ว่าด้วยเรื่องผู้หญิงมีประจำเดือนกับการถูกห้ามเข้าพระอุโบสถในวัดไทย

8 มี.ค. 2566 - 08:17

  • ผู้หญิงมีประจำเดือนกับการเข้าโบสถ์พุทธดูไม่มีความเกี่ยวโยงกัน เพราะไม่มีระบุในศาสนาพุทธ แต่ทุกวันนี้วัดบางแห่งยังคงมีการติดป้ายห้ามผู้หญิงเข้าโบสถ์ ซึ่งสามารถอธิบายด้วยเหตุผลหลายประการ

why-they-dont-allow-women-on-period-enter-sacred-grounds-SPACEBAR-Hero
ผมยังจำเหตุการณ์หนึ่งได้สมัยมัธยมต้นที่เคยพาอาจารย์ชาวเยอรมันไปเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจังหวัดนอกจากบุรีรัมย์ที่มีสถาปัตยกรรมขอมโบราณที่มีอายุเก่าแก่เกือบพันปี และนอกจากจะมีเขาพระวิหารแล้วยังมีโบสถ์เก่าแก่กระจายอยู่ตามพื้นที่ ผมเผอิญเจอพุทธสถานอยู่แห่งหนึ่ง ดูจากภายนอกก็รู้ทันทีว่าคือสถาปัตยกรรมขอมที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หลังจากที่จอดรถ และพยายามจะก้าวขาเข้าไปในพื้นที่โบสถ์ ผมสงสัยว่าทำไมอาจารย์ต่างชาติถึงไม่เดินตามผมมา 
 
ผมผงะพร้อมกับเห็นป้ายทางเข้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “ห้ามผู้หญิงเข้า” ซึ่งอาจารย์ผมเขาเป็นผู้หญิง ผมยังคงจำได้ว่า ณ เวลานั้นผมไม่สามารถอธิบายให้เขาฟังได้ว่าทำไมเขาถึงห้ามผู้หญิงเข้า สำหรับชาวต่างชาติที่ยกย่องเรื่องความเท่าเทียมคงสงสัยกับเรื่องนี้ไม่น้อย แต่เชื่อว่าคงไม่มีแค่เขาคนเดียว เพราะผมก็สงสัยเช่นกัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2p8qq8laVwoYL9b27RXBtM/48473eeef73c2594521dd721aaef9083/why-they-dont-allow-women-on-period-enter-sacred-grounds-SPACEBAR-Photo01
Photo: Wikimedia
ชาวไทยหลายคนอาจเคยเห็นวัดไทยติดป้ายห้ามผู้หญิงขึ้นพระอุโบสถตรงทางเข้า  ถ้าพบกันโดยมากคือภาคเหนือ และพอมีอยู่บ้างทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นวัดเก่าแก่ และเป็นวัดที่มีพระบรมสาริกธาตุประดิษฐานอยู่ บางแห่งมีกฎชัดเจนว่าห้ามผู้หญิงที่มีระดู (ประจำเดือน) เข้าวัด เพราะอาจทำให้ความขลัง หรือความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุ หรือวัดลดน้อยลง แน่นอนว่าถ้าเราพูดกันบนฐานของความเท่าเทียมกัน ผู้หญิงดูเหมือนเป็นฝ่ายที่แม้แต่โอกาสในการไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังคงมีน้อยกว่าเพศชาย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3hdqWmNq5d5isfskmRYrMK/d193cba8810cb608dfd61839a39a6cf6/why-they-dont-allow-women-on-period-enter-sacred-grounds-SPACEBAR-Photo02
Photo: Giles Ji Ungpakorn
หากว่ากันตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ประเด็นเรื่องประจำเดือนกับพระพุทธศาสนาไม่เคยปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มใด และหากพูดกันแค่เฉพาะการเข้าวัดกราบไหว้บูชาโดยทั่วไปก็ยังไม่มีพระวินัยไหนกล่าวห้ามผู้หญิงเข้าเขตพระอุโบสถเช่นกัน ถ้าเราจะหาต้นตอของกฎข้อห้ามข้อนี้ เราคงไม่สามารถหาได้จากหลักพระพุทธศาสนา แม้แต่พระไพศาล วิสาโล ยังกล่าวว่าประจำเดือนผู้หญิงไม่ใช่สิ่งที่แปดเปื้อนมีราคี เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือเรื่องกรรม 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6pcQV4BjwRFEISm0fVHDDW/659e2496a5af496a00c08628e87cadd6/why-they-dont-allow-women-on-period-enter-sacred-grounds-SPACEBAR-Photo03
Photo: Giles Ji Ungpakorn
เราอาจต้องเขยิบจากเรื่องศาสนาไปยังเรื่องความเชื่อภูมิปัญญาที่อาจมีส่วนกับการห้ามให้ผู้หญิงไม่ว่าจะมีประจำเดือนหรือไม่ก็ตามเข้าวัด หรือที่เคยได้ยินกันว่าเป็น ‘กุศโลบาย’ การใช้ความเชื่อเพื่อควบคุมให้สังคมอยู่อย่างสงบสุข อย่างกรณีของผู้หญิงมีประจำเดือน ซึ่งผู้หญิงคงเข้าใจอาการกันดีว่าร่างกายสามารถหมดเรี่ยวแรงได้ง่าย ที่วัดทางภาคเหนือมักติดป้ายกัน อาจเป็นเพราะว่าวัดทางภาคเหนือต้องเดินขึ้นบันไดที่สูงชัน รวมถึงอาจมีการปีนป่าย การปล่อยให้ผู้หญิงมีประจำเดือนขึ้นบันไดสูงๆ นั้นสามารถส่งผลร้ายได้หลายอย่าง เช่น พลัดตกลงมา เป็นลมสลบไป เป็นต้น  
 
