หน้าตาบูธที่ดูราวกับแกลเลอรีศิลปะในงาน SX2024 ดึงดูดให้เดินเข้าไปแวะชม #เดอะมนต์รักแม่กลอง ก่อนจะรู้จากเจ้าของบูธว่า ที่นี่เป็น #ร้านค้าโชห่วย ขายของดีจากเมืองแม่กลอง (สมุทรสงคราม)
ของดีที่ว่า ก็มีทั้งเกลือ กะปิ น้ำปลา น้ำพริก น้ำผึ้ง น้ำตาล น้ำส้มสายชู ซึ่งทางร้านเคยพูดถึงสินค้าที่วางขายอย่างถ่อมตัว
“เป็นสินค้าธรรมดาๆ ไม่มีความวิเศษวิโส แต่เป็นสินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติ ผ่านขั้นตอนภูมิปัญญา โดยไม่มีการปรุงแต่ง ปลอมปน… หรือผ่านกระบวนการแปรรูปใดๆ”


นึกตามก็จริงอย่างที่คุณเจ้าของร้านบอก คุณสมบัติที่เรียบง่าย ธรรมดา กลับเป็นของหายากเข้าไปทุกทีในโลกอุตสาหกรรมอาหารครองเมือง
ของธรรมดาจากธรรมชาติจึงกลายเป็น #ของดี ท่ามกลางของพิสดารที่โฆษณาหาแสงให้ตัวเองว่าแสนวิเศษ เพื่อสร้างมูลค่าและเพิ่มราคา (ส่วนจะดีจริงไหม คงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป)
ความดีงามของ #เดอะมนต์รักแม่กลอง ที่โดดเด้งเตะตามาก จนเป็นจุดเริ่มต้นให้เรามาทำความรู้จัก คือองค์ประกอบต่างๆ ในร้านที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

ตั้งแต่การตั้งชื่อสินค้า เช่น #ยิ้มทั้งน้ำตาล พร้อมคำบรรยายคุณสมบัติที่เด็ดดวงไม่แพ้กัน
‘น้ำตาลมะพร้อมเนื้อแท้ ไม่ผสมน้ำตาลทราย เป็นน้ำตาลธรรมชาติ หวานปลอดภัย ไม่ทำร้ายสุขภาพ กินได้โดยไม่รู้สึกผิด เพิ่มรสชาติให้อาหารกลมกล่อมมีมิติ’
บรรจุภัณฑ์หน้าตาเรียบเก๋ จนลืมภาพสินค้าบ้านๆ อย่างกะปิน้ำปลาแบบเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง แถมบรรจุภัณฑ์ที่เห็นยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรีไซเคิลได้
รวมถึงการใช้ศิลปะทั้งภาพวาด วรรณกรรม โอบอุ้มสิ่งต่างๆ ในร้านด้วยท่าทีเรียบง่ายแต่งดงามหมดจด
เช่น เล่าเรื่อง #เกลือไทย หนึ่งในวัตถุดิบไฮไลท์ของเมืองแม่กลอง ผ่านหนังสือ #นิทานเกลือ ที่เล่าความสัมพันธ์ของเกลือทะเลที่เชื่อมโยงกับคนและธรรมชาติอย่างแนบแน่น


