ไพ่ทาโรต์ The Lovers ไม่ใช่ไพ่ความรักอย่างเดียว ปรับเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ผ่านประวัติศาสตร์และศิลปะบนหน้าไพ่กับ อาจารย์มิ่ง ปัญหา

7 กุมภาพันธ์ 2567 - 04:57

the-lovers-is-not-a-love-card-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘The Lover’ ไม่ใช่ไพ่ความรักเพียงอย่างเดียว และ ‘ไพ่ทาโรต์’ ไม่ใช่ ‘ไพ่ยิปซี’ ไขทุกข้อสงสัยและปรับเปลี่ยนความเข้าใจของผู้คนต่อไพ่ผ่านมุมมองด้านประวัติศาสตร์และศิลปะกับ ‘อาจารย์มิ่ง ปัญหา’ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ใครเตือนไม่เคยฟัง แต่ ‘หมอดู’ ทักคำสองคำกลับจำขึ้นใจ”

-Unknown-

ในโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันนำไปสู่สภาวะบั่นทอนจิตใจ ‘ไพ่ทาโรต์’ กลับค่อยๆ ก้าวเข้ามามีบทบาทและยึดครองตำแหน่งยาใจของผู้คนได้อย่างแยบยลและรวดเร็ว ไม่ว่าคุณจะมีปัญหาด้านการเงิน การงาน ครอบครัว หรือความรัก ไพ่ทาโรต์มักทำหน้าที่ตอบข้อสงสัยและคลายความกังวลได้ดีเสมอ

ไพ่ทาโรต์ (Tarot Card) ได้รับการขนานนามและเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมทางการพยากรณ์มาเนิ่นนานหลายร้อยปี กำเนิดขึ้นครั้งแรกในอียิปต์และได้รับความนิยมในวงกว้างทั้งประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ ก่อนที่จะค่อยๆ เดินทางแพร่ขยายข้ามอาณาเขตไปทั่วโลกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยไพ่ทาโรต์หนึ่งชุดจะมีไพ่ทั้งหมด 78 ใบ แบ่งออกเป็นกลุ่ม Major Arcana จำนวน 22 ใบ และกลุ่ม Minor Arcana จำนวน 56 ใบ

แม้ว่าไพ่ทาโรต์จะครองใจผู้คนอย่างไม่เสื่อมคลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ดูเหมือนว่าการดำรงอยู่มาอย่างยาวนานของมันจะทำให้ความหมายบางส่วนเลือนหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘The Lovers’ หรือ ‘ไพ่คนรัก’ ตามที่ใครหลายคนเชื่อกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเดินทางมายังร้านกาแฟแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร ภายในตกแต่งไปด้วยสีดำอึมครึมให้บรรยากาศลึกลับชวนพิศวงเข้ากับบทสนทนาเชิงประวัติศาสตร์และศิลปะที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นกับ อาจารย์มิ่ง ปัญหา อาจารย์จากสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของวิชาวรรณกรรมในศตวรรษที่ 19 และผู้หลงใหลศาสตร์แห่งไพ่ทาโรต์

the-lovers-is-not-a-love-card-SPACEBAR-Photo01.jpg

อาจารย์มิ่งและไพ่ทาโรต์มีความสัมพันธ์กันมายาวนานเกินครึ่งชีวิตเลยก็ว่าได้ พวกเขาเดินทางเวียนวนมาพบกันเป็นครั้งคราวตามการดำเนินไปของเวลาและอายุ หากคิดว่านี่คือโชคชะตาฟ้าลิขิตดังที่คนส่วนใหญ่ที่มีความเชื่อมักพูดกันก็คงไม่ผิด พวกเขาได้บังเอิญพบกันครั้งแรกขณะที่อาจารย์มิ่งมีอายุเพียง 10 ขวบ ในช่วงที่ ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา ศิลปินและนักแต่งเพลงชาวไทยเริ่มหันมาสนใจเรื่องโหราศาสตร์ และทำให้ผู้คนในประเทศไทยรู้จักและตื่นตัวกับการมีอยู่ของไพ่ทาโรต์