แต่ปัญหายังติดอยู่ที่ว่าแม้แต่วัดที่ไม่ได้อยู่ในที่สูงก็ยังมีการติดป้ายห้ามผู้หญิงเข้าอยู่ดี กุศโลบายที่ว่าไม่อยากให้ผู้หญิงหมดแรงคงไม่สามารถนำมาใช้อธิบายได้ทั้งหมด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/fC67glA82X4IcT1cb8FHK/d3ea9f2f09172c0968ee99f5668566e0/why-they-dont-allow-women-on-period-enter-sacred-grounds-SPACEBAR-Photo04
Photo: พระอินทร์ลงมือสังหารวฤตระ. Photo: Wikimedia
สิ่งที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือเรื่องอิทธิพลความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู ที่เข้าในประเทศไทย เพราะชาวฮินดูเชื่อว่าระดู หรือประจำเดือนผู้หญิง เป็นสิ่งสกปรก และไม่บริสุทธิ์ ความเชื่อนี้มีมานานตั้งแต่ยุคพระเวท มาจากเรื่องราวที่พระอินทร์ลงมือสังหารวฤตระ (สัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายงู หรือมังกร) ซึ่งหลังจากที่พระอินทร์ลงมือสังหารได้สำเร็จ พระองค์กลับรู้สึกผิดเพราะวฤตระ ถึงจะเป็นอสูรแต่ก็เป็นอสูรที่เรียนวิชาพราหมณ์ (จัดว่าเป็นวรรณะสูง) ด้วยความรู้สึกผิดพระอินทร์จึงขอให้เพศหญิงแบกรับความรู้สึกผิดนี้ไว้ผ่านการชำระล้างด้วยเลือด อันเป็นที่มาของระดู ซึ่งความจริงแล้วเป็นบทลงโทษที่ยัดเยียดให้แก่เพศหญิง 
 
ดังนั้นแล้วชาวฮินดูเชื่อว่าระดูเป็นเหมือนความผิดบาป และการนำความผิดบาปเหล่านี้เข้าไปในเทวสถานถือว่าเป็นการลดความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า ซึ่งถ้าย้อนกลับไปตอนที่ผมเล่าตอนต้นเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมขอมโบราณ เราคงได้คำอธิบายแล้วว่าทำไมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวขอมถึงห้ามผู้หญิงเข้า โดยเฉพาะผู้หญิงมีประจำเดือน แต่ถึงกระนั้นยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าทำไมผู้หญิงทั่วไปที่ไม่มีประจำเดือนถึงเข้าไม่ได้ บางทีอาจเป็นเพราะเวลาผู้หญิงเป็นประจำเดือนคงไม่เที่ยวบอกใครว่าตัวเองประจำเดือนมา หรือคนทั่วไปเอง็คงไม่รู้จากภายนอก จึงทำการติดป้ายห้ามผู้หญิงไปเลยก็เป็นได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6hWEFsgjCtU06PaomcEn6b/a0047ce8773312aebd59cb5ca129f315/why-they-dont-allow-women-on-period-enter-sacred-grounds-SPACEBAR-Photo05
Photo: งานจิตรกรรมโจฬะ. Photo: Wikimedia
ความผสมปนเปทางด้านความเชื่อไม่ใช่เรื่องแปลกในไทย ถึงเราจะเห็นว่าประเทศกัมพูชาในอดีตล้วนนับถือศาสนาพุทธ แต่พวกเขายังคงนับถือเทพเจ้าต่างๆ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีหลักฐานชี้ชัดมาตั้งแต่สมัยทวารวดี รวมถึงสมัยศรีวิชัยที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียสมัยราชวงศ์โจฬะ เมื่อช่วงปีคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 หลังจากนั้นเป็นต้นมาประเทศไทยได้กลายเป็นเมืองพุทธผสมพราหมณ์ ทั้งในเรื่องของพิธีกรรมที่มีพราหมณ์มาประกอบพิธีกรรม พุทธประวัติที่มีเทพฮินดูอยู่ในเรื่อง ไปจนถึงความเชื่อที่ประจำเดือนอาจทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของวัดเสื่อมลง 
 
ถ้าเราหันมามองในกรอบของความเท่าเทียมกันแล้ว และตัดเรื่องความเชื่อออกไป มันก็คงดูไม่ยุติธรรมกับการที่ผู้หญิงถูกห้ามเข้าเทวสถาน หรือพุทธสถาน ยิ่งถ้าเราคำนึงถึงว่าพุทธศาสนาแท้จริงเป็นอย่างไร หรือตอกย้ำว่าประเทศไทยคือเมืองพุทธเถรวาท ไม่ใช่พุทธพราหมณ์ ผู้หญิงทุกคนควรสามารถเข้าวัดและอารามได้ตามปกติ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎ ข้อห้าม และความเชื่อที่ผูกโยงเข้ากับธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ล้วนเป็นความพึงพอใจทางจิตวิญญาณของผู้คนในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์