‘ในโลกอนาคตที่เด็กกำลังเติบโตไป อาหารจากธรรมชาติจะยิ่งเป็นสิ่งมีค่าและหายาก ขอเราจงปลูกฝังความรักในธรรมชาติให้เป็นภูมิคุ้มกันปกป้องชีวิตของพวกเขาในภายภาคหน้าด้วยเถิด’
ข้อความโฆษณาหนังสือ นิทานเกลือ เผยแพร่ที่ FB เดอะมนต์รักแม่กลอง สมุทรสงคราม
ที่หน้า FB เพจ #เดอะมนต์รักแม่กลอง นิยามตัวเองว่าเป็น #โชห่วยชุมชน และ #สื่อชุมชนเพื่อสังคมอุดมคติ สำหรับเรา นี่คือตัวอย่างการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ (ซึ่งเป็นคำที่ดูไม่ค่อยเซ็กซี่) ได้อย่างน่าสนใจ
ถามว่า ส่วนผสมความคิดสร้างสรรค์ของ #เดอะมนต์รักแม่กลอง มาจากไหน?
พี่โจ (เจ้าของร้านที่เรามารู้ชื่อหลังจากถามไถ่พูดคุยไปได้สักพัก เพราะสะดุดตากับภาพพิมพ์หมึกดำจำนวนมากโดยแม่พิมพ์จากขยะโฟม ที่จัดแสดงในบูธ, ส่วนชื่อจริงของแก คือ วีรวุฒิ กังวานนวกุล--ไม่ได้ถามแกตรงๆ แต่ถามอากู๋เอา) บอกว่า นอกจากขายของ แกมีอาชีพเป็นศิลปิน ส่วนคนรัก (ภัทรพร อภิชิต) ที่ร่วมกันก่อตั้งที่นี่ เป็นนักเขียนและอดีตคนทำงานสื่อสารมวลชน ทั้งสองสนใจเรื่องอาหาร สุขภาพ ธรรมชาติ ความเป็นมนุษย์ และความยั่งยืน

ทั้งคู่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่ย้ายมาตั้งรกรากที่สมุทรสงคราม ถ้านับปีนี้ ก็น่าจะร่วม 17 ปีแล้ว ส่วนเหตุผลที่ตัดสินใจย้ายตัวเองมาที่นี่ คนรักของพี่โจเคยเล่าผ่านบทความ “เดอะมนต์รักแม่กลอง” ร้านค้าที่ไม่เน้นขาย และผลกำไรที่ใช้ไม่หมดในชาติเดียว ในทำนองว่าเป็นโชคชะตา
“จะด้วยเหตุผลกลใดหรือเงื่อนไขอันมองเห็นด้วยตาเปล่าได้หรือไม่ก็ตาม เอาเป็นว่าบัดนี้ ฉันได้ย้ายสำมะโนครัวมาตั้งรกรากที่จังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย...”
พอได้มาอยู่ในเมืองแปลกหน้า ทั้งคู่ต่างเกิดความประทับใจสิ่งที่ได้พบเจอและสัมผัส จนอยากบอกเล่าเรื่องราวของเมืองแห่งนี้ให้ผู้คนรับรู้
เริ่มแรกคนรักของพี่โจร่วมกับคณะทำงาน ลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านการทำนิตยสาร #มนต์รักแม่กลอง ซึ่งเป็นนิตยสารท้องถิ่น ด้วยความเชื่อพื้นฐานว่า “ถ้าคนรู้จัก เขาก็จะรัก”