ทั้งสองมีโอกาสทักทายทำความรู้จักกันประปรายขณะศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2013 จนในที่สุดก็ได้เข้ามาทำความรู้จักกันอย่างจริงจังในช่วงปี 2019 ผ่านหนังสือของ ‘บาร์บารา จีน วอล์กเกอร์’ (Barbara Jean Walker) นักสตรีนิยม นักคิด และนักเขียนผู้ศึกษาเกี่ยวกับตำนานต่างๆ ที่ได้ตีความความหมายบนหน้าไพ่ไว้อย่างแปลกประหลาด อันทำให้อาจารย์มิ่งต้องหันมาสนใจไพ่อย่างจริงจังผ่านการศึกษาจากตำราประวัติศาสตร์ สังคม และผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ

The Star (t) 

ทำความเข้าใจ ‘ไพ่ทาโรต์ ≠ ไพ่ยิปซี’

ก่อนจะซักถามพูดคุยถึงประวัติความเป็นมาอันยาวนานของไพ่ อาจารย์มิ่งได้เริ่มต้นบทสนทนาอย่างน่าสนใจ ด้วยการไขข้อสงสัยและอธิบายถึงความเข้าใจผิดประการแรกที่เรามักสับสนกัน นั่นคือ ความแตกต่างระหว่าง ‘ไพ่ยิปซี’ และ ‘ไพ่ทาโรต์’

“คุณต้องเข้าใจก่อน ไพ่ทาโรต์ไม่ใช่ไพ่ยิปซี คำว่า ‘ยิปซี’ มาจากความเข้าใจผิดของคนกลุ่มหนึ่งที่เข้าใจว่าไพ่ชุดที่เราใช้ดูกันในปัจจุบันนี้มาจากประเทศอียิปต์ ซึ่งความจริงก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว เพียงแต่มันไม่ใช่อียิปต์แบบคลีโอพัตราที่ใครๆ เข้าใจกัน แต่เป็นอียิปต์แบบอาหรับต่างหาก นอกจากนี้คำว่า ยิปซี ยังมีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ด้วย เพราะเป็นคำเหยียดกลุ่มชาติพันธุ์โรมานี (Roman) ซึ่งมาจากอินเดีย แต่รากศัพท์ภาษาอังกฤษเก่าของคำนี้เป็นคำย่อในการเรียก ‘คนอียิปต์โบราณ’ แต่ผู้สร้างที่แท้จริงของไพ่นี้ไม่ใช่พวกเขา”

อาจารย์อธิบายพลางควานมือล้วงเข้าไปในกระเป๋าใบโต ก่อนจะค่อยๆ หยิบหนังสืออกมาทีละเล่มจนครบ ต่อด้วยสำรับไพ่สองแบบ และ หินคริสตัลที่ใช้ในการชำระล้างพลังงาน พร้อมผ้าปูโต๊ะลายไพ่ทาโรต์ผืนยาวที่ถูกออกแบบอย่างสวยงาม การตระเตรียมตัวสำหรับการพูดคุยในครั้งนี้ของอาจารย์ทำให้เราอดรู้สึกไม่ได้ว่านี่คือการเลคเชอร์นอกสถานที่ที่ถูกจัดเตรียมไว้ด้วยสื่อการสอนที่ดีที่สุดนี่เอง

the-lovers-is-not-a-love-card-SPACEBAR-Photo02.jpg

เมื่อหยิบสรรพสิ่งออกมาจนครบ อาจารย์ไม่รอช้าที่จะหยิบหนังสือเล่มแรกขึ้นมาเปิด มันเป็นหนังสือขนาดกะทัดรัดที่มีปกสีน้ำเงินเข้ม ระบุข้อความด้านหน้าไว้ว่า Mystical Origins of the Tarot ของ พอล ฮูสัน (Paul Husan) ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เชิงลึกของไพ่ทาโรต์ และเริ่มต่อบทสนทนาอย่างรวดเร็ว

