ทำไมเสียงของผู้คนบนโลกออนไลน์ถึงสามารถตัดสินคนในสังคมปัจจุบันได้?

24 มกราคม 2567 - 09:00

toxic-social-judgement-SPACEBAR-Hero.jpg
  • การไหลไปตามกันทั้งโซเชียลฯ ทำให้ดูเหมือนว่า สิ่งที่ถูกต้องแท้จริงกลับกลายเป็นที่ถกเถียงว่าถูกต้องจริงหรือเปล่า คนที่ไม่ได้ทำอะไรผิดกลับกลายเป็นคนไม่มีที่ยืนในสังคม ภายใต้ข้ออ้างเพื่อสนับสนุนความเห็นของตนว่านี่คือ “จริยธรรมทางสังคม”

ยุคสมัยที่ผ่านมา การกระจายข่าวสารต่างๆ จะปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หรือช่องทางอื่นๆ ซึ่งต้องใช้เวลาและผ่านขั้นตอนก่อนเผยแพร่  แต่เมื่อวันเวลาได้เปลี่ยนผันไป การเติบโตของเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญให้วงการข่าวเกิดการพัฒนามากขึ้น นอกเหนือจากการนำเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ แล้วนั้น ยังมีการเผยแพร่ข่าวสารบ้านเมืองผ่านช่องทางโทรทัศน์อีกด้วย ถึงตอนนี้การเผยแพร่ข่าวสารในโลกออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่หลายๆ สำนักข่าวเลือกใช้

Hi5_logo_2.jpg

หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงประมาณ 21 ปีก่อน หรือปี 2003 สังคมโซเชียลฯ ในโลกออนไลน์การแพร่กระจายข่าวสารสู่วงกว้างได้เริ่มอุบัติขึ้น สำหรับเด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก ‘Hi5’ แต่ถ้าเป็นวัยรุ่น 90s น่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี  Hi5 เป็นแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์แรกๆ  ของคนไทย ส่วนใหญ่จะใช้เป็นช่องทางในการพูดคุยกัน ยังไม่มีการเผยแพร่ข่าวสารจากสื่อผ่านช่องทางนี้มากนัก

Facebook_Logo_(2019).png

ในปี 2004 แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อว่า ‘Facebook’ ก็ได้เกิดขึ้นตามมา แต่กว่าจะเป็นที่นิยมในวงกว้างทั้งในไทยและทั่วโลกนั้นก็ใช้เวลาอยู่หลายปี  ถึงตอนนี้ก็ยังคงมีผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก และมีสื่อหลากหลายสำนักที่ใช้ช่องทางเฟซบุ๊กในการเผยแพร่ข่าวสาร

1200x630wa.png

ในปี 2006 ก็มีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ‘Twitter’ หรือในตอนนี้ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘X’ เกิดขึ้นตามมา ถึงแม้ว่าสื่อจำนวนมากจะใช้เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่กระจายข่าว แต่ก็มีสื่อจำนวนไม่น้อยที่เลือกช่องทางทวิตเตอร์ หรือเอ็กซ์ในการเผยแพร่ข่าวสารด้วย

tiktok-icon2.png

และในอีกสิบปีต่อมา ช่วงปี 2016 ได้มีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อว่า  ‘TikTok’ เกิดขึ้นมาซึ่งในแพลตฟอร์มนี้ นอกจากจะมีสื่อจำนวนมากที่ใช้ในการนำเสนอข่าวสารแล้วยังได้เป็นจุดเริ่มต้นของเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์หลายๆ คน 

ทั้ง 4 แพลตฟอร์มที่กล่าวมานี้เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์หลักๆ ที่มีผู้ใช้ชาวไทยจำนวนมาก และการเผยแพร่ข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว  กระชับฉับไว พื้นที่เหล่านั้นจึงทำให้สื่อเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การนำเสนอข่าวสารบ้านเมืองในแต่ละหัวข้อล้วนแล้วแต่มีการแสดงความเห็นจากผู้ที่เข้ามาเสพสื่อทั้งในเชิงบวก และเชิงลบ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สื่อได้นำเสนอออกมา 

หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “โปรดเสพสื่ออย่างมีสติ” เพราะทุกอย่างมีสองด้านเสมอ หลายๆ คอนเทนต์ที่ได้ปรากฏขึ้นในโลกออนไลน์มีทั้งขาวและดำ มีคนจำนวนมากสร้างชื่อเสียงจากการนำเสนอด้านคุณงามความดีจากสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาในโลกโซเชียลจนหลายคนเชื่อสนิทใจว่า ‘เขาคือคนดี’ แต่จริงๆ แล้วเบื้องหลังอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น 

หากลองสังเกตหลายๆ ข่าวที่เกิดขึ้น มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘จริยธรรม’ ปรากฏขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ‘นายเอ’ เป็นคนรักสงบ แต่ได้ทำร้ายร่างกาย ‘ชายข้างบ้าน’ เมื่อมีข่าวนี้ออกมา ชาวโซเชียลฯ จะฟันธงเลยว่า ‘นายเอ’ เป็นผู้กระทำผิด แต่ถ้าหากลองย้อนกลับไปจริงๆ ‘นายเอ’ อาจจะถูก ‘ชายข้างบ้าน’ รายนี้ทำร้ายร่างกายก่อนก็เป็นได้  

เพียงแต่สิ่งที่นำเสนอออกมากลับกลายเป็น ‘ชายข้างบ้าน’ เป็นเหยื่อที่ถูก ‘นายเอ’ กระทำ และผู้เสพสื่อข้างเดียวก็ปักใจแล้วว่านายเอเป็นบุคคลที่นิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ทั้งที่จริงๆ แล้วนายเออาจจะแค่ป้องกันตัวก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ นายเอถูกคนในโซเชียลฯ รุมประณามว่า ‘เป็นคนผิด’ เพราะตัดสินจากภาพที่สื่อออกมา 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ลองตระหนักคิดตามสักนิดกันดีกว่าว่าในตอนนี้เรากำลังเสพสื่อข้างเดียวอยู่หรือไม่ เรากำลังทำให้ใครบางคนกลายเป็นเหยื่อในโลกออนไลน์อยู่หรือเปล่า และในตอนนี้เรากำลังตัดสินใครคนหนึ่งเพียงแค่ภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาหรือไม่ ลองตระหนักคิดกันอีกสักนิดนะชาวโซเชียลฯ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์