กระทำความ Y2K ทำไมชาว Gen Z ถึงกลับไปฮิตเล่นกล้องดิจิทัลยุค 2000s

28 กุมภาพันธ์ 2566 - 09:58

2-why-do-gen-z-bring-back-2000s-digital-shooting-trend-SPACEBAR-Thumbnail
  • ชาว Gen Z เก็บกล้องฟิล์มเข้ากรุ ยกกล้องดิจิทัลตัวจิ๋วขึ้นมาไม่ใช่เพราะต้องการภาพคุณภาพต่ำ แต่มันคือการกลับไปเชื่อมต่อกับผู้คนยุค 2000s เพื่อสะท้อนตัวตนผ่านเลนส์ชิ้นใหม่ (แต่ไม่ใหม่)

“ยุคสมัยมักเปลี่ยนผ่านไปในทางที่ดีขึ้นเสมอ” บางทีประโยคนี้ไม่สามารถใช้ได้กับทุกบริบท แต่สำหรับเทคโนโลยีเราคงปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่ามันกำลังก้าวหน้าไปสู่สิ่งที่ดี พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ ยกตัวอย่างกล้องถ่ายรูป คงไม่มีใครนึกว่าวันหนึ่งจะมีวันที่มันพัฒนามาถึงขั้นถ่ายทอดสิ่งที่เราเห็นในวิดีโอขนาด 4K หรือวิดีโอความละเอียด 8.29 ล้านพิกเซล ชัดเสียจนต้องปวดตากันไปข้าง 
 
แต่ต่อให้กล้องมันจะชัดแค่ไหน บริษัทผลิตกล้องถ่ายรูปออกมากี่รูปแบบ หรือจะมีฟังก์ชันกล้องถ่ายรูปในเครื่องสมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่น ดูเหมือนว่าชาว Gen Z หลายคนกำลังมีกระแสหวนคืนกลับไปใช้กล้องดิจิทัลยุค 2000s กัน ซึ่งมีคุณภาพของภาพน้อยกว่า ไฟล์เล็ก แถมยังย้ายข้อมูลยากอีกด้วย ทำไมจู่ๆ มันก็เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น?
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3svM1OLhWEFF2SIJatyIF/4ac0bd7c9144befd1717d4a3185f2eeb/2-why-do-gen-z-bring-back-2000s-digital-shooting-trend-SPACEBAR-Photo01
Photo: digicam.love /Instagram
จริงๆ เรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นที่น่าแปลกใจนัก เพราะก่อนหน้านี้ชาว Gen Z ก็เคยฮิตใช้กล้องฟิล์มกันมาก่อน ฮิตมากเสียจนฟิล์มผลิตไม่ทันจนราคาขึ้นสูงโด่ง บางคนพูดเชิงขบขำว่า “ถ้าไม่รวยจริง ถ่ายกล้องฟิล์มไม่ได้” เพราะฟิล์มบางตัวมีราคาถึงม้วนละ 500 บาท บางตัวสูงเฉียด 1,000 บาท จากนั้นกระแสก็เริ่มลดลงไปเนื่องจากราคาฟิล์มที่เอื้อมถึงยาก และนี่เองที่กระแสการถ่ายรูปถูกเปลี่ยนผ่านไปยังกล้องดิจิตอลตัวจิ๋วที่เซนเซอร์ขนาด 2-3 ล้านพิกเซล กับขนาดไฟล์ที่ซูมดูจนภาพแตกละเอียด 
 

การสะท้อนตัวตนผ่านเลนส์ 

ตามปกติแล้วมนุษย์มักเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการสร้างความหมาย หรือคุณค่าให้กับตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งเป็นนิสัยปกติของมนุษย์ที่ต้องไต่ระดับให้สูงกว่าคนอื่นๆ ในฝูง แต่นั่นคงเป็นบริบทของสัญชาตญาณเดิมในยุคโบราณที่ยังคงส่งผลมายังโลกปัจจุบัน ถึงเราจะไม่ได้อยากใช้กิ่งไม้ฟาดใครสักคนเพื่อเป็นจ่าฝูง เราก็ยังมีวิธีการบ่งบอกคุณค่าตัวเองผ่านสิ่งต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการถ่ายรูป 
 
