ชุดปกติขาว หรือ ‘ชุดขาว’ ที่คนเป็นข้าราชการต้องใส่ในการร่วมพิธีสำคัญ นอกจากใส่แล้วต้องติดเครื่องหมายให้ถูกต้อง และสำคัญกว่านั้นต้องปฏิบัติตัวและแสดงออกขณะสวมใส่อยู่ในชุดขาวอย่างระมัดระวัง
ทำไมใส่ชุดขาวต้องสำรวมขนาดนั้น ต้องย้อนกลับไปดูที่มาของ ‘ชุดขาว’ ว่ามีความเป็นมายังไง

ในสมัยโบราณนานมา ขุนนางหรือข้าราชการไทยไม่เน้นสวมเสื้อ (เปลือยท่อนบน) ขณะเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ แต่นุ่งผ้าพระราชทาน ซึ่งเป็นผ้านำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนจะมีลวดลายสวยงามเพียงใดอยู่ที่ศักดินาของผู้นั้น

ตอนนั้นยังไม่มีชุดสีขาวเหมือนตอนนี้ คนไทยเริ่มหันมาใส่ชุดสีขาวจาก ชุดราชปะแตน ที่แผลงมาจาก Racha Pattern ซึ่งเป็นชุดแบบอย่างที่พระราชาทรงมีพระราชดำริ หลายคนคงเดากันถูกว่าพระราชาพระองค์นั้นคือ รัชกาลที่ 5
ย้อนไปในปี พ.ศ.2114-2415 เวลานั้นสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอินเดียและพม่า พอเสด็จไปถึงเมืองกัลกัตตาที่อินเดีย ทรงมีราชปรารภว่า
“เสื้อสูทแบบฝรั่งตะวันตกที่ต้องมีเสื้อเชิ้ตชั้นใน และต้องมีผ้าผูกคอ ถ้าหากใช้ยามมีงานก็พอทน แต่ถ้าใส่ลำลองเที่ยวเล่นก็คงทนร้อนไม่ไหว จึงตรัสสั่งให้ช่างตัดฉลองพระองค์คอปิด มีกระดุมตลอดอก ไม่ต้องสวมเสื้อชั้นในอีก เพราะปิดคอ”

เมื่อช่างตัดมาถวายก็ทรงโปรดด้วยความบังเอิญ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นนายราชาณัตยนุหาร อาสาคิดชื่อถวาย จึงเอาคำมคธ คือ ราช บวกกับภาษาอังกฤษคือ แพทเทิร์น (Pattern) เป็นราชแพทเทิร์น หรือแปลว่า เสื้อแบบหลวง ก่อนจะมาเพี้ยนเป็น ราชปะแตน ตามสำเนียงไทยในภายหลัง ก็เป็นที่นิยมใช้กันมานับตั้งแต่นั้น
ชุดราชปะแตนตามแบบมาตรฐานในสมัยรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วย
- เสื้อสูทสีขาว
- คอตั้งสูง
- ใส่คู่ผ้าโจงสีกรมท่า หรือ “ผ้าม่วง”
- สวมถุงเท้ายาวถึงเข่าและรองเท้าหุ้มส้น
ทั้งนี้ บางทีชุดราชปะแตนก็ใส่คู่กับกางเกงแพร

ข้าราชการไทยใส่ชุดราชปะแตนต่อมาอีก 2 รัชกาล จนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลตอนนั้นภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกกฎหมายวัฒนธรรม 2484 ห้ามนุ่งผ้าม่วงและกางเกงแพร ทำให้เสื้อราชปะแตนหายไปตั้งแต่นั้น

จนไม่นานมานี้ พ.ศ.2523-2531 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เสื้อราชปะแตนกลับมาอีกครั้ง แต่มีปรับรูปแบบการสวมใส่ ไม่ได้มีแต่สีขาว และไม่ต้องใส่คู่ผ้าม่วง แต่ใส่กางเกง พัฒนาจนกลายเป็น ชุดปกติขาว ที่ข้าราชการหรือเอกชนใส่กันในเวลาสำคัญมาจนทุกวันนี้
การแต่งชุดขาวมีระเบียบ วิธี วิถี ธรรมเนียมการแต่ง ต้องมีอินธนู กระดุม กระดุมคอ ระบุสังกัด ถ้าผู้ใส่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต้องแต่งตามระเบียบให้ถูกต้อง

การไปร่วมงานในโอกาสต่างๆ ก็แต่งแตกต่างกัน แต่เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดไม่มีกฎว่าแต่งชุดขาวแล้วห้ามหรือไม่ให้ ไม่ควรทำอะไร แต่เหมือนจะมีความระมัดระวังขึ้นเอง ด้วยถือว่าชุดขาวเป็นชุดที่ได้รับเกียรติอย่างสูง
คนแต่งชุดขาวถือว่ามีเกียรติ และเพราะรากที่มาของชุดขาว ทำให้การสวมใส่ชุดขาวกลายเป็นความระมัดระวัง เคร่งครัด ทั้งกายและใจให้มีขึ้นในตัวผู้สวมใส่