ทำไมกองทัพต้องแสดงแสนยานุภาพในวันเด็ก?

13 มกราคม 2567 - 03:03

why-the-government-shows-military-force-to-children-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ทำไมเด็ก (โดยเฉพาะเด็กชาย) มักมีภาพจำควบคู่อยู่กับปืนของเล่น จากงานวิจัยของนักจิตวิทยาชี้ว่าทั้งหมดเกิดจากภาพจำที่ผู้ปกครองมอบให้ และแนวคิด ‘ความรุนแรงล้วนอยู่ภายในมนุษย์ทุกคน’

ทุกๆ วันเด็ก ทางกองทัพไทยจะมีการจัดกิจกรรมวันเด็กด้วยการขนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถถัง ปืนต่างๆ และการจัดแสดงเครื่องบินแบบผาดโผน เกิดเป็นคำถามเกือบทุกปีเช่นกันว่า “ทำไมรัฐบาลต้องแสดงแสนยานุภาพให้กับเยาวชน” หรือเกิดเป็นประเด็นดราม่าอยู่ตลอดว่าสมควรหรือไม่?

คำว่าสมควรหรือไม่สมควร คือการมองว่าสิ่งที่กองทัพทำอาจทำให้เยาวชนรู้จักความรุนแรงจากอาวุธตั้งแต่เนิ่นๆ หรือมองว่าอำนาจทางการทหารคือสิ่งที่น่าเห็นดีเห็นชอบ ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงแล้ว มีแค่ประเทศไทยที่มีการแสดงอาวุธเพียบพร้อมให้กับเยาวชน แต่มีอยู่ทั่วโลกทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย เป็นต้น แต่อาจมีความแตกต่างคือต่างประเทศมักจัดแสดงในวันกองทัพ หรือวันพิเศษของประเทศนั้นๆ ต่างหาก ซึ่งจุดประสงค์หลักนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการแสดงถึงความเพียบพร้อมของกองทัพ อันมีนัยยะถึงสองอย่างคือ อย่างแรก การปลูกฝังให้รักชาติ อย่างที่สอง คือการสร้างความสบายใจว่าประเทศมีกำลังมากพอที่จะปกป้องประเทศได้

why-the-government-shows-military-force-to-children-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: AFP

ในกรณีปลูกฝังให้รักชาติ คือการจัดแสดงอาวุธของกองทัพนั้นเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรู้สึกว่าทหารเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เข้มแข็ง บางคนอาจต่อยอดความคิดอยากเป็นทหารกันมากขึ้น ถ้าพูดในกรณีถึงความรุนแรง ผศ.ดร.นิธิดา แสงสิงแก้ว อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะว่าควรมีการ ‘ให้ความรู้เกี่ยวกับบริบท’

"ถ้าเราไม่มีการให้ข้อมูลและข้อจำกัดในการใช้ ในตอนนั้นเราก็ไม่แน่ใจว่าเด็กจะเชื่อมโยงการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลอาวุธตรงหน้ากับประสบการณดั้งเดิมของแต่ละคนอย่างไรบ้าง และอาจต้องเน้นการให้ข้อมูลสำหรับกลุ่มอาวุธ เช่น ปืน ให้มากด้วย"

why-the-government-shows-military-force-to-children-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: AFP

ประเด็นนี้ไม่ต่างอะไรกับเรื่องวิดีโอเกมและความรุนแรง หากเยาวชนมีการคิดวิเคราะห์ การถูกเลี้ยงมาดี และมีสังคมที่ดี ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น เพราะเยาวชนไม่สามารถถูกกีดกันจากความรุนแรงที่เกิดจากสื่อได้ เพราะเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น พวกเขาจะยังพบกับความรุนแรงในหน้าหนังสือพิมพ์ สื่อเว็บไซต์ โทรทัศน์ และเหตุการณ์รอบตัวอยู่ดี ดังนั้นแล้ว การแสดงอาวุธให้กับเยาวชนไม่ได้ก่อความรุนแรงในตัวเด็กเอง หากมีคนชี้นำที่ดี