“หากจะถามถึงจุดเริ่มต้นของไพ่ทาโรต์ มันไม่ได้มีข้อสรุปที่แน่ชัดนัก เนื่องจากต้นกำเนิดของการผลิตกระดาษรายแรกที่แท้จริงของโลกยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน บางข้อสันนิษฐานว่ามาจากจีน บ้างว่ามาจากอินเดีย และบางแห่งก็ว่ามาจากอาหรับ อย่างในเล่มนี้เชื่อว่ามีจุดกำเนิดที่อาหรับ โดยเขาจะแสดงหน้าไพ่ทาโรต์แรกเริ่มในยุคนั้นที่มีความอ่านยาก ลวดลายสลับซับซ้อน และมีวัตถุวางซ่อนอยู่” อาจารย์เล่าพร้อมเปิดหนังสือไปยังหน้าที่มีภาพไพ่ 1 เหรียญ, 1 ถ้วย, 1 ดาบ และ 1 ไม้เท้าปรากฏอยู่

the-lovers-is-not-a-love-card-SPACEBAR-Photo03.jpg

“มันเป็นลวดลายที่อ่านยากมาก ไม่มีใครรู้ว่าเขาได้ไอเดียมาจากอะไร มีเพียงข้อสันนิษฐานที่ว่าไพ่ทาโรต์มีกำเนิดมาจากกลุ่มราชวงศ์อาหรับที่ปกครองอียิปต์ ในตอนนั้น” อาจารย์เสริมพลางอธิบายอย่างสนุกสนานแต่ยังคงรักษาท่าที “เขาบอกว่าในสมัยนั้น ไพ่ทาโรต์ถูกใช้เล่นเป็นเกมกระดาษ มาก่อน แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากติกาการเล่นเป็นอย่างไร ทราบเพียงเป็นการเล่นไพ่เชิงเก็บแต้ม”

ในสมัยอียิปต์โบราณ มีการคาดการณ์ว่าไพ่ทาโรต์ถูกนำมาใช้เล่นเป็นกิจกรรมเกมกระดาษในชนชั้นขุนนาง เนื่องจากกระดาษมีราคาที่ค่อนข้างสูงทำให้คนทั่วไปเขาถึงได้ยาก โดยในการเล่นเกมจะนิยมเล่นกัน 4-5 คน ผ่านการวนหยิบไพ่ในมืออีกฝ่าย ตามความเข้าใจของผู้เขียนคาดว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับเกมกระดาษอย่าง อูโน่ และเหมียวระเบิด ในปัจจุบันที่ต้องทิ้งไพ่ดีออกจากมือให้ได้

ความเข้าใจนี้นำพามาซึ่งคำถามที่เราอดสงสัยไม่ได้ว่า “หากในยุคสมัยอียิปต์โบราณใช้ไพ่ทาโรต์เล่นเป็นเกมกระดาษ หมายความว่าการดูดวงด้วยไพ่ทาโรต์ยังไม่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้นหรือ?”

“บ้างบอกว่าการดูดวงด้วยไพ่จริงๆ เริ่มขึ้นในสมัยฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 18-19 เพราะฝรั่งเศสได้มีการบันทึกและให้กำเนิดศัพท์ Cartomancy ที่แปลว่า ศาสตร์แห่งการใช้ไพ่พยากรณ ไว้” อาจารย์ตอบพร้อมค่อยๆ อธิบายอย่างใจเย็น “ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกความเห็นหนึ่งที่คิดว่าน่าจะใช้ดูดวงมานานแล้วเพียงแต่ไม่มีหลักฐานเท่านั้น”

อาจารย์กล่าวพร้อมให้ความรู้เพิ่มเติมในด้านการออกแบบไพ่ Minor Arcana โดยบอกว่าการออกแบบถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การออกแบบภาพเชิงเรื่องราว เช่น สำรับ Rider-Waite Smith และ การออกแบบเชิงเน้นวัตถุ อย่างสำรับ Thoth

the-lovers-is-not-a-love-card-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: ภาพด้านซ้ายแบบ Thoth | ด้านขวาแบบ Waite

