ดนตรีส่งผลต่อการทำงานศิลปะจริงหรือไม่? การสนับสนุนกันของศาสตร์ที่ช่วยสร้างผลงานศิลปะมานานกว่าหลายร้อยปี

3 ตุลาคม 2566 - 08:08

the-impact-to-music-to-arts-SPACEBAR-Hero.jpg
  • “ดนตรีคือศิลปะที่ได้ยินผ่านหู และศิลปะคือดนตรีที่รับรู้ได้ผ่านตา” ความสอดคล้องกันของศิลปะ 2 แขนงที่ต่างผลักดันความคิดสร้างสรรค์จนเกิดผลงานโด่งดังมากมายมาหลายร้อยปี

“ดนตรีคือศิลปะที่ได้ยินผ่านหู และศิลปะคือดนตรีที่รับรู้ได้ผ่านตา”

-Tanya Frid-

the-impact-to-music-to-arts-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ภาพวาด Music I จากเว็บไซต์ ARTCHIVE

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ภาพของศิลปะและดนตรีมักเป็นสิ่งที่เราเห็นเคียงคู่กันมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นจากภาพวาดเลื่องชื่อของจิตรกรชาวเยอรมัน กุสตาฟ คลิมต์ (Gustav Klimt) อย่าง Music I ที่เผยให้เห็นภาพของหญิงสาวขณะกำลังเล่นพิณสีทอง หรือจากบทเพลงสุดคลาสสิกของ ดอน แม็กลีน (Don McLean) ที่มีชื่อว่า Vincent บทเพลงที่พูดถึงภาพวาดชื่อดังของแวนโก๊ะอย่าง ราตรีประดับดาว หรือ The Starry Night

the-impact-to-music-to-arts-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ภาพวาด The Starry Night จากเว็บไซต์ ARTCHIVE

ความสัมพันธ์ของดนตรีและศิลปะที่เกิดขึ้นถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยศิลปินในการขับความคิดและความรู้สึกภายในออกมาสู่ชิ้นงาน เนื่องจากดนตรีมีความสามารถอันน่าทึ่งในการดึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในผู้คนออกมาได้เป็นอย่างดี บางครั้งเราจะเห็นได้ว่าเพลงบางเพลงสามารถทำให้เราอารมณ์ดีได้ตลอดทั้งวัน ในขณะที่บางเพลงกลับทำให้เราร้องไห้ได้อย่างง่ายดาย แม้จะเพิ่งได้ฟังเพียงแค่ไม่กี่ท่อนเท่านั้น นั่นคือพลังของมัน พลังที่ส่งตรงและขุดค้นเข้าไปในจิตใจ แม้จะไม่มีการศึกษาที่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น แต่นั่นก็คือเวทมนตร์และความน่าค้นหาของสิ่งที่ถูกเรียกว่าศิลปะ

ในแง่ของวิทยาศาสตร์อาจยังไม่สามารถมีคำอธิบายได้อย่างแน่ชัด แต่ วาซีลี คันดินสกี (Wassily Kandinsky) นักทฤษฎีศิลปะชาวรัสเซียพยายามอธิบายดนตรีในแง่ของศิลปะเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าใจและเห็นความเชื่อมโยงของศาสตร์ทั้งสองไว้ว่า “สีคือคีย์บอร์ด ดวงตาคือความกลมกลืน จิตวิญญาณคือเปียโนที่มีสายหลายสาย และศิลปินคือมือที่เล่น เราต่างกำลังสัมผัสแป้นใดแป้นหนึ่ง เพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนในจิตวิญญาณ”

the-impact-to-music-to-arts-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: ภาพวาด Synchromy No. 3 จากเว็บไซต์ wikimedia

ยิ่งไปกว่านั้น ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 1912 ได้มีการจัดตั้งขบวนการทางศิลปะ Synchromism ที่พยายามสร้างภาพแนวนามธรรมที่นำพื้นฐานทางการวาดมาเปรียบเทียบกับดนตรีโดยการใช้สี ซึ่งได้มาจากแนวคิดที่ว่าสีและเสียงเป็นปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกัน และสีในภาพวาดสามารถนำมาเรียบเรียงได้ในลักษณะที่กลมกลืนเหมือนกับที่ผู้แต่งเพลงสามารถเรียบเรียงโน้ตเป็นซิมโฟนีได้ แม้ขบวนการแห่งศตวรรษที่ 20 นี้จะมีอายุอยู่ไม่นานมากนัก แต่ก็สามารถสร้างแรงกระเพื้อมทางศิลปะได้อย่างสำคัญ เพราะนี่คืองานศิลปะนามธรรมชิ้นแรกๆ ในอเมริกาเลยก็ว่าได้

the-impact-to-music-to-arts-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: ภาพวาด The Concert โดย Gerrit van Honthorst

ความผูกพันธ์ของดนตรีและศิลปะดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน และก่อเกิดเป็นกิจกรรมมากมายให้ผู้คนได้ค้นลึกเข้าไปในจิตใจของตัวเอง อีกทั้งยังช่วยเป็นเทคนิคสำหรับศิลปินในการสร้างผลงานใหม่ๆ อีกด้วย ‘Draw What You Hear!’ คือกิจกรรมนั้น

Draw What You Hear! คือกิจกรรมที่นิยมใช้เสริมสร้างทักษะและฝึกพัฒนาการของเด็ก แต่ถึงอย่างนั้นผู้ใหญ่ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยจะสุ่มเปิดเพลงสักหนึ่งเพลง และตั้งคำถามว่าเรารู้สึกอย่างไรกับเพลงนี้ จากนั้นก็ปล่อยจิตใจ สมอง และข้อมือให้เป็นอิสระ ปลดปล่อยทุกอย่างให้โลดแล่นไปตามความรู้สึกนึกคิดเฉกเช่นเดียวกับที่ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้ทำในการสร้างผลงาน ‘Madman’ หรือ ‘คนบ้าวาดคนบ้า’ ผลงานแนว Impressionism self-portrait ที่สะท้อนให้เห็นถึงตัวตน อารมณ์ ความคิด ณ ช่วงขณะนั้นอย่างฉับพลันผ่านเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5 นั่นเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์