netflix ที่บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาตั้งแต่สมัยการขึ้นครองราชของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร ไปจนถึงความรัก ความสัมพันธ์ของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคตที่กำลังจะเปิดเผยในพาร์ทสุดท้ายของซีซัน 6 ซีซันสุดท้ายของซีรีส์ด้วย
แม้ตลอดทั้งซีรีส์ เราจะได้เห็นเรื่องราวความรักสุดรันทดเพียงเพราะสายเลือดและชาติตระกูลที่แตกต่างกันไปบ้างแล้ว ทั้งจากเจ้าหญิงมาร์กาเรตและองค์รักษ์คนสนิท, พระเจ้าชาล์สที่ 3 กับราชินีองค์ใหม่ คามิลลา หรือแม้กระทั้งอดีตกษัตริย์อย่าง ดยุคแห่งวินด์เซอร์และวาลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson) ม่ายหญิงชาวอเมริกัน แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า แท้จริงแล้ว เรื่องราวความรักสุดแสนขื่นขมระทมที่ต้องต่อสู้ระหว่างความรัก ความถูกต้อง และหน้าที่ ได้ดำเนินและเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยปี ค.ศ.1396 แล้ว

ย้อนกลับไปในปี 1396 จอห์นแห่งกอนต์ (John of Gaunt) ดยุคแห่งแลงคาสเตอร์ พระราชโอรสองค์ที่สามในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เขาเลือกที่จะแต่งงานกับแม่ม่ายอย่าง แคตเธอรีน สวินฟอร์ด (Katherine Swynford) อดีตภรรยาของผู้ติดตามของเขา
ภูมิหลังของแคตเธอรีนไม่ได้สูงส่งนัก เธอเติบโตขึ้นมาในเมืองเล็กๆ และแต่งงานกับสามี ฮิวจ์ สวินฟอร์ด (Hugh Swynford) เมื่อายุเพียง 16 ปี เขาเป็นอัศวินจากคฤหาสน์เคตเทิลธอร์ป (Kettlethorpe) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ติดตามและต่อสู้เพื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ในช่วงสงครามร้อยปี
แคตเธอรีนได้รู้จักกับจอห์นแห่งกอนต์จากการไปเป็นพี่เลี้ยงให้ลูกสาวเขากับภรรยาคนแรก ทั้งคู่สนิทสนมกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนจอห์นแห่งกอนต์รับเป็นพ่อทูนหัวของลูกเธอ ก่อนพวกเขาจะเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์รักใคร่เชิงชู้สาวเมื่อภรรยาของจอห์นเสียชีวิตลง
แม้ทั้งคู่จะรักกันมากเพียงได้ แต่แคตเธอรีนยังคงเป็นได้เพียงเมียน้อยของจอห์นแห่งกอนต์เท่านั้น เมื่อเขาตัดสินใจแต่งงานครั้งที่สองกับหญิงอื่นและให้กำเนิดลูกอีกสี่คนของเขา กระนั้นความรักของทั้งสองยังคงดำเนินไปในเงามืดอย่างเนิ่นนาน จนในที่สุดแคตเธอรีนก็กลายเป็นภรรยาคนที่สามของจอห์นแห่งกอนต์ และลูกๆ ของพวกเขาก็ได้รับการรับรองตามกฎหมายภายใต้ชื่อตระกูล 'โบฟอร์ต' ซึ่งเป็นต้นตระกูลที่ก่อตั้งราชวงศ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษอย่าง 'ราชวงศ์ทิวดอร์' นั่นเอง