“ไพ่สำรับ Rider-Waite Smith ถือเป็นภาพจำของไพ่ทาโร่ต์ที่ผู้คนคุ้นตามากที่สุด โดยไพ่สำรับนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้รับอิทธิพลมาจากสำหรับของประเทศอิตาลีที่วาดให้ทุกใบต่างมีเรื่องราวและเรื่องเล่าของตัวเอง ซึ่งผู้ที่ออกแบบสำรับนี้คือ ‘อาร์เธอร์ เอ็ดเวิร์ด เวท’ (Arthur Edward Waite) ได้นักวาดภาพประกอบอย่าง ‘พาเมลา โคลแมน สมิธ’ (Pamela Colman Smith)

ส่วนอีกแบบหนึ่งคือแบบ Thoth ที่นำวัตถุมาวางเรียงกัน โดยซ่อนเรื่องราวผ่านสัญญะในภาพตามแนวคิดของ ‘อเลียสเตอร์ คราวลีย์’ (Aleister Crowley) ซึ่งการวาดภาพทั้งสองแบบเกิดขึ้นจากความเชื่อที่ขัดแย้งกันของสองนักไสยเวทอย่าง เวท และ ทอธ จากสมาคม Golden Dawn ในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยเวทต้องการที่จะให้ไพ่ทาโรต์เข้าใกล้กับศาสนาคริสต์ ในขณะที่ทอธต้องการให้ถอยห่างออกไป ทอธจึงร่วมมือกับ ‘เลดี้ ฟรีดา ฮาร์ริส’ (Lady Frida Harris) จิตรกรผู้อยู่ในขบวนการนวนิยม (Modernism) ที่ไม่เน้นรูปร่าง ไม่สะท้อนความจริงอย่างตรงไปตรงมา จึงเกิดภาพแปลกตา เน้นการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ด้วยวัตถุสิ่งของมากกว่ามนุษย์”

นอกจากการแบ่งประเภทของไพ่แล้ว อาจารย์ยังเสริมว่าไพ่ Major Arcana ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบภาพเชิงเล่าเรื่องมาจาก ‘ขบวนแห่ Dance of Death’ ที่สอนให้ผู้คนเข้าใจถึงความตายและหนทางของการเดินทางไปพบพระเจ้า เป็นเหมือนคติสอนใจที่สอนให้รู้จักการเดินทางของชีวิตตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันสุดท้าย เช่น ไพ่ The Tower ที่สะท้อนภาพการถูกพระเจ้าลงโทษหลังจากที่มนุษย์พยายามสร้างหอคอยบาเบล (Tower of Babel) ให้สูงทัดเทียมสวรรค์

the-lovers-is-not-a-love-card-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: ภาพ The High Priestess จากหลากหลายสำรับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

นอกจากได้แรงบันดาลใจจากขบวนแห่แล้ว บางภาพยังถูกวาดขึ้นมาเพื่อล้อเลียนเสียดสีผู้คนในสังคมด้วย เช่น The High Priestess ถูกวาดขึ้นเพื่อล้อเลียนญาติคนหนึ่งของบ้าน วิสคอนติ สฟอร์ซ่า (Visconti-Sforza) ในอิตาลีที่ประกาศตนว่าตัวเองเป็นจะโป๊ปสตรี

“หากคุณลองไปดูในภาษาฝรั่งเศส พวกเขาจะไม่เรียกไพ่ใบนี้ว่า The High Priestess แต่จะเรียกว่า ‘ลา ปาแปส’ (La Papesse) หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘โป๊ปผู้หญิง’ (The Female Pope หรือ The Popess) ดังนั้นไพ่ใบนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล้อเลียนและแสดงให้เห็นถึงบริบททางสังคมในยุคสมัยนั้นว่าผู้หญิงไม่มีสิทธิและสถานะทางศาสนาที่จะสามารถขึ้นมาเป็นโป๊ปได้”

