เปิดที่มาเจ้าของเสียงในตำนานอันคุ้นหูก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ และขั้นตอนการทำงานก่อนเพลงชาติเริ่มบรรเลง

7 ม.ค. 2568 - 08:31

  • อดีตนักดนตรีจากวงดนตรีสุนทราภรณ์ บุคคลผู้เป็นเจ้าของเสียงในตำนานอันคุ้นหู

  • เสียงนาฬิกาที่บอกเวลาก่อนเพลงชาติจะขึ้นเป็นเสียงที่ดำเนินการผ่านมือบุคคลอย่างตรงเวลาโดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ

voice-of-Legend-prapan-hiranyapruk-SPACEBAR-Hero.jpg

รู้หรือไม่ว่าเสียงที่คุ้นหูและเป็นที่จดจำของคนไทย โดยเฉพาะเด็กไทยในวัยเรียนทุกคนที่ว่า “ธงชาติและเพลงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย เราจงร่วมใจยืนตรงเคารพธงชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราชและความเสียสละของบรรพบุรุษไทย” จริงๆ แล้วเป็นเสียงของอดีตนักดนตรีจากวงดนตรีเพลงไทยสากลวงแรกของประเทศไทย “สุนทราภรณ์” 

และรู้หรือไม่ว่า เสียงนาฬิกาบอกเวลาที่ได้ยินก่อนเพลงชาติไทยจะบรรเลงนั้นเป็นเสียงที่ดำเนินการผ่านมือบุคคลในทุกเช้าอย่างตรงเวลาโดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ มีเพียงเสียงเพลงและเสียงข้อความคุ้นหูเท่านั้นที่ใช้วิธีการเปิดจากเทปที่อัดไว้ 

เสียงที่คุ้นหูเป็นเสียงของอดีตนักดนตรีจากวง “สุนทราภรณ์” 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะเจ้าของเสียงข้อความที่ว่า “ธงชาติและเพลงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย เราจงร่วมใจยืนตรงเคารพธงชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราชและความเสียสละของบรรพบุรุษไทย” จริงๆ แล้วเป็นเสียงของ คุณลุงประพันธ์ หิรัญพฤกษ์ อดีตนักดนตรีของวงดนตรีไทยสากลวงแรกของประเทศไทย 

ตัวคุณลุงประพันธ์เองได้เริ่มต้นรับราชการเมื่อปี พ.ศ. 2510 ที่กรมประชาสัมพันธ์ ในตำแหน่งผู้ประกาศข่าว หลังจากที่ครั้งหนึ่งเคยตระเวนไปแสดงดนตรีและมีผู้ประกาศข่าวมาร่วมชมการแสดง ด้วยความสนใจที่อยากจะลองทำอาชีพผู้ประกาศฯ บ้างจึงไปสมัครสอบที่กรมประชาสัมพันธ์ 

จุดเริ่มต้นที่ได้มาพูดข้อความก่อนเพลงชาติไทยเริ่มบรรเลง 

คุณลุงประพันธ์ได้เล่าว่า จริงๆ แล้วผู้อำนวยการฯ ช่อง 11 ในยุคหลังจากการปฏิวัติปี พ.ศ. 2524 ได้เป็นคนเขียนข้อความนี้ขึ้นมาและมอบหมายให้คุณลุงเป็นผู้อ่าน เสียงดังกล่าวจึงถูกออกอากาศเรื่อยมาตั้งแต่ปีนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไป 30 ปีต่อมาถึง พ.ศ. 2554 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีความต้องการสร้างรายการรวมการเฉพาะกิจจึงได้อัดเสียงใหม่อีกครั้งในข้อความเดิมแต่เป็นน้ำเสียงในปัจจุบัน และเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554  

เสียงนาฬิกาที่บอกเวลาก่อนเพลงชาติขึ้นเป็นเสียงที่ดำเนินการผ่านมืออย่างตรงเวลาโดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ  

ในเรื่องของเสียงนาฬิกาที่บอกเวลาก่อนเพลงชาติขึ้น คุณบุญมา ศรีหมาด ผู้ประกาศข่าวเจ้าของเสียงทุ้มนุ่มลึกอันคุ้นหูทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) กรมประชาสัมพันธ์ ได้ออกมาเปิดเผยผ่านรายการ โต๊ะนี้มีจอง (WHO IS MY CHEF) ของทางช่อง เวิร์คพอยท์ ว่า 

นาฬิกาที่ทางกรมประสัมพันธ์ใช้นั้นเป็นนาฬิกาหัวเตียงโบราณ สาเหตุที่ต้องใช้นาฬิกาตัวนี้เพราะว่าสัญญาณเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นสัญญาณเสียงเดียวกันกับที่ได้ยินจากนาฬิกาบิกเบนที่ประเทศอังกฤษ เพื่อความเป็นสากลที่เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินจะทราบทันทีว่าเป็นเสียงสัญญาณบอกเวลา  

หลังจากที่เสียงข้อความจากคุณลุงประพันธ์ หิรัญพฤกษ์จบ ก็จะต่อด้วยเสียงเพลง ‘พม่าประเทศ’ บรรเลงขึ้น สาเหตุที่ใช้เพลงนี้เพราะตัวเพลงมีจังหวะติ๊กต่อกๆ เหมือนนาฬิกา 

ทันทีที่นาฬิกาบอกเวลา 08.00.00 น. จากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ผู้ประกาศข่าวจะต้องใช้มือตีเวลาทั้งหมด 8 ครั้งเพื่อบอกให้ทุกคนทราบโดยทั่วกันว่าเวลานี้คือแปดโมงเช้า ก่อนที่จะพูดว่า “เวลาแปดนาฬิกา” และเสียงเพลงชาติก็จะเริ่มบรรเลงขึ้น 

เหล่านี้คือกิจกรรมที่ผู้ประกาศข่าวจะต้องทำทุกเช้าในช่วงเวลา 08.00 น. นอกจากที่ คุณบุญมา ศรีหมาด จะเป็นผู้ขานเวลาแปดนาฬิกาแล้วนั้น เขายังเป็นผู้ประกาศข่าวเจ้าของเสียงช่วงเวลา 07.00 น. และ 19.00 น. ที่ว่า “ที่นี่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ต่อไปเสนอข่าวซึ่งมีหัวข้อข่าวดังนี้” และ “จบข่าว บุญมา ศรีหมาด อ่าน” 

เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าประหลาดใจไปพร้อมๆ กัน แน่นอนว่าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมทางกรมประชาสัมพันธ์ถึงไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการตีนาฬิกาบอกเวลา คุณบุญมา ศรีหมาดได้ให้เหตุผลว่า พวกเขาเคยลองกันมาแล้วแต่ไม่เป๊ะแบบใช้มือทำเอง จึงเลือกที่จะทำผ่านมือดีกว่าเพื่อความตรงเวลาและแม่นยำ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์