ทำไมระบบปัญญาประดิษฐ์ถึงไม่เป็นจุดสนใจของ Apple

23 มกราคม 2567 - 08:02

why-ai-is-not-in-apples-interest-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ท่ามกลางการมาของ machine learning เหล่าบริษัทเทคโนโลยีต่างครอบครองระบบเอไอเป็นของตัวเอง ทำไม Apple ถึงไม่สนใจพัฒนาระบบเอไอ โดยไม่แม้แต่จะกล่าวถึงเลยสักนิด

Samsung หวนคืนสู่เวทีเทคโนโลยีหลังจากปล่อยสมาร์ตโฟน Galaxy S24 แม้ว่าการอยู่บนเวทีจะเป็นเพียงเวลาชั่วคราว แต่สิ่งที่ผู้คนฮือฮาคือการที่ Samsung ได้นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับ S24 หรือที่เรียกว่า ‘Galaxy AI’ เป็นการตอบรับกระแสเอไอที่กำลังมาแรงในช่วงไม่กี่ปีมานี้

Galaxy AI เป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (Generative AI) มีพื้นฐานระบบจาก Gemini AI โมเดลเอไอจาก Google โดยจุดเด่นของการนำ Galaxy AI เข้ามาใช้คือการแปลภาษาแบบเรียลไทม์ สามารถแปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งได้อย่างลื่นไหล โดยภาษาที่ได้รับการแปลมีความผิดเพี้ยนน้อยกว่าเดิม

why-ai-is-not-in-apples-interest-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: AFP

การปรับใช้เอไอเข้ากับสมาร์ตโฟนทำให้วงการเทคโนโลยีตั้งข้อสงสัยถึงบริษัท Apple เพราะนอกจาก Samsung แล้ว Meta ยังมีระบบเอไอเป็นของตัวเอง หรือ Microsoft ก็มีระบบเอไอที่โด่งดังอย่าง OpenAI เจ้าของระบบ Chat-GPT แต่ทำไมบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่ดูน่าจะเดินนำหน้าไปไกลกว่าใครอย่าง Apple ถึงไม่มีการกล่าวถึงเอไอเลยแม้แต่ในงาน WWDC ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอ Apple เองยังพูดคำว่าเอไออยู่แค่สองครั้งเท่านั้น

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า Apple จะปฏิเสธการใช้ machine learning ไปเสียทีเดียว เพราะ Apple ก็มีการนำเอไอมาใช้กับระบบคำอัตโนมัติ (autocorrect) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับ ChatGPT เพื่อให้ผู้ใช้สามารถพิมพ์ข้อความได้สะดวกและแม่นยำยิ่งขึ้น มองดูเผินๆ แล้ว Apple ใช้เอไอแค่เป็นฟีเจอร์หนึ่งในระบบปฏิบัติการเท่านั้น ไม่มีเทคโนโลยี cutting-edge ที่ทำให้โลกสั่นสะท้านเหมือนกับที่ iPhone เคยทำเมื่อปี 2007

why-ai-is-not-in-apples-interest-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: AFP

เมื่อเรามองจากสิ่งที่ Apple เคยทำ เราจะเห็นรูปแบบที่ Apple ใช้อยู่เสมอ นั่นคือการทำสิ่งสิ่งหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังสนใจหรือใช้อยู่ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ในวันที่ Apple ผลิต iPhone สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ได้ใช้สิ่งที่มีอยู่ในช่วงนั้นเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งในช่วงนั้นทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับ Pocket PC เครื่องที่มีลักษณะคล้ายสมาร์ตโฟนในปัจจุบันแต่มีขนาดใหญ่กว่า หนักกว่า และต้องใช้ปากกาสไตลัสในการใช้งาน จ็อบส์เห็นว่าสิ่งนี้ไม่จำเป็น แต่มองไกลยิ่งกว่านั่นคือการใช้จอสัมผัสด้วยนิ้ว (ตอนนั้นมีเทคโนโลยีจอสัมผัสแล้วแต่ยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก) เช่นเดียวกันกับเครื่องเล่น MP3 ที่จ็อบส์เห็นว่าเครื่องในยุคนั้นใหญ่เทอะทะ จุเพลงได้น้อย และมีอายุการใช้งานไม่นาน เขาจึงพัฒนา iPod ขึ้นมา จน Apple ได้กลายเป็นที่พูดถึงในทุกครั้งที่มีงาน WWDC เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ล้ำหน้ามักจบในครั้งเดียวอยู่เสมอ

