ทำไมการรีไซเคิล ‘เสื้อผ้า’ ถึงยากกว่าที่คิด?

26 ก.ค. 2566 - 04:37

  • ปัจจุบันแบรนด์เสื้อผ้าหลายแบรนด์ผลิตเครื่องนุ่งห่มมากเกินความจำเป็น และหลายคนไม่รู้ว่าเสื้อผ้านั้นรีไซเคิลยาก มีปัญหาในการรีไซเคิลมากกว่าที่คิด

why-recycled-clothes-are-so-hard-2-SPACEBAR-Thumbnail
ในโลกปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องนุ่งห่มยังคงผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง และผลิตออกมาในปริมาณมหาศาล อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากกว่าความจำเป็นของมนุษย์ เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ทุกคนเริ่มให้ความสนใจกับเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าที่เริ่มหันมาเน้นการออกแบบเพื่อสามารถหมุนเวียนมาใช้งานใหม่ได้ หรือที่เรารู้จักกันกับคำว่า ‘รีไซเคิล’  
 
ทว่าเราอาจไม่ค่อยได้ยินกับการรีไซเคิลเสื้อผ้ามากเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับการรีไซเคิลพลาสติกอย่างขวดน้ำ หรือขวดแก้ว นั่นเป็นเพราะว่าการรีไซเคิลเสื้อผ้าเป็นเรื่องยากกว่าที่คิด และเป็นสาเหตุว่าทำไมคนถึงออกมาต่อต้านเรื่องอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชัน (Fast Fashion) อย่างแบรนด์ H&M, Zara และแบรนด์อื่นๆ ที่มักออกคอลเลคชันเสื้อผ้าเกือบทุกฤดูกาล 
 
ในช่วงหลังมานี้ด้วยกระแสของเรื่องฟาสต์แฟชัน ทำให้ H&M และ Cotton On หันมาใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์ และผ้าฝ้ายรีไซเคิลแทน แต่ปัญหาคือวัสดุรีไซเคิลที่ว่าไม่ใช่วัสดุที่มาจากเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว แต่เป็นโพลีเอสเตอร์ที่มาจากขวดพลาสติก และผ้าฝ้ายที่มาจากขยะอุตสาหกรรม 

ทำไมการรีไซเคิลเสื้อผ้าถึงยากนัก? 

การรีไซเคิลเสื้อผ้านั้นไม่ง่ายเหมือนการรีไซเคิลเศษแก้ว กระดาษ หรือเศษเหล็ก เพราะเสื้อผ้า รวมถึงเครื่องนุ่งห่มอื่นๆ มีส่วนประกอบที่หลากหลาย และแตกต่างกัน เช่น เสื้อแจ็กเก็ตที่มีส่วนของซิป กระดุมเป็นเหล็ก หรืออลูมิเนียม และมีผ้าชนิดอื่นอีก 5 ชนิด เป็นต้น ดังนั้นเสื้อผ้าจึงไม่ค่อยเหมาะกับการรีไซเคิลสักเท่าไรนัก เพราะต้องอาศัยแรงงานในการแยกวัสดุต่อเสื้อผ้าหนึ่งชิ้น และต้องใช้ทุนมหาศาลในการจ้างแรงงานเพื่อคัดแยก 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3MGC1MBI3Ur8xzwslhs4na/ac6d7cdaa4eaaddf12349537ee791e8b/why-recycled-clothes-are-so-hard-2-SPACEBAR-Photo01
สำหรับเสื้อผ้าที่เป็นใยธรรมชาติทั้งชิ้นก็อาจนำไปรีไซเคิลได้ด้วยการปั่นให้กลายเป็นด้ายอีกครั้ง แต่ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อทำการปั่นผ้าที่ใช้แล้ว ความคงทนของเนื้อด้ายจะลดลง จึงจำเป็นต้องใช้ด้ายใหม่เข้ามาผสมเพื่อให้แข็งแรงพอสำหรับการผลิตเสื้อผ้าชิ้นใหม่ ไม่นับเรื่องสีของเสื้อผ้าที่จำเป็นต้องฟอกสีทิ้งและย้อมใหม่ รวมๆ แล้วกว่าจะรีไซเคิลเสื้อผ้าได้ต้องใช้แรงงาน และทุนเป็นจำนวนมากเช่นกัน 
 
ทั้งหมดที่กล่าวมาอาจฟังดูสิ้นหวัง แต่ว่าพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทำให้มีหลายบริษัทหาทางแก้ด้วยวิธีต่างๆ มากมาย  
 
อย่างเช่น บริษัท BlockTexx และ Evrnu  โดย BlockTexx พยายามพัฒนาวิธีการรีไซเคิลเศษผ้าที่ได้จากการปั่น  ด้วยการแยกเซลลูโลส (ที่มีอยู่ในผ้าฝ้ายและผ้าลินิน) และแยกโพลีเอสเตอร์จากเสื้อผ้าใช้แล้ว ส่วนบริษัท Evrnu พัฒนาเส้นใยไลโอเซลล์ (Lyocell) ที่สร้างจากเศษผ้าและเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว นอกจากนี้ยังมีเส้นใยสังเคราะห์ที่สามารถหลอมโพลีเอสเตอร์ให้กลับมาใช้ใหม่ได้ 
 
ทางแก้เหล่านี้ฟังดูเป็นไปได้ในเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ไม่สามารถหนีห่างจากการโพลีเอสเตอร์จากขวดพลาสติกมาช่วยเสริมอยู่ดี เพราะต้องอย่าลืมว่าเรายังประสบปัญหากับการลงทุนคัดแยกส่วนประกอบของเสื้อผ้าอย่างเสื้อแจ็กเก็ตที่กล่าวไปข้างต้น 

ปัญหาเรื่องไมโครพลาสติก 

อย่างที่กล่าวไปว่าเส้นใยโพลีเอสเตอร์ล้วนมาจากขวดพลาสติก และส่วนประกอบประมาณ 60% ของเสื้อผ้าล้วนทำจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ปัญหาที่ตามมาอีกเรื่องคือ เศษไมโครพลาสติกที่เกิดขึ้นจากการสวมเสื้อผ้า และการปั่นซักผ้า เศษเส้นใยพลาสติกเหล่านี้จะไหลไปตามน้ำและลงสู่แหล่งน้ำจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6kK9eVE5SjVmlbqTAVolc1/622d8787fec5b9d3ef586695b4be72dd/why-recycled-clothes-are-so-hard-2-SPACEBAR-Photo02
ผู้เชี่ยวชาญจึงมีการกล่าวว่าการที่เราจะช่วยได้คือการสวมใส่เสื้อผ้าให้นานขึ้น รวมถึงซื้อเสื้อมือสองมากกว่าซื้อเสื้อใหม่ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล แต่นั่นก็ไม่สามารถเทียบเท่าได้กับปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าอีกหลายแบรนด์ (ที่ผลิตออกมาเกินความจำเป็น)  
  
อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนยีที่กำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดหย่อน บางบริษัทพยายามผลิตเส้นใยที่มาจากธรรมชาติ และย่อยสลายได้จริง คาดว่าในอนาคตเราอาจได้สวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวบริษัทจากแบรนด์เสื้อผ้าหลายๆ แบรนด์ก็ต้องทำความเข้าใจถึงความจำเป็นของการผลิตคอลเลคชันเสื้อผ้าออกมาใหม่ในแต่ละปีอีกด้วยก่อนที่โลกนี้จะสายเกินแก้ด้วยเช่นกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์