อีสป คือใคร? เจ้าของนิทานสัตว์พูดได้ที่อาจเป็นชาวแอฟริกัน

15 มีนาคม 2566 - 09:40

who-is-aesop-SPACEBAR-Thumbnail
  • อีสป หรือไอซอโปส ผู้ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นเจ้าของนิทานนับร้อย กับเรื่องราวชีวิตที่ไม่แน่ชัด และอาจเป็นชาวแอฟริกันที่มาอาศัยอยู่ในเมืองกรีก

กระต่ายกับเต่าเอย ราชสีห์กับหนูเอย กบปั่นนมให้เป็นเนยเอย นิทานต่างๆ เหล่านี้ล้วนคุ้นหูพวกเรามาตั้งแต่วัยเยาวน์ ทุกคนคงคุ้นเคยกับนิทาน ‘อีสป’ เป็นอย่างดี นิทานสอนใจที่มีตัวละครเป็นสิงสาราสัตว์พูดได้ มีจำนวนกว่าหลายร้อยเรื่อง และปัจจุบันยังคงถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนจำได้ขึ้นใจ ทุกอาจรู้จักกับนิทานอีสป แต่น้อยคนนักที่จะรู้จัก ‘อีสป’ เจ้าของนิทานที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเดียวกันกับโฮเมอร์ (Homer) เจ้าของมหากาพย์อีเลียด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1rkrPF3cwN4zk7ZM8n6irM/f8018dc868ea75ca8f4add1b38184a61/Photo06
Photo: Wikimedia
อีสป (Aesop) หรือชื่อจริงๆ คือ ไอซอโปส (Aisopos) เป็นนักเล่านิทานเกิดที่เมืองเดลฟี (Delphi) ในพื้นที่ที่คนยุคนี้เรียกว่ากรีกโบราณ เมื่อราวปี 650 ก่อนคริสตกาล ว่ากันว่าเขาเป็นทาสที่ชอบเล่านิทานเป็นชีวิตจิตใจ โดยอาศัยเรื่องเล่านิทานปรัมปรามาจากที่ต่างๆ จากคนอื่นๆ ที่เดินทางผ่านมาและผ่านไป มารวบรวมเล่าใหม่เป็นตัวละครสัตว์พูดได้  
 
ไม่มีใครรู้เรื่องราวชีวิตของอีสปมากนัก รวมถึงไม่มีงานเขียนของเขาหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน แต่ยังพอมีหลักฐานเกี่ยวกับชีวิตของเขาผ่านงานของอริสโตเติล (Aristotle), เฮโรโดโตส (Herototus) และพลูทาคอส (Plutarch)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4ugXXKYgCbEKygxZoKAMxk/8b70377fd0f3a4feaa6cf3ed9a255a5b/Photo07
Photo: Wikimedia
อริสโตเติลกล่าวถึงอีสปว่าเขาเกิดเมื่อปี 620 ก่อนคริสตกาลในเมืองอาณานิคมกรีกชื่อเมเซมเบรีย (Mesembria) แต่นักเขียนรุ่นหลังในยุคโรมันกล่าวว่าเขาเกิดที่เมืองฟรีเจีย (Phrygia) บ้างก็ว่าเขาเป็นชาวซาดีสไม่ก็เมืองลิเดีย อย่างไรก็ตาม อริสโตเติลและเฮโรโดโตส บิดาแห่งประวัติศาสตร์ อธิบายเป็นเสียงเดียวว่าอีสปเป็นทาสที่เมืองซามอส (Samos) มีเจ้านายสองคน คนแรกชื่อ ซานทัส (Xanthus) คนที่สองชื่อแลดมอน (Ladmon) หลังจากที่เขาเป็นไท เขาเดินทางไปที่เมืองเดลฟีและใช้ชีวิตจนถึงวันสุดท้าย 
 