ในอดีตการถ่ายรูปเป็นเพียงการบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญ ไม่ต่างอะไรจากการวาดภาพในยุคโบราณที่ต้องบอกเล่าเหตุการณ์ บอกเล่าเรื่องราวในศาสนาและความเชื่อ ตลอดไปจนถึงสร้างโลกเสมือนขึ้นมาให้เป็นที่ประจักษ์ ยกตัวอย่างเช่นในบ้านของชาวโรมันโบราณมักมีการวาดภาพสวนดอกไม้ และสัตว์นานาชนิด เพื่อเป็นการจำลองยกสวนพืชพรรณมาไว้ในบ้าน และในการจำลองภาพเหล่านี้เองล้วนเป็นการจำลองภาพผ่านสายตาของศิลปินที่สามารถสะท้อนตัวตนของผู้คนของยุคนั้นได้อย่างดี 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3lOLadcx0ob0keEGzsddOa/cf4993c2dd6a6565a433915af93c2272/2-why-do-gen-z-bring-back-2000s-digital-shooting-trend-SPACEBAR-Photo02
Photo: digicam.love /Instagram
เพราะฉะนั้นทุกภาพวาด ตลอดจนภาพถ่าย สายตาที่พยายามจำลองภาพ หรือบันทึกภาพแต่ละฉาก แต่ละเหตุการณ์ ทั้งหมดเป็นการกลั่นกรองจากกระบวนการคิดที่ถูกหล่อหลอมจากสังคมรอบข้าง รวมถึงค่านิยมของผู้คนแห่งยุค การถ่ายรูปจึงเป็นมากกว่าการถ่ายรูป มันเป็นการถ่ายทอดตัวตนของแต่ละคนออกมาในภาพ 
 
ว่าแต่ทำไมชาว Gen Z ต้องสะท้อนความเป็นตัวตนผ่านกล้องคุณภาพต่ำด้วย? หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง ทำไมถึงกลับไปถ่ายฟิล์มกันตั้งแต่แรก? ถ้าพูดกันตามตรง ไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิตอลปี 2000s หรือกล้องฟิล์ม ทั้งสองอย่างไม่ต่างอะไรจากลูกเล่น หรือฟิลเตอร์ที่อยู่ในอินสตาแกรมเลย 
 

วิธีการต่างหากที่สำคัญ 

ฟิลเตอร์ในอินสตาแกรมเป็นการจำลองให้อารมณ์ภาพจากกล้องชนิดต่างๆ ในอดีต รวมถึงเป็นเหมือนการสร้างลูกเล่นภาพออกมาให้มีสีสัน ในช่วงการมาแรกๆ ของอินสตาแกรมเราอาจเห็นแค่ฟิลเตอร์ขาวดำที่จำลองฟิล์มขาวดำ ฟิลเตอร์ซีเปีย หรือฟิลเตอร์สีจัดจ้านที่จำลองจากภาพจากกล้องโลโม่ การใส่ฟิลเตอร์ในภาพนั้นไม่ต่างอะไรจากการที่เราใช้สายตาในการหามุมกล้อง มันเป็นหนึ่งในวิธีการนำเสนอตัวตนผ่านรูปภาพ แต่แทนที่เราจำลองมันด้วยการใส่ฟิลเตอร์ ทำไมเราไม่เข้าหาสู่ความดั้งเดิมของมันเลยล่ะ อย่างการถ่ายภาพจากกล้องที่ให้อารมณ์เหมือนในฟิลเตอร์  เช่น กล้องฟิล์ม เป็นต้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4Lwkiv1lY3Y2RUnVG4QRTM/fe4bc41f2547a7ff2a502615c1aef107/2-why-do-gen-z-bring-back-2000s-digital-shooting-trend-SPACEBAR-Photo03
มีงานวิจัย ว่าการทำอะไรที่มีขั้นตอน หรือมีกระบวนการ จะเป็นการสะท้อนความเป็นตัวเองผ่านการกระทำนั้นๆ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่กลับมาชื่นชอบกล้องฟิล์ม การที่ได้ถ่ายรูปโดยอาศัยความสามารถในการเรียนรู้แสง และระบบกล้อง และไปจบอีกทีในห้องล้างและห้องอัด เป็นการเพิ่มความหมาย และความสำคัญไปในรูปถ่าย และเมื่อเกิดการแชร์ภาพเหล่านี้แก่คนอื่นๆ มันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่า ความเอาใจใส่ หรือกระบวนการคิดของผู้ถ่าย  
 