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า Apple ไม่ได้มีเทคโนโลยีล้ำสมัยมานำเสนอบ่อยๆ ในงาน WWDC เหมือนเมื่อก่อน มีเพียงฟีเจอร์ การอัปเดตซอฟต์แวร์ และรุ่นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก จะมีการพูดถึงอีกทีก็คงเป็น Apple Vision Pro ที่ผลักดันศักยภาพของความเป็นแว่น VR ให้ไกลอีกขั้นจากรูปแบบที่ Apple ใช้มานาน คาดว่าสำหรับตัวเอไอเอง Apple คงไม่นิ่งดูดายไปตลอดแน่ๆ เรื่องนี้เราสามารถเห็นความเป็นไปได้อยู่สองทาง 

อย่างแรก Apple กำลังพัฒนาระบบ machine learning อย่างเงียบๆ อย่างที่เข้าใจกันว่า Apple ไม่เคยสรรสร้างผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ไม่สมบูรณ์แบบ มีความเป็นไปได้ว่า Apple รอวันพัฒนาให้ระบบสมบูรณ์มากพอที่จะล้ำหน้าบริษัทอื่นอย่างที่ Apple เคยทำตลอดมา เราอาจจะเห็นระบบเอไอที่มีศักยภาพมากกว่าที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ บางทีจนถึงตอนนั้นเราอาจเห็นระบบเอไอในแบบที่เห็นในภาพยนตร์เรื่อง Her (2013) ก็เป็นได้

อย่างที่สอง Apple จะไม่มีวันทำระบบ machine learning เป็นของตัวเอง เพราะจุดยืนของสตีฟ จ็อบส์ ในครั้งแรกเมื่อก่อตั้ง Apple คือการมุ่งความสำคัญไปที่อิเล็กทรอนิกส์มากกว่าซอฟต์แวร์ ดังที่เขาเคยกล่าวไว้ในหนังสือชีวประวัติของ วอลเทอร์ ไอแซคสัน (Walter Isaacson) ว่าเขามองวิศวกรฮาร์ดแวร์วาอยู่จุดเหนือสุดในแวดวงเทคโนโลยี มีความเป็นไปได้ว่า Apple ยืนอยู่บนการพัฒนาฮาร์ดแวร์มากกว่าซอฟต์แวร์ ซึ่งระบบเอไอถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่ Apple ทำ จนถึงวันหนึ่งอาจมีวันที่ Apple หยิบยืมระบบเอไอจากบริษัทอื่นมาใช้ หรืออาจนำระบบเอไอมาเป็นพื้นฐานเพื่อพัฒนาเอไอของตัวเอง

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดเดาที่อาจมีความเป็นไปได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร Apple ก็ไม่ได้สูญเสียรายได้ หรือได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีที่มุ่งตรงไปที่ระบบเอไอ อย่าง iPhone นั้นในไตรมาสที่สองปี 2023 แบรนด์ Apple สามารถทำรายได้มากถึง 51.33 พันล้านดอลลาร์จากที่คาดไว้ 48.84 พันล้านดอลลาร์ เป็นต้น ดูเหมือนระบบเอไอจะไม่สร้างความกระทบกระเทือน Apple แม้แต่นิดเดียว คงต้องติดตามกันต่อไปว่า Apple จะเคลื่อนไหวหรือมีท่าทีต่อระบบเอไออย่างไรบ้างในอนาคต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์