ขณะเดียวกันพลูทาคอส  นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกรุ่นถัดมา อธิบายว่าอีสปเดินทางเมืองเดลฟีเพราะได้รับภารกิจจากกษัตริย์โครซัสแห่งลิเดีย (King Croesus of Lydia) แถมยังอธิบายว่าเขาไปสบประมาทชาวเดลฟีไว้ และถูกตัดสินโทษประหารชีวิตจากการที่ไปขโมยของในวิหาร โดยร่างถูกโยนทิ้งลงหน้าผา แต่เรื่องราวทั้งหมดนี้ยังถูกหักล้างโดย เบน เพอร์รี (Ben Perry) ในปี 1965 เพอร์รีอธิบายสิ่งที่พลูทาคอสอธิบายว่าเป็นเพียงเรื่องแต่ง โดยใช้หลักฐานการปรากฎของนิทานอีสปในหนังสือปรัชญา Phaedrus ของเพลโต และช่วงเวลาที่เกิดขึ้นไม่ตรงกันกับที่พลูทาคอสอธิบายไว้ สรุปโดยรวมคือไม่มีใครรู้ว่าชีวิตจริงๆ ของอีสปนั้นเป็นอย่างไรกันแน่
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3n6KX21mYMXesSuwJRDBAR/d9c59ac792995863e1c943dec0f29fea/Photo08
Photo: อีสปกับสุนัขจิ้งจอกพูดได้. Wikimedia
เรื่องราวระหว่างอีสปกับความเป็นเจ้าของนิทานยังคงเป็นอีกเรื่องที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ มีหลายทฤษฎีพูดในทางที่แตกต่างกัน เช่น เขาอาจเขียนนิทานจริงและบรรจุนิทานของเขาในห้องสมุดโครซัส, อีสปเป็นเพียงนักอ่านนิทานที่เล่ากันอยู่แล้ว เป็นต้น โชคดีที่นักเขียนรุ่นหลังในยุคโรมันมีคนรวบรวมเรื่องเล่าของอีสปเอาไว้ แต่บางเล่มก็สูญหาย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่านิทานของอีสปอาจมีมากกว่านี้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/yfx0iNByKFfBrXqOxtLU7/9c26905eccdb379e631eef9f34260772/Phpto09
Photo: ภาพวาดอีสปโดยวาลาเกส. Wikimedia
ในหนังสือ The Aesop Romance มีการอธิบายว่าอีสปมีหน้าตาลักษณะไม่สวยงามตามค่านิยมของคนยุคนั้น แถมจากคำอธิบายนั้นมีลักษณะคล้ายกันกับชาติพันธุ์ในทวีปแอฟริกา มีความเป็นไปได้ว่าอีสปอาจเป็นทาสชาวแอฟริกันที่มาอยู่ในเมืองกรีก เพราะตามหลักแล้วชาวกรีกมักไม่ถูกนำไปเป็นทาส ยกเว้นชาวต่างชาติหรือศัตรู ถึงกระนั้นก็ยังคงเป็นประเด็นเพราะไม่มีใครรู้ที่มาของเขาอย่างแน่ชัดมาตั้งแต่แรก ในยุคหลักมีศิลปินมากมายพยายามวาดรูปเขาในลักษณะผิวขาวบ้าง ผิวคล้ำบ้าง รวมถึงผิวดำ แต่ที่ยังคงอยู่คือใบหน้าที่น่าเกลียดน่าชัง (ตามคำอธิบายในหนังสือ The Aesop Romance คือ ร่างเล็ก, ผิวคล้ำ, ศีรษะใหญ่, เท้าแบน) ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนผลงานของโพรมีทีอัสที่สร้างขึ้นตอนกึ่งหลับกึ่งนอน (ชาวกรีกเชื่อว่าเทพโพรมีทีอัสเป็นคนปั้นมนุษย์) และเป็นใบ้พูดไม่ได้ 
 
แต่ไม่ว่าอีสปเป็นใครมาจากไหน นิทานเรื่องเล่าของเขามักถูกนำมาเล่าเสมอ และเป็นนิทานแสนสนุกที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ที่สำคัญคือมีบทเรียนสอนใจเสมอจนกลายเป็นต้นแบบนิทานยุคหลัง นับว่าเป็นสิ่งล้ำค่าที่ตกทอดให้กับคนรุ่นหลังมายาวนานกว่าสองพันปีเลยทีเดียว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์