The Lovers 

‘ไพ่แห่งความรัก’ จริง หรือแค่คิดไปเอง?

the-lovers-is-not-a-love-card-SPACEBAR-Photo06.jpg
Photo: ไพ่ The Lovers จากสำรับ Rider-Waite Smith

เมื่อได้พูดคุยกับอาจารย์ในเชิงประวัติศาสตร์และได้ทำความรู้จักไพ่ทาโรต์อย่างถูกต้อง เราจึงไม่รีรอที่จะรีบชวนอาจารย์คุยต่อในเรื่องไพ่ The Lovers เพราะนี่คือเหตุผลหลักและความตั้งใจแรกที่ผู้เขียนเดินทางมาเพื่อขอความรู้และสนทนากับอาจารย์ในครั้งนี้

หากพูดถึงการดูดวงไพ่ทาโรต์ ประเด็นในเรื่องของ ‘ความรัก’ คงเป็นประเด็นใหญ่ที่ใครหลายคนล้วนเดินทางมาปรึกษาหมอดูกัน เมื่อพูดถึงความรัก หลายๆ คนก็คงหวังว่าเมื่ออธิษฐานหรือตั้งคำถามอะไรไป หากได้ไพ่ The Lovers ปรากฏขึ้นมาก็คงจะดีไม่่น้อย แต่รู้หรือไม่ว่าความจริงแล้ว 

ในวงการโหราศาสตร์และไพ่ทาโรต์ ผู้คนมากมายต่างกำลังถกเถียงและตั้งข้อสงสัยว่าแท้จริงความหมายของไพ่ใบนี้คือความรักตามชื่อที่ปรากฏหรือไม่ แล้วเหตุใดต้องมี ‘S’ หรือนี่จะหมายถึงไพ่ของ คนเจ้าชู้?

“ไพ่ The Lovers จากสำรับ Rider-Waite Smith ที่เราเห็นกันจนชินตาในปัจจุบันไม่ใช่ไพ่ชุดแรกที่ถูกจัดทำขึ้นมา หากจะคุยเรื่องนี้เราคงจะต้องย้อนกลับไปที่ไพ่สำรับแรกของอิตาลี ในภาพนี้เราจะเห็นคิวปิดอยู่ตรงกลางและมีคนขอแต่งงานกัน นอกจากนั้นยังมีสุนัขที่ใช้เป็นสัญญลักษณ์ของความจงรักภักดีที่ี่สื่อถึงรักนิรันดร์ด้วย หากสังเกตให้ดีภาพนี้จะมีลักษณะคล้ายภาพวาด อาร์นอลฟีนี (Arnolfini) ของ ยัน ฟัน ไอก์ (Jan van Eyck) จิตรกรแห่งยุคสมัยจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก ที่แสดงภาพเหมือนของ โจวันนี อาร์นอลฟีนี และภรรยาขณะถูกขอแต่งงาน ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกันเราก็จะเห็นความคล้ายคลึงหรืออิทธิพลบางอย่างที่ทับซ้อนกันอยู่”

the-lovers-is-not-a-love-card-SPACEBAR-Photo07.jpg
Photo: ซ้าย: ไพ่ The Lovers ของสำรับอิตาลี จาก เว็บไซต์ Tarot Heritage | ขวา: ภาพวาด อาร์นอลฟีนี จาก Wikimedia

“เพราะฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าสารตั้งต้นของไพ่ The Lovers ต้องการจะพูดถึง ความรักและการแต่งงาน แต่ถ้าดูตามเล่ม **Mystical Origins of the Tarot ** ของฮูสัน ก็จะเห็นการตีความที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุค  ซึ่งยุคสมัยที่ไพ่ใบนี้เริ่มมีความหมายเปลี่ยนไปคือในสมัยฝรั่งเศส สมัยนั้นยังคงเป็นยุคที่หมอดูนิยามความหมายของไพ่ไว้อย่างหลากหลายผสมปนเปกันมาก ในหนึ่งใบสามารถหมายถึงทั้ง การไปปิกนิก การแต่งงาน การย้ายบ้าน  