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแต่งงานข้ามสายเลือดเท่านั้น ถือเป็นการแต่งงานที่มีเรื่องราวอื้อฉาวและความเศร้าใจน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับครั้งอื่นๆ เพราะหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด เราจะพบว่าในศตวรรษที่ 16 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงเคยถึงขั้นท้าทายสมเด็จพระสันตะปาปาและปฏิรูปคริสตจักร โดยพยายามแต่งงานกับ แอนน์ โบลีน ผู้หญิงที่เขารักมากมาแล้ว ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้วนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ที่เดิม พระเจ้าจอร์จที่ 3 จึงทำการเสนอพระราชบัญญัติการแต่งงานของราชวงศ์ขึ้นมาในปี 1772
'พระราชบัญญัติการแต่งงานของราชวงศ์ ค.ศ. 1772' เป็นเงื่อนไขข้อกำหนดที่บังคับให้สมาชิกของราชวงศ์อังกฤษที่สืบเชื้อสายจากพระเจ้าจอร์จที่ 2 จะสามารถแต่งงานได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์ ณ ขณะนั้นๆ เท่านั้น โดยกฏหมายฉบับนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการแต่งงานที่อาจลดสถานะของราชวงศ์ลง อีกทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังทำให้การสมรสที่ผิดกฎหมายของสมาชิกในราชวงศ์ถือเป็นอาชญากรรมอีกด้วย
พระราชบัญญัตินี้ระบุว่า "การแต่งงานที่ไม่ได้ผ่านการอนุญาติถือเป็นโมฆะทั้งสิ้น" ไม่ว่าจะมีการจดทะเบียนสมรส หรือประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาไปแล้วก็ตาม โดยสมาชิกในราชวงศ์ที่ฝ่าฝืนจะยังมีสิทธิและตำแหน่งในการสืบราชสันตติวงศ์ แต่เชื้อสายของพวกเขาที่เกิดจากการสมรสดังกล่าวจะถูกทำให้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการสมรสเป็นโมฆะจึงทำให้ต้องสูญเสียสิทธิชอบธรรมต่างๆ และการดูแลในฐานะประชาชนในประเทศ

กฏหมายฉบับนี้เคยถูกบังคับใช้จริงมาแล้วในปี 1793 เมื่อ เจ้าชายออกัสตัส เฟรเดอริก ดยุกแห่งซัสเซกซ์ พระราชโอรสองค์ที่ 6 ในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงอภิเษกสมรสกับเลดี้ ออกัสตา เมอร์เรย์ โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ พระองค์ทรงจัดการแต่งงานครั้งแรกแบบส่วนตัวและไม่มีพยานตามแบบฉบับของพิธีกรรมในนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ ที่โรงแรมซาร์เมียนโต กรุงโรม อีกทั้งยังจัดงานแต่งงานครั้งที่สองที่เซนต์จอร์จ จัตุรัสฮาโนเวอร์ เมืองลอนดอน ซึ่งการแต่งงานทั้งสองครั้งถูกประกาศให้เป็นโมฆะจากศาลอาร์เชส ทำให้ต่อมาบุตรของทั้งคู่ถูกจัดเป็นบุคคลผิดกฎหมาย
แม้บัญญัติดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบจากสภา แต่สำหรับประชาชน นี่ถือเป็นข้อบังคับที่น่าหดหู่และมักถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอยู่เนืองๆ เนื่องจากส่งผลต่อการปกครองและจิตใจของประชาชนเป็นอย่างมาก เช่นในเหตุการณ์เมื่อศตวรรษที่ 20 เมื่อ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ยอมสละราชบัลลังก์เพื่อแต่งงานกับ วาลลิส ซิมป์สัน หญิงสาวสามัญชนชาวอเมริกาที่ผ่านการหย่าร้างมาแล้ว เนื่องจากเธอไม่ได้รับการยอมรับจากราชวงศ์ และทั้งสองก็ไม่ได้รับอนุญาติให้แต่งงานกัน อีกทั้งยังเกรงว่าหากมีบุตรก็จะกลายเป็นบุคคลนอกระบบ พระองค์จึงตัดสินใจสละราชบัลลังก์และย้ายไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสเป็นการถาวร เหตุการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดวิกฤติทางรัฐธรรมนูญอย่างมาก และกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ
ภายหลังในปี 2011 ข้อตกลงดังกล่าวได้ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมีข้อตกลงเมืองเพิร์ธ ที่ได้ทำการตกลงกันระหว่างนายกรัฐมนตรีจาก 16 รัฐในเครือจักรภพแห่งประชาชาติ โดยได้แก้ไขกฎหมายการสืบราชสันตติวงศ์ไว้ว่า ให้เปลี่ยนจากการให้สิทธิ์ ลูกชาย ที่เกิดก่อนขึ้นครองราชย์ เป็นการให้สิทธิ์ ลูก ที่เกิดก่อนขึ้นครองราชย์ได้อย่างไม่แบ่งเพศ และให้ยกเลิกการตัดสิทธิสืบสันตติวงศ์ของพระราชวงศ์ที่สมรสกับผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลลิก อีกทั้งยังระบุไว้ว่าให้พระราชวงศ์เพียงหกลำดับแรกที่ใกล้ชิดกับการสืบสันตติวงศ์ที่สุดเท่านั้น ที่ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตก่อนเสกสมรส ซึ่งกฏหมายและบทบัญญัติฉบับนี้ก็ได้นำมาใช้เรื่อยมาจนถึงการอภิเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีนั่นเอง