ในโอกาสพิเศษที่จะมีพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในวันอาทิตย์นี้ (27 ตุลาคม) หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมการพายเรือพระที่นั่งต้องมีการ “เห่เรือ” ทำไมไม่ให้จังหวะ แล้วพายเรือไปเฉยๆ หรือถ้าอยากให้ครึกครื้นทำไมไม่เปิดเพลงแล้วพายเรือ

เหตุผลที่ขบวนเรือพระที่นั่งต้อง “เห่” นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ‘พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย’ อธิบายไว้ว่า การเห่เกิดขึ้นเมื่อเวลาคนมากทำการอันใดที่จะต้องออกแรงในขณะเดียวกัน มักใช้ศัพท์สัญญาณอย่างหนึ่งอย่างใดสำหรับ ‘บอกจังหวะ’ ให้ทำพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ การเห่มี 2 โอกาส คือ เห่ในพระราชพิธี อย่างเห่เรือพระที่นั่ง กับเห่สำหรับเล่นเรือของคนธรรมดาชาวบ้าน
การเห่เรือไม่ได้มีแต่ในวัฒนธรรมไทย อินเดียก็มีการบอกจังหวะเช่นกัน

ในอินเดียคำขึ้นต้นการเห่ คือ “โอมรามะ” น่าจะเป็นการแสดงความเคารพเทพเจ้า ‘รามะ’ หรือ ‘ราม’ คือพระนารายณ์ในแบบไทย
ตำราเห่เรือ มีคำว่า “สวะเท่” "ซาลวะเห่" และ "มูลเห่" จึงเป็นไปได้ว่าเราเอาการเห่เรือ มาจากอินเดีย
สิ่งสำคัญที่มากับการเห่ คือการแต่งกลอนประกอบการเห่ เป็นกาพย์หรือโคลงกลอนที่เรียกว่า “บทเห่เรือ” เพื่อให้เกิดความไพเราะ เนื้อหาอธิบายความงามของเรือพระที่นั่ง เรือในขบวนเรือ หรือบางครั้งก็มีเนื้อหาไม่เกี่ยวกับเรือเลย

เช่น บทเห่ชมเครื่องคาวหวานของรัชกาลที่ 2 ที่บรรยายถึงอาหารและความงาม ไม่ว่าจะเป็นบทเห่แบบไหน ในการบทกลอนที่ขับร้อง แฝงไว้ด้วยการให้สัญญาณของขบวนเรือ บอกถึงการออกเรือ การพาย การนำเรือพระที่นั่งเข้าเทียบ
นอกจากเห่ อีกสิ่งหนึ่งที่ให้จังหวะ คือ การกระทุ้งเส้า (เอาไม้เส้ากระทุ้งเพื่อให้จังหวะฝีพาย) แทนการเห่
ถึงตรงนี้ คงพอได้คำตอบใช่ไหมว่า “เห่…ไปทำไม” “เห่…มาจากไหน” และ “ทำไม…ต้องเห่”