นอกจากความหมายที่หลากหลายแล้ว ฝรั่งเศสยังได้เพิ่มเติมรูปผู้หญิงเข้ามาในภาพหนึ่งคน คือม้ผู้หญิงสองคนให้ผู้ชายเลือก จากนั้นเป็นต้นมาไพ่ The Lover ก็กลายเป็น The Lovers ที่มีการเติม ‘S’ เพิ่มเข้ามา จนกระทั่งกลายเป็นไพ่ของการ ‘เลือกตัดสินใจ’ ไปด้วย”

the-lovers-is-not-a-love-card-SPACEBAR-Photo08.jpg

อาจารย์มิ่งอธิบายติดจรวดด้วยดวงตาที่เป็นประกายราวกับกำลังสนุกสนานที่ได้เล่าประวัติศาสตร์และศิลปะของไพ่ให้ใครสักคนฟัง พร้อมเปิดภาพจากหนังสือเล่มสีส้มที่มีชื่อว่า The Fool’s Journey: the History, Art, & Sybolism of the Tarot ของ Robert M. Place ให้ดู ก่อนจะพาสำรวจการให้คำจำกัดความของ Christian (1870) ในหนังสือเล่มเดิมที่บอกว่าไพ่ The Lovers คือตัวแทนของ เทพเจ้าเฮอร์คิวลีส

“ในอีกมุมมองหนึ่ง คริสเตียนเคยให้คำจำกัดความไพ่ใบนี้ไว้ในปี 1870 ว่านี่คือไพ่ตัวแทนของเฮอร์คิวลีสในขณะที่ต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางท่ามกลางแยกสำคัญของชีวิต มีการตัดสินใจว่าอะไรคือความดีหรือความชั่ว โดยใช้ผู้หญิงเป็นสัญญะ ระหว่างความสวยงามยั่วยวนที่อันตราย กับคนที่ดูเรียบง่ายแต่จิตใจดี เพราะฉะนั้นไพ่ใบนี้จึงกลายความหมายไปเป็นทางเลือกของการตัดสินใจ

นอกจากความหมายที่อาจารย์มิ่งกล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีความหมายอีกอันหนึ่งที่สอดคล้องและน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือการให้ความหมายเชิงโหราศาสตร์ โดยไพ่ The Lovers ถือเป็นไพ่ประจำราศีเมถุน ซึ่งเป็นราศีแห่งการพูดคุยเจรจาและใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ นอกจากไพ่ใบนี้แล้ว ราศีเมถุนก็ยังมีไพ่ 8 ดาบ, 9 ดาบ และ 10 ดาบที่ข้องเกี่ยวกันด้วย ไพ่เหล่านี้คือการแสดงออกของการชอบคิด ที่ถูกนำมาเชื่อมโยงทางการให้ความหมายเชิงโหราศาสตร์ว่า หากไพ่ที่แสดงออกถึงความคิดเหล่านี้อยู่ในกลุ่มดาวราศีเมถุน ดังนั้นไพ่ The Lovers ที่อยู่ในดาวราศีเดียวกันก็ต้องให้ความหมายที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ การไตร่ตรอง คิด วิเคราะห์ และตัดสินใจ นั่นเอง

The Just End 

บทสรุปของคำทำนายและไพ่ทาโรต์

the-lovers-is-not-a-love-card-SPACEBAR-Photo09.jpg

การพูดคุยอย่างสนุกสนานที่นานเกือบสองชั่วโมงจบลงโดยไม่รู้ตัว พร้อมกับความสงสัยที่มลายหายไป นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เรียนรู้เรื่องไพ่ทาโรต์ผ่านการตีความที่แท้จริงจากศิลปะและประวัติศาสตร์ แม้จะเขียนเช่นนั้น แต่ไม่อาจกล่าวได้อย่างภาคภูมิว่าบทสนทนาครั้งนี้ไร้ซึ่งความเชื่อเจือปนอยู่