ไมเคิล ทอมป์สัน (Michael Thompson) นักจิตวิทยาเด็ก มีงานวิจัยชี้ว่าแม้แต่การเล่นต่อสู้กันในวัยเด็กไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงในชีวิตจริง อาวุธนั้นทำให้เด็กมีประสบการณ์กับอารมณ์ที่หลากหลายตั้งแต่ความกลัวไปจนถึงการเป็นฮีโร่ และยังเป็นการมอบโอกาสให้พวกเขามีพื้นที่ในการคิดและรับรู้โลกมากขึ้น สิ่งสำคัญคือการต่อสู้ การเล่นอาวุธ เป็นการส่งเสริมให้พวกเขารู้สึกถึงการปกป้องคนอื่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของเด็กที่กำลังรู้สึกว่าตัวเองกำลังอ่อนแอ 

ทำไมเยาวชนถึงชอบ ‘อาวุธ’ ตั้งแต่แรก

เรื่องนี้กลายเป็นคอมมอนเซ้นส์ เมื่อเราเดินตามงานต่างๆ ที่มีการขายของเล่น เราจะพบเด็กโอบกอดปืนอัดลม หรืองานกาชาดเองยังมีส่วนของการยิงปืนของกองทัพ แม้แต่ในห้างเรายังพบกับปืนของเล่นที่ขายอยู่แผนกของเล่น ในเมื่อเยาวชนเป็นเหมือนผ้าขาว ทำไมพวกเขา (โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย) ถึงชอบอาวุธกันมาตั้งแต่เด็ก?

เอริกา ไวส์แกรม (Erica Weisgram) อาจารย์จิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-สตีเวนส์ พอยต์ อธิบายว่าเรื่องนี้เป็นปัจจัยเชิงชีววิทยาและวัฒนธรรม มีหลักฐานว่าฮอร์โมนเพศชายมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เพศชายนิยมเล่น แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเพศชายชอบอาวุธปืน แต่มีการศึกษาว่าครอบครัวนิยมให้ของเล่นที่คิดว่าเหมาะกับเพศชายให้กับลูกชาย เมื่อเด็กโตขึ้นจนสามารถแยกแยะความแตกต่างทางเพศได้ เขาจะคิดทันทีว่าอาวุธปืนคือของเล่นสำหรับเพศชายไปโดยปริยาย

why-the-government-shows-military-force-to-children-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: AFP

อีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘ความรุนแรงคือธรรมชาติของมนุษย์’ ถ้าว่ากันตามแนวคิดเชิงมนุษยศาสตร์ ความรุนแรงจัดเป็นเรื่องธรรมชาติที่อยู่กับมนุษย์มาเพื่อเอาตัวรอดในสังคมมาตั้งแต่โบราณ โดยประโยชน์ของความรุนแรงในอดีตคือการต่อสู้ฝ่ายตรงข้ามเพื่อเอาตัวรอด เพื่อชิงพื้นที่ หรือเพื่อแย่งชิงทรัพยากร เพราะฉะนั้นแล้ว มนุษย์ทุกคนจะมีความรู้สึกของการเป็นผู้นำ หรือผู้ปกป้อง โดยส่วนมากเป็นเพศชาย ตามระบบสังคมยุคเก่าคือผู้ชายคือผู้ล่า ผู้หญิงคือผู้ครองเรือน ดังนั้น การที่เด็กรู้สึกดึงดูดอาวุธตั้งแต่แรก อาจเป็นเพราะการได้มีปฏิสัมพันธ์กับอาวุธเป็นการเพิ่มความมั่นใจว่าตัวเองสามารถเป็นผู้ปกป้องได้ หรือสามารถปกป้องคนที่ตัวเองรักได้นั่นเอง

เพราะฉะนั้นแล้วคำแนะนำที่ดีที่สุด ที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรงอย่างแท้จริง คือ การเลี้ยงดูจากสถาบันครอบครัว และการเรียนรู้จากสถาบันการศึกษา ไม่ใช่ที่ตัวเยาวชน เมื่อใดที่เยาวชนมีความรู้และการคิดวิเคราะห์เป็นภูมิคุ้มกันอันสำคัญ เมื่อนั้นพวกเขาจะสามารถแยกแยะได้ว่าเรื่องใดคือเรื่องสมมติ (ไม่ว่าจะเป็นของเล่น หรือวิดีโอเกม) เรื่องใดคือความจริง และสิ่งใดคือความถูกต้องที่ควรปฏิบัติ

why-the-government-shows-military-force-to-children-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์