วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของ Soft Power ไทย หลัง ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล ให้สัมภาษณ์กับต่างประเทศถึงการเติบโตและขยับขยายของวงการสื่อบันเทิงไทย

13 มีนาคม 2567 - 08:59

will-thai-entertainment-fail-or-fly-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ประเทศไทยพร้อมที่จะจริงจังกับความมุ่งมั่นที่มีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ และเปิดตัว สำนักงานวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย ด้วยงบประมาณ 7 พันล้านบาท เพื่อช่วยส่งเสริมสื่อบันเทิงและศิลปะของประเทศได้อย่าง ‘แท้จริง’ และ ‘ยืนยาว’ จริงหรือไม่?

  • วิเคราะห์บทสัมภาษณ์ ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล ที่ให้สัมภาษณ์กับต่างประเทศถึงการเติบโตและขยับขยายของวงการสื่อไทย

หากกล่าวถึง ‘Soft Power’ ในปัจจุบัน เราคงไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอย่างแรกเริ่มเดิมที กลับกันคงทำหน้าเหยเกเบื่อหน่ายกับคำคำนี้เต็มประดา เพราะมันถูกนำมาใช้พูดให้ความหวังแก่ผู้คนอย่างเกลื่อนกลาดจนน่าระอาสิ้นดี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ Variety สื่อบันเทิงขนาดใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการเปิดเผยว่า ‘ประเทศไทยพร้อมที่จะจริงจังกับความมุ่งมั่นที่มีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ และวางแผนที่จะเปิดตัว สำนักงานวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย ด้วยงบประมาณเจ็ดพันล้านบาท’ แต่คำถามตามมาที่น่าครุ่นคิดคือสิ่งนี้จะช่วยส่งเสริมสื่อบันเทิงและศิลปะของประเทศได้อย่าง ‘แท้จริง’ และ ‘ยืนยาว’ หรือไม่?

สำนักงานวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย มีจุดหมายปลายทางหลักคือการผลิตภาพยนตร์ไทยให้โด่งดังไกลถึงฮอลลีวูด จีน และอินเดีย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการถ่ายทำซีรีส์ ‘The White Lotus’ ซีซั่น 3 ที่มีศิลปินชาวไทยอย่าง ‘ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ร่วมแสดงด้วย โดยรัฐบาลเชื่อว่าด้วยองค์ประกอบที่พร้อมด้วย  ‘คุณภาพ’ หลายด้าน ทั้งสถานที่ที่มีความหลากหลาย ทีมงานที่มีทักษะ สิ่งอำนวยความสะดวกในสตูดิโอ และแนวคิดสร้างสรรค์ จะสามารถช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้

will-thai-entertainment-fail-or-fly-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ละคร วิมานสีทอง

องค์ประกอบที่มี ‘คุณภาพ’ อาจฟังดูเลิศหรูและน่าสนใจในสายตาของต่างชาติและผู้ที่ได้ยินได้ฟังเป็นอย่างมาก แต่หากหันมองกลับมาพิจารณาถึงสิ่งที่เรามีอยู่ เครื่องมือ เงินทุน แรงงาน กฏหมายที่ช่วยครอบคลุมดูแล และที่สำคัญ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ยังคงเป็นปัญหาที่คิดไม่ตกและแก้ไม่ออกสำหรับวงการสื่อบันเทิงของไทย เรายังคงเห็นรูปแบบวิธีการนำเสนอโครงเรื่องรูปแบบเดิมๆ มานานหลายสิบปี เนื้อหายังคงวนเวียนอยู่ที่ความริษยาและการตบตีแย่งชิงเพื่อความรัก ทรัพย์สิน และชื่อเสียง

แม้หลายคนจะกล่าวโทษผู้ผลิตเป็นส่วนใหญ่ที่ทำให้วงการสื่อบันเทิงบ้านเราไม่ขยับเขยื้อนไปไหน แต่สำหรับผู้เขียน อยากให้ทุกท่านลองสวมแว่นของการทำธุรกิจและเพ่งพินิจในเรื่องนี้ว่ามีภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มากมายที่พยายามปรับเปลี่ยนเนื้อหาและวิธีนำเสนอให้มีความหลากหลาย น่าสนใจ และทันสมัยมากขึ้น เช่น Project S The Series ของค่าย GDH ที่นำเสนอเรื่องราวระหว่างชีวิตกับกีฬา ด้วยมุมมองที่แตกต่างจากเดิม ผ่านตัวละครที่มีความบกพร่องทางด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อสะท้อนภาพชีวิตของผู้คนที่จะต้องผจญภัยใช้ชีวิตแต่ละวันในปัจจุบัน แม้จะเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ แต่ซีรีส์ชุดนี้ก็กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร สื่อหลายสื่อเริ่มหาหนทางปรับเปลี่ยนพร้อมๆ กับพยายามประนีประนอมเพื่อพยุงรายได้ให้อยู่รอด เริ่มมีการนำซีรีส์จากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เข้ามารีเมคมากขึ้นเพื่อหวังดึงความนิยมของผู้คนในประเทศที่ไหลออกไปข้างนอกกลับเข้ามา แต่ก็ยังไม่สามารถพาตัวเลขผู้ชมกลับมาให้สูงได้เท่าการนำเสนอเนื้อเรื่องแบบเดิมๆ แล้วผู้ผลิตควรต้องทำอย่างไร?