เราต่างมีความเชื่อต่อเรื่องที่สัมผัสไม่ได้ อาจารย์มิ่งเองก็เช่นกัน เราเชื่อว่าการใช้สิ่งต่างๆ ในการพยากรณ์ หรือพยายามติดต่อกับพระเจ้านั้นมีมานานแล้ว อาจมีมาก่อนที่ฝรั่งเศสจะคิดค้นคำว่า Cartomancy ขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ ซึ่งในแง่นี้อาจารย์มิ่งได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า นอกจากคำนี้แล้วก็ยังมีคำว่า ‘Sortilege’ ที่มีความหมายคล้ายกับ การเสี่ยงทาย ที่เคยปรากฏอยู่ในวรรณกรรมของ เชกสเปียร์ เรื่อง ‘ริชาร์ดที่ 3’ (Richard III) ที่ตัวกษัตริย์ทำการเสี่ยงตัวอักษรและพยายามหาว่าใครกำลังปองร้ายเขา เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็พบว่าการกระทำเช่นนี้มีหลักการคล้ายกับไพ่ทาโร่ต์ เซียมซี และไม้ปวยในปัจจุบัน เนื่องจากการเสี่ยงทายนั้นมีองค์ประกอบของความไม่แน่นอนอยู่ ผู้คนจึงมักใช้ช่องโหว่นี้เปิดทางให้เกิดความเชื่อเรื่องการสื่อสารระหว่างพระเจ้ามากขึ้นเรื่อยๆ

the-lovers-is-not-a-love-card-SPACEBAR-Photo10.jpg

หลังจากบทสนทนานี้สิ้นสุดลง ความเชื่อเหล่านั้นไม่ได้จางหายไป ไพ่ทาโรต์ยังคงให้คำทำนายที่เราต่างเลือกได้ว่าจะเชื่อหรือไม่ เพียงแต่วันนี้ หลังจากพูดคุยและได้เปิดวิสัยทัศน์ให้กว้างขึ้น ก็ทำให้เราได้ปรับเปลี่ยนความเข้าใจที่ถูกส่งต่อกันมาว่า The Lovers ไม่ใช่ไพ่ความรักอย่างเดียว แต่คือไพ่แห่งการตัดสินใจด้วย

อย่างไรก็ตามสำหรับใครที่ชื่นชอบการดูหรืออ่านไพ่ทาโรต์อาจารย์มิ่งก็ได้ให้คำแนะนำว่า “ขอให้พยายามวางใจให้เป็นกลางมากที่สุด บางครั้งเราอาจจะพูดคุยกับไพ่แล้วได้พบเจอกับใบที่เรารู้สึกกลัว หรือคิดว่าความหมายของไพ่ที่เราเห็นคือปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อนาคต หากการปล่อยวางทำได้ยากจนเกินไป อาจลองแก้ไขด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดอย่าง การถามหาทางแก้จากไพ่ เพื่อที่จะได้รู้สึกสบายใจมากขึ้น”

ไพ่ทาโรต์ไม่ใช่เพียงแค่สื่อกลางที่คอยให้คำทำนายเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถให้คำแนะนำ คำเตือน และทำให้เรารู้จักนิสัยและสภาวะจิตใจของเราได้ดีขึ้น ไม่มีใครรู้ได้ว่า วันหนึ่งเรื่องราวความเชื่อเหล่านี้จะถูกพิสูจน์ได้จนกลายเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ในอนาคตความเข้าใจทุกอย่างอาจถูกลบล้างด้วยข้อเท็จจริงอันใหม่ก็เป็นได้ แต่สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ ตัดสินใจเลือก ว่าเราจะเชื่อสิ่งใด ทำสิ่งใด และรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร ดังที่ไพ่ The Lovers ได้เป็นตัวแทนนั่นเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์