เปิดตำนาน “เรือพระที่นั่ง” แท้จริงคือ “เรือรบ” เพียงแต่ทุกวันนี้ไม่ได้ออกรบแล้ว

21 ก.ค. 2567 - 04:00

  • หลายคนอาจไม่รู้ว่า “เรือพระที่นั่ง” ที่เราเห็นทั้งหมดคือ #เรือรบ

spacebar สเปซบาร์, เรือพระที่นั่ง, เรือรบ, เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช, เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9, พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน, ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ก่อนจะถึงวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 หรืออีกสามเดือนข้างหน้า ที่มีพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อความเข้าใจในการชมกระบวนเรือพระราชพิธี เราอยากชวนมาทำความรู้จักเรื่องราวของเรือพระที่นั่งสำคัญในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้กัน

ก่อนอื่นเรือที่เราเห็นทั้งหมดคือ “เรือรบ”

ในอดีตขบวนเรือเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์จะใช้เรือรบทั้งหมด ปัจจุบันเรือพระที่นั่งที่ เห็นก็คือ “อดีตเรือรบ” เพียงแต่ทุกวันนี้เราไม่ได้ออกรบด้วยเรือพระที่นั่งแบบนี้แล้ว

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
Photo: เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช พ.ศ.2408 ในสมัยรัชกาลที่ 2 ถ่ายโดย John Thomson

ย้อนกลับไปสมัยกรุงศรีอยุธยาเวลาไม่มีศึกสงคราม พระมหากษัตริย์จะใช้เรือรบเมื่อซ้อมรบ หรือในการเสด็จไปประพาสป่า ทรงเบ็ดล่าสัตว์ คล้องช้าง เสด็จทำบุญ ที่บ่อยที่สุดคือเสด็จทอดผ้าพระกฐิน และไปนมัสการพระพุทธบาท

เรือรบหรือเรือพระที่นั่งโบราณเกือบทั้งหมด ทำจากไม้ตะเคียนต้นใหญ่ ในสมัยนั้นจะขุดทั้งต้น เหตุผลก็เพราะไม้ตะเคียนเป็นไม้ที่มีเนื้อเหนียว ทนทาน และมีรสขมทำให้ปลวกไม่กล้ากิน

ต้นตะเคียน
Photo: ต้นตะเคียน ถ่ายโดย Christoph Swoboda

ทั้งนี้ คนไทยมีความเชื่อเรื่องรุกขเทวดา เทวดาหรือดวงจิตที่อยู่กับต้นไม้ ซึ่งไม้ตะเคียนเป็นหนึ่งในไม้ที่เชื่อว่ามีดวงจิตของสตรีอยู่ในต้น เมื่อเอามาทำเรือ จึงถูกผนวกกับความเชื่อเรื่องเทวดารักษาพาหนะ และเป็นที่มาของ “แม่ย่านาง”

ความเชื่อเรื่องแม่ย่านางและเทวดารักษาพาหนะเป็นที่มาของการประกอบพิธีบวงสรวง ทุกครั้งที่จะนำเรือขึ้นจากน้ำ หรือลงน้ำ แม้แต่การประกอบตกแต่งสิ่งของต่างๆ กับเรือต้องขออนุญาตทำพิธีทุกครั้ง

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา เรือรบและเรือพระที่นั่งถูกทำลายลงเกือบทั้งหมด พระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี จึงพยายามฟื้นเรือพระที่นั่งขึ้นมาใหม่ โดยสร้างอย่างจริงจังตามแบบกรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์

เรือพระที่นั่ง 4 ลำสำคัญ ได้แก่

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
Photo: เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นเรือพระที่นั่งสำคัญ โขนเรือเป็นรูปสุพรรณหงส์  สร้างประมาณ พ.ศ.2091 มีความยาว 46.15 เมตร ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ หรือเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ เรือถูกสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 1 ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ มีการซ่อมแซมขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 3 ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ต่อมามีการบูรณะและได้รับชื่อ เรือสุพรรณหงส์ ในรัชกาลที่ 6

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
Photo: เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ถือเป็นเรือที่ประทับสำคัญ ได้รับการยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก จาก World Ship Trust เมื่อ พ.ศ.2535

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
Photo: เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เป็นเรือพระที่นั่งบัลลังก์สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 เรือลำปัจจุบันสร้างใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ลำเรือทาสีเขียว ยาว 42.95 เมตร

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
Photo: เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

โขนเรือเป็นพญาอนันตนาคราช หรือนาค 7 เศียร ใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง คือ เรือเชิญผ้าพระกฐิน หรือประดิษฐานบุษบกสำหรับพระพุทธรูปสำคัญ

เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

เป็นพระที่นั่งที่โขนเรือไม่ได้ทำเป็นรูปสัตว์ โขนเรือเชิดเรียว จำหลักและปิดทองถ้าเข้าไปชมใกล้ๆ จะเห็นรูปนาครูปนาคจำนวนมาก เป็นที่มาของชื่อ อเนกชาติภุชงค์ นาคนั้นตามตำนานมี 4 วงศ์ตระกูล คือ วิรูปักษ์ พญานาคตระกูลสีทอง เอราปัถ พญานาคตระกูลสีเขียว ฉัพพยาปุตตะ พญานาคตระกูลสีรุ้ง และกัณหาโคตมะ พญานาคตระกูลสีดำ เรือสร้างตอนรัชกาลที่ 4 เสร็จรัชกาลที่ 5

เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์
Photo: เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์
Photo: เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

ความจริงเรือนารายณ์ทรงสุบรรณเคยมีในรัชกาลที่ 3 และมาสร้างใหม่เป็นเรือลำปัจจุบันในรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.2539 ตามขนบที่ยกย่องพระมหากษัตริย์เช่นพระนารายณ์ หัวเรือจำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ แสดงพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลก

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
Photo: เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

ว่ากันว่ามีความเชื่อเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของเรือพระที่นั่งที่พระมหากษัตริย์ทรงประทับ โดยมีเรื่องเล่าขานว่าผู้ที่ขาดความเคารพจะประสบชะตากรรมแปลกๆ ราวกับเรือพระที่นั่งเสมือนมีชีวิตจิตใจ แม้แต่การถ่ายภาพทั้งลำเรือ หรือบางส่วน หรือของประดับเครื่องทรงของเรือต้องให้ความเคารพและขออนุญาตทุกครั้ง

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
Photo: เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

แนะนำว่าหากจะไปชมการซ้อมใหญ่ของพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินทางชลมารค จุดที่น่า ชมคือ สะพานพระราม 8 สวนสันติชัยปราการ ท่าพระอาทิตย์ ราชนาวิกสภา

ทั้งนี้ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ เป็นเรือเก่าที่มาก่อน แต่ลำที่เราเห็นทุกวันนี้ไม่ใช่ลำแรกที่สร้างตอนต้นกรุง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์