นี่อาจเป็นอีกหนึ่งคำถามและปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยต้องหาวิธีทางแก้ไขให้ได้เช่นกัน เพราะหากผู้ผลิตเขยิบแนวคิดของตน แต่ตัวตนของผู้เสพไม่ได้เปิดใจตาม สำนักงานรัฐบาลใด หรือนโยบาย Soft Power ด้านไหนๆ ก็ไม่อาจช่วยเปลี่ยนแปลงปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง

will-thai-entertainment-fail-or-fly-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ละคร Project S The Series | SOS skate ซึม ซ่าส์

สำนักงานวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในกลางปี พ.ศ.2568 โดยมีเงื่อนไขการลงมติในรัฐสภาและข้อผูกพันด้านเงินทุนจากกระทรวงต่างๆ โดย ดร.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้อำนวยการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติให้สัมภาษณ์กับ Variety ก่อนงาน FILMART พร้อมเผยว่าคณะอนุกรรมการที่มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าได้รับอำนาจให้เริ่มปฏิรูปอุตสาหกรรมภาพยนตร์ (และสารคดีขนาดยาว) เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้พวกเขาหวังที่จะช่วยลดภาระในการเซ็นเซอร์ ช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพสถานที่ต่างๆและการทำเอกสารขออนุญาต ตลอดจนการการันตียอดขายและการระดมทุนเพื่อขยายอุตสาหกรรมในท้องถิ่น

“แคนาดา โรมาเนีย และไอซ์แลนด์เป็นพื้นที่ที่ได้รับส่วนลดอยู่แล้วหากเกิดการถ่ายทำในประเทศเหล่านี้ ตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังเสนอส่วนลด 50% หากถ่ายทำในประเทศของพวกเขา อินเดียเสนอที่ 40% ตอนนี้เราจะต้องทำให้ประเทศไทยสามารถขยายส่วนลดไปได้ถึง 30% แต่ก่อนอื่นเราต้องพิสูจน์ว่าสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงโดยการทำให้สื่อบันเทิงไทยเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ” ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านภาพยนตร์กล่าวกับวาไรตี้ (เดิมทีประเทศไทยเสนอส่วนลด 15% พร้อมโบนัสเพิ่มเติม 5% สำหรับโครงการที่ถ่ายทำในพื้นที่ท้องถิ่นขนาดใหญ่)

นอกจากนี้ ยังมีการเผยว่าในส่วนของการเซ็นเซอร์ก็กำลังได้รับการเปลี่ยนแปลง คณะกรรมการเซ็นเซอร์ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่ 4-3 คนอยู่เหนือสมาชิกในอุตสาหกรรม ได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้เสียงข้างมาก 3-2 คน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คาดว่าอาจมีการตัดสินใจเซ็นเซอร์ด้วยระบบการให้คะแนน “เราเป็นพลเมืองโลก และพลเมืองโลกจำเป็นต้องมีกรอบความคิดที่เป็นสากล ขอบเขตวัฒนธรรมของเราไม่เพียงพออีกต่อไป” ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล กล่าว

ผู้เขียนเองหวังว่าในอนาคตมุมมองต่อการนำเสนอสิ่งต่างๆ ของผู้คนจะเปิดกว้างมากขึ้น ผู้ผลิตสื่อควรได้มีอิสระเสรีในการนำเสนอมุมมองที่มีความแปลกใหม่ ประเด็นอย่างภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ที่ต่อสู้เพื่อให้ภาพยนตร์ของตนเองถูกยกเลิกแบนมากว่า 11 ปีจะได้ลดน้อยลง และวงการสื่อของเราจะได้กลายเป็นผู้นำที่กล้าคิดกล้าทำ กล้าแตกต่างเสียที

will-thai-entertainment-fail-or-fly-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: ภาพยนตร์ สัปเหร่อ

เหนือสิ่งอื่นใด ผู้เขียนก็หวังว่าเราจะได้รับการสนุบสนุนอย่างยั่งยืนและมั่นคงจากรัฐบาล วารสารนิเทศศาสตร์ธุรกิจบัณทิตย์ ระบุไว้ว่า การที่จะทำให้ซอฟต์พาวเวอร์นั้นได้ผลจริงและยั่งยืนต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 5 ข้อ ได้แก่ 1. ต้องมีเป้าหมายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 2. มีผู้เล่นหลักอันได้แก่ รัฐ ทุน และผู้ผลิต 3. มีเนื้องานตามเป้าประสงค์ใหญ่ 4. มียุทธศาสตร์การจัดการที่ซับซ้อนต่อเนื่อง 5. มีการลงทุนขนาดใหญ่ ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะเริ่มเข้าใกล้กระบวนการคิดและปฏิบัติเหล่านี้เข้าไปทุกที ไม่แน่ว่าความหวังครั้งนี้อาจกลายเป็นความจริงที่หล่อเลี้ยงจุนเจือใจศิลปินทุกคนในประเทศก็เป็นได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์