เมืองไทยเป็น ‘สังคมพหุวัฒนธรรม’ ในท้องถิ่นเก่าแก่ มีวัด มัสยิด โบสพราหมณ์ และวัดคริสต์
สำหรับคนรุ่นใหม่ การทำความเข้าใจวัด โบสถ์ หรือเจดีย์ ยังเป็นเรื่องยากถ้าไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ การเดินเข้าไปในย่านเก่าแล้วชมมัสยิดหรือวัดคาทอลิก จึงอาจเป็นเรื่องยากตามไปด้วย
แต่สำหรับคนชอบศิลปะการละเลยไปถือว่า “คุณพลาด”


บทความตอนนี้เป็นการพยายามทำความเข้าใจ ‘ศิลปะอิสลาม’ งานศิลปะที่เต็มไปด้วยรูปแบบทางเรขาคณิต ลวดลาย และสัญลักษณ์
หรือมองลึกกว่านั้น ศิลปะอิสลามมีอะไรมากกว่าลายเส้นสวยๆ หากเข้าใจที่มาของความสวย จะทึ่งใน “สิ่งที่อยู่เบื้องหลังฟอร์มที่เราเห็นจากข้างนอก”
ศิลปะอิสลาม คืออะไร?
ศิลปะของศาสนาอิสลามเป็นสิ่งสะท้อนมุมมองที่มองศาสนาผ่านความคิดสร้างสรรค์ เราอาจไม่เข้าใจภาษาหรือตัวหนังสืออาหรับ แต่ถ้าเข้าใจที่มาของการออกแบบ หลักการ และวิธีคิด จะช่วยให้มองศิลปะ ที่เป็นความงามสากลอย่าง “มีสุนทรียะ”

ศิลปะอิสลาม คืองานศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงออกถึงความศรัทธาในพระเจ้าและในพระศาสดา ลวดลายที่วิจิตรซับซ้อน ผูกพันกับหลักความเชื่อทางศาสนา เอกลักษณ์ของศิลปะอิสลามเป็นสิ่งที่เกิดจากความศรัทธา มีความเป็นนามธรรม
ทั้งนี้ ในงานศิลปะอิสลามจะไม่มีรูปของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือแม้แต่พระศาสดาและพระเจ้า เพราะพระเจ้าเป็นผู้สูงส่งไม่อาจถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ
อีกทั้งเป็นการลดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความเชื่อและความคิดเห็นที่แตกต่างกันที่คนมีต่อพระเจ้า
ด้วยเหตุนี้ ในมัสยิดจะมีรูปสิ่งมีชีวิตไม่ได้ เพราะอาจถือเป็นรูปเคารพ ศาสนิกชนควรระลึกถึงแต่พระเจ้า ไม่พึงระลึกถึงอย่างอื่น


เมื่อไม่ทำรูปสิ่งมีชีวิต การแสดงออกถึงความศรัทธาในศาสนาอิสลามเป็นการแสดงออกเชิงนามธรรมผ่านสัญลักษณ์และลวดลาย
ลวดลายที่ปรากฏมี 3 แบบในศิลปะอิสลาม ได้แก่
- ลายพรรณพฤกษา
- ลายอักษรอาหรับ
- ลายเรขาคณิต
ลวดลายทั้ง 3 แบบ ออกแบบด้วยสัดส่วนลงตัว และในความสวยงามก็มีความหมายซ่อนอยู่

นอกจากนี้ งานสถาปัตยกรรมอิสลามก็ใช้หลักการเดียวกันในการออกแบบ สถาปัตยกรรมอาจมีรูปแบบแตกต่างกันตามอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น แต่มีหลักการเดียวกันคือ การไม่มีรูปเคารพ หรือรูปสิ่งมีชีวิต โดยเน้นการใช้งานที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่
เราอาจเห็นรูปทรงของศาสนสถานที่มีโดม แต่ก็มีมัสยิดทรงท้องถิ่นที่ไม่มีโดม แต่สะท้อนรูปแบบของท้องถิ่น ศิลปะท้องถิ่น มีการออกแบบให้รองรับสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่

เอกภาพของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมอิสลาม คือ การยึดโยงกับความเชื่อและหลักการทางศาสนา การทำสงคราม การทำการค้า และการเดินทางเผยแผ่ศาสนา ทำให้แนวคิดและหลักการศาสนาอิสลามออกเดินทางไปยังท้องถิ่นต่างๆ เข้าไปรวมและผสมผสานกับศิลปะท้องถิ่น
งานปูนปั้นกอธิคในยุโรปบางแห่ง มีงานฉลุลายที่สะท้อนจริตของช่างอิสลาม แฝงไว้ด้วยความเข้มแข็งของศาสนาที่มีความรู้โดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสถาปัตยกรรม
มีการซึมซับงานศิลปะอิสลามเข้าไปในการออกแบบของช่างยุโรป ช่างเอเชีย เกิดขึ้นอย่างตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ หรือภาพเขียนงานช่างไม้ และงานศิลปะ ปรากฏลวดลายคล้ายลายเส้นของศิลปะอิสลาม อิทธิพลที่ปรากฏเหล่านี้เดินทางเข้ามาพร้อมกับการเผยแพร่ศาสนา


จุดหนึ่งที่คนทั่วไปไม่รู้ คือ งานศิลปะอิสลามที่ดูหรูหราโอ่อ่า แท้จริงแล้วสะท้อนถึง “ความถ่อมตน” เนื่องจากศาสนาอิสลามสอนว่า
- ความสามารถที่สะท้อนความหมายของสถาปัตยกรรมอิสลาม สิ่งที่เราเห็นภายนอกอย่างโดมของมัสยิดไม่ใช่การออกแบบให้ดูสวย แต่แสดงสัญลักษณ์ของท้องฟัา กระตุ้นศรัทธา สื่อถึงพระเจ้า
- รูปทรงของโดมนั้นมีหลายรูปแบบ มัสยิดแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องมีโดม การออกแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น
- พอมองเข้าไปที่ลวดลายในงานศิลปะอิสลาม ทุกลายสื่อถึงพระเจ้าในเชิงนามธรรม ลายพรรณพฤกษา ลายตัวอักษรอาหรับ และลายเลขาคณิตล้วนถูกออกแบบจากพระคัมภีร์

ศิลปะเป็นภาษาสากล ดังนั้น ทุกคนสามารถเรียนรู้ถึงความงามของศิลปะอิสลามได้ แม้ไม่ได้นับถือหรือเข้าถึงหลักศาสนา เพียงเข้าใจถึง “สัญญะ” ที่นักออกแบบสร้างสรรค์ไว้ เช่นเดียวกับดนตรี เราก็จะเข้าใจถึงปรัชญาและความคิดที่ศิลปินสำแดงผ่านงานศิลปะได้
เพราะมากกว่าความงดงามที่เห็น คือศรัทธา ความรู้ ความรัก และสัจธรรมคำสอนที่ซ่อนอยู่ในนั้น

*หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก AAD’s Talks ศิลปะอิสลาม รูปแบบและสุนทรียะ บรรยายโดย อาจารย์วสมน สาณะเสน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง