รอดตายจริงหรืออุปทานหมู่? ขุดความเชื่อสังคมไทย ห้อยพระแล้วจะแคล้วคลาดจริงไหม?

19 เม.ย. 2568 - 10:00

  • ความเชื่อเรื่อง ‘การห้อยพระแล้วจะรอดตาย’ ยังคงเป็นสิ่งที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบัน

  • “ห้อยพระแล้วจะไม่ตาย” สามารถช่วยให้แคล้วคลาดจริงๆ หรือเป็นเพียงอุปทานหมู่ ผ่านเรื่องเล่าจากใครที่ก็ไม่รู้ที่มาก่อนจะผ่านปากต่อปาก

wearing-monk-will-save-from-death-SPACEBAR-Hero.jpg

แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีและการพิสูจน์ความจริงต่างๆ จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า 80% แต่ในสังคมไทยความเชื่อเรื่อง ‘การห้อยพระแล้วจะรอดตาย’ ยังคงเป็นสิ่งที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายส่งต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน  

หลายครั้งที่มีข่าวคราวเรื่องราวของผู้ที่รอดพ้นจากอุบัติเหตุหรือเหตุร้ายแรงต่างๆ เพราะห้อยพระดี พระแท้ จนบางครั้งดูคล้ายกับว่าการมีพระเครื่องห้อยคอไว้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง แล้วความศักดิ์สิทธิ์นั้นอยู่ตรงไหน? หรือเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางจิตใจที่เรียกว่าอุปทานกันแน่? 

ล่าสุดได้มีโอกาสไปชมภาพยนตร์เรื่อง ‘เดอะ สโตน พระแท้ คนเก๊’ ที่ในตอนนี้ยังมีรอบฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ แล้วมองเห็นประเด็นหนึ่งที่ทางผู้กำกับฯ คือ คุณเป้ อารักษ์ ได้สอดแทรกเข้ามาในเรื่องราวผ่านพล็อตการตามล่าค้นหา ‘พระสมเด็จวัดระฆังของเฮียรัตน์’ ที่เชื่อกันว่าหากได้ครอบครองและสวมใส่ไว้กับตัวแล้วจะยิงไม่เข้า กระสุนทำอะไรไม่ได้  

หากมองตามความเชื่อของคนไทยมันเป็นไปได้อย่างแน่นอนกับความเชื่อที่ฝังรากลึกมายาวนาน แต่หากมองในมุมมองของวิทยาศาสตร์พล็อตเรื่องนี้อาจจะดูเกินจริงไปบ้าง แต่บนความเกินจริงนี้กลับสะท้อนแนวคิดและความคลั่งไคล้ในพระเครื่องของคนไทยได้อย่างไม่น่าเชื่อ  

ตัวละครแต่ละตัวล้วนพยายามไขว่คว้าเสาะหาองค์พระที่เชื่อว่ามี ‘พุทธคุณสูงส่ง’ มาไว้ในครอบครอง ทั้งหมดเพราะความหวังว่าจะรอดพ้นจากภยันตรายและต้องการความอุ่นใจว่าจะแคล้วคลาดปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจที่หวังจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างราบรื่นหรือใครก็ตามที่อยากได้พระองค์นี้มาครอบครอง (ขออนุญาตไม่กล่าวเยอะเดี๋ยวจะเป็นการสปอยล์) 

หลังจากที่เดินออกมาจากโรงภาพยนตร์เราครุ่นคิดได้สองคำถาม ‘พระเครื่องช่วยชีวิตได้จริงๆ หรือ?’ และ ‘ความเชื่อเรื่องการห้อยพระที่คอแล้วจะปลอดภัยเกิดขึ้นจากความศักดิ์สิทธิ์จริงๆ หรือเกิดจากการเล่าปากต่อปากโดยใส่สีตีไข่ไปเรื่อยๆ กันแน่?’  

นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วยังทำให้นึกถึงซีรีส์เรื่อง ‘สาธุ’ ทาง Netflix กับฉากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ผู้รอดชีวิตถูกขอให้พูดกับสื่อว่า เพราะห้อยพระองค์นี้จึงรอดตายได้อย่างปาฏิหาริย์ หากแต่ในซีรีส์เรื่องนี้เป็นการจัดฉากขึ้นโดยวัยรุ่นสามคนที่ต้องการหากินกับความเชื่อเรื่องพระเครื่อง 

กลับมาที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘เดอะ สโตน พระแท้ คนเก๊’ หลายฉากในภาพยนตร์ได้พยายามแสดงให้เห็นว่า เมื่อคนเชื่อมั่นในบางสิ่งอย่างสุดใจ ไม่ว่าของสิ่งนั้นจะมีอิทธิฤทธิ์จริงหรือไม่ก็สามารถมีอิทธิพลต่อการกระทำและความรู้สึกของคนได้ เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่องพระเครื่อง คนที่มั่นใจว่าพระที่ห้อยคออยู่นั้นดีก็จะรู้สึกมั่นใจ กล้าทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น ยืดอกทำอะไรได้แบบไม่ลังเล และเมื่อรอดพ้นจากเหตุการณ์เลวร้ายมาได้ก็จะยิ่งเชื่อมั่นว่าทั้งหมดเป็นเพราะพระที่สวมอยู่ที่คอ 

แต่ถ้าถามว่า ‘ห้อยพระแล้วรอดตายมีจริงไหม?’ คำตอบอาจไม่ใช่แค่คำว่าจริงหรือไม่จริง เพราะในสังคมไทยความเชื่อไม่ใช่สิ่งที่ต้องพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์เสมอไป แต่เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจและให้ความหวังกับผู้คน สิ่งที่ควรตระหนักคืออย่าให้ความเชื่อเหล่านี้มาบดบังสามัญสำนึกหรือกลายเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง เพราะ ‘พระแท้’ ที่แท้จริงอาจไม่ใช่สิ่งที่อยู่ที่คอแต่คือสิ่งที่อยู่ในใจและการกระทำที่สะท้อนความดีในตัวของเราเอง 

ภาพยนตร์เรื่อง ‘เดอะ สโตน พระแท้ คนเก๊’ ไม่ได้แค่ตั้งคำถามเรื่องของพระเครื่อง แต่ยังทำให้ได้ต่อยอดความคิดเรื่องความเชื่อที่ยึดถือด้วยว่ามันเป็นความเชื่อที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นไหม หรือเป็นเพียงสิ่งที่หวังจะพึ่งพาเพราะกลัวความจริงที่ต้องเผชิญบนโลกใบนี้กันแน่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์