เช่นเดียวกันกับกล้องดิจิทัลยุค 2000s สายไฟที่ระโยงระยาง การย้ายข้อมูลที่ต้องเพิ่มขั้นตอน กับคุณภาพภาพที่ได้นั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการคิด และความคิดสร้างสรรค์ ที่นอกจากจะสะท้อนความเป็นตัวตนผ่านภาพแล้ว เรายังได้ผูกโยงเข้ากับยุคสมัยและความคิดของผู้คนในยุค 2000s อีกด้วย 
 
การกลับไปถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัลยุค 2000s นั้นไม่ต่างอะไรจากที่ชาว Gen Z หันไปนิยมสวมใส่เสื้อผ้าแฟชันจากยุค 2000s หรือที่นิยมเรียกกันว่า Y2K หรือ Year 2000 การหวนกลับคืนสู่อดีต หรือโหยหาความเรืองรองในอดีต เป็นการต่อยอดและเสริมสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นของคนยุคใหม่ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4XAN66Hup5wkLh6eJsMjkx/c1a937b263b9b54b0b94b24b22b3bcb0/2-why-do-gen-z-bring-back-2000s-digital-shooting-trend-SPACEBAR-Photo04
Photo: digicam.love /Instagram
ชาว Gen Z อาจไม่อินกับของเทคโนโลยีในยุคนี้ นั่นอาจเป็นเพราะมันปัจจุบันเกินไป และปัจจุบันคือความน่าเบื่อ ถ้าคนยุคนี้สามารถเห็นแฟชัน หรือเทคโนโลยีในอนาคตสัก 50 ปีข้างหน้า เราอาจเห็นผู้คนเดินไปมาด้วยเสื้อผ้าดีไซน์อนาคต เพียงแต่พวกเรายังไม่เห็นอนาคตเท่านั้น สิ่งที่พวกเรามองเห็นตอนนี้คืออดีต และเราสามารถรับรู้ถึงความนิยมของมันในยุคนั้นจริงๆ ผ่านร่องรอยจากสื่อ เช่น ภาพถ่ายยุคนั้น หรือหนังรอมคอมเก่าๆ จึงไม่แปลกที่ใครสักคนจะอยากสัมผัสถึงเอโธส (ethos) หรือความเรืองรองของปี 2000s  
 
ดังนั้น ชาว Gen Z ไม่ได้ถ่ายรูปดิจิทัลตัวเล็กเพื่อต้องการไฟล์ภาพเล็ก กับนอยส์เยอะๆ พวกเขาต้องการเชื่อมต่อกับผู้คนในอดีต กับต้องการนำเสนอตัวตนผ่านกระบวนการดั้งเดิมที่สามารถมอบความหมายได้ไม่เหมือนกับกล้องมือถือที่เน้นสะดวก และรวดเร็ว ที่สำคัญเราไม่ได้มีแค่กลุ่มคนที่นิยม Y2K แต่เรายังมีกลุ่มคนอื่นที่ฟังเพลงแนว City Pop ที่ฟังแล้วเหมือนย้อนกลับไปยุค 80s-90s แม้แต่คนที่ฟังเพลงลูท (Lute) เพื่อพยายามเชื่อมต่อกับคนในยุคเรเนอซองส์ในยุโรป เพียงแค่คนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก และเข้าถึงผู้คนทั่วโลกได้มากเท่า บริทนีย์ สเปียร์, หนังเรื่อง Notting Hills, หรือวิดีโอเกม 8 บิต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์