พอผ่านไปหลักหน่วยปี นิตยสารก็ต้องยุติลงตามเหตุปัจจัย แต่ความตั้งใจที่อยากสื่อสารเรื่องราวของเมืองยังคงอยู่ สื่อชุมชนสำนักเล็กๆ แห่งนี้จึงแปลงร่างเป็นร้านโชห่วย #เดอะมนต์รักแม่กลอง บอกเล่าเรื่องราวผ่านสินค้าและวัตถุดิบ โดยไม่ลืมที่จะเหยาะความคิดสร้างสรรค์เพื่อชูรส และสื่อสารผ่านสื่ออื่นๆ เช่น ศิลปะ หนังสือ กิจกรรม ตามวาระโอกาส
บทบาทของ #เดอะมนต์รักแม่กลอง คืออะไร พวกเขาทำไปเพื่อสิ่งใด พวกเขาเคยอธิบายถึงตัวเองไว้อย่างน่าสนใจ
“เดอะมนต์รักแม่กลองวางตัวเองเป็นธุรกิจทางสังคม ใช้การขายของแค่บังหน้า แต่เบื้องหลังคือต้องการสื่อสารเนื้อหา
“ขายเกลือไม่ใช่เพื่อขายความเค็ม แต่เพราะอยากเล่าเรื่องราวความสำคัญของแผ่นดินเกลือและชีวิตชาวนาเกลือซึ่งถูกมองข้ามเสมอ ขายน้ำตาลไม่ใช่แค่ขายความหวาน แต่เพื่อยืนกรานความสำคัญของระบบนิเวศแบบสวนยกร่องและอาชีพชาวสวนตาลแบบดั้งเดิมที่นับวันจะเหลือน้อยลงทุกที ฯลฯ
“มากกว่าขายสินค้า จึงเป็นการส่งผ่านเรื่องราวเพื่อให้สังคมได้รับรู้และร่วมกันสร้างพลังจากนักบริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีกว่าเดิมได้”
ท่ามกลางข่าวร้ายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มย่ำแย่ลงทุกวัน ท่ามกลางสื่อโฆษณาที่ตอกย้ำว่าเราเป็นมนุษย์ที่ขาดพร่อง ต้องเติมความสุขผ่านการบริโภคและวัตถุ การได้พบ #เดอะมนต์รักแม่กลอง ช่วยให้รู้ถึง ‘คุณค่า’ อีกแบบที่มีอยู่ เพียงแค่สื่อกระแสไม่ได้ให้ความสนใจ เป็นคุณค่าใกล้ตัว ของดีใกล้บ้าน วิถีชีวิตที่เลือกทำสิ่งที่รักเพื่อเลี้ยงชีพและเพื่อประโยชน์สุขของผู้คนและชุมชน
ชุมชนที่คนในสังคมคิดถึงหมู่คณะ มากกว่าจะหมกหมุ่นแค่ตัวฉันในฐานะปัจเจก โดยตัดขาดจากผู้อื่น เหมือนที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และอีกหลายหัวเมือง ที่ชวนให้นึกถึงข้อความที่ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ไทย เขียนไว้ในบทความ ที่นี่ประเทศไทย ‘รัฐไร้สังคม’
“ทุกคนล้วนข้องแวะอยู่แต่ข่าวสารบ้านเมืองในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจที่ล้วนแต่อบรมบ่มความคิดให้วุ่นวายอยู่แต่เรื่องวัตถุนิยม ความมั่งคั่งในเรื่องอำนาจและเงินตรา จนขาดความรับรู้ในเรื่องความเป็นมนุษย์ในทางสังคมและวัฒนธรรม”


เรื่องราวที่ #เดอะมนต์รักแม่กลอง เล่าช่วยให้เห็นเนื้อหาไม่ค่อยได้เห็น ได้รู้ในเรื่องที่ไม่ค่อยได้รู้ สมุทรสงครามไม่ใช่แค่จังหวัดทางผ่านไปเที่ยวหัวหิน แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวและมิติต่างๆ มากมาย ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม และของดีจากชุมชนที่มาจากธรรมชาติในถิ่นที่อยู่
ถ้าเป้าหมายของ #เดอะมนต์รักแม่กลอง คือการส่งผ่านเรื่องราวเพื่อเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีกว่าเดิม ในฐานะคนที่ผ่านมาพบ จนนำมาสู่ข้อเขียนนี้ ดูเหมือนพวกเขาจะทำได้สำเร็จ
เพราะพลังของเรื่องราวที่ดี จะสร้างและส่งพลังของเรื่องราวนั้นให้กระเพื่อมไกลออกไป
“ความหลากหลายจะก่อให้เกิดความหลากหลาย ความสมดุลจะรักษาสมดุล และความยั่งยืนคือการส่งผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่คำอุดมการณ์ แต่คือโจทย์แห่งโลกอนาคตที่คำตอบอยู่ในมือเราทุกคน”
เดอะมนต์รักแม่กลอง
