สัปดาห์นี้จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร จากนั้นจะสรุปรายงานเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อไป
หลายคนตั้งความหวังไว้สูงกับนิรโทษกรรมครั้งนี้ หลังเฝ้าเพียรทำกันมานานร่วมสอง ‘ทศวรรษ’ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และหวังให้หนนี้เป็นการศึกษาครั้งสุดท้าย จึงได้เห็นบรรยากาศการรอมชอม ยืดหยุ่น จากนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง-ยกเข่ง มาเป็นการ ‘แยกปลาแยกน้ำ’ แทน
ขอส่งคนส่วนใหญ่ขึ้นฝั่งไปก่อน ที่เหลือคดีสำคัญมีความละเอียดอ่อนให้แขวนเอาไว้ ค่อยหาช่องทางอื่นพิจารณาเยียวยา ดูแลกันต่างหากในโอกาสต่อไป
จากบทสรุปที่ว่า จึงได้เห็นการออกแบบทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ที่ได้จัดทำฐานความผิดจำแนกออกเป็น 25 ฐานด้วยกัน โดยแยกเป็นความผิดหลัก ความผิดรอง และความผิดที่อ่อนไหว รวมทั้ง หานิยามคำว่า ‘แรงจูงใจทางการเมือง’ เอาไว้ด้วย
ทุกอย่างถูกออกแบบไว้เสร็จเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการพิจารณาการนิรโทษกรรมด้วย มีรายละเอียดปรากฎอยู่ในเอกสาร 2 เล่มใหญ่ คือ ‘นิยามแรงจูงใจทางการเมือง’ กับรายละเอียดฐานความผิด เหลือเล่มที่ 3 อยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นของคณะกรรมาธิการทุกคน คือ คดีที่มี**‘ความอ่อนไหว’** เกี่ยวกับ มาตรา 110 และมาตรา 112
เบื้องต้น ‘นิกร จำนง’ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ได้สรุปความเห็นที่ประชุมเกี่ยวกับคดีที่มีความอ่อนไหวเอาไว้ 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1. ไม่ให้รวม มาตรา 112 และมาตรา 110 เข้าไปในการนิรโทษกรรม
กลุ่มที่ 2. เห็นสมควรให้มีการนิรโทษกรรม มาตรา 112 และมาตรา 110 โดยไม่มีเงื่อนไข
กลุ่มที่ 3. ให้รวมทั้งสองมาตราเข้าไปในการนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข
ดังนั้น ที่ประชุมจึงมอบหมายให้กลุ่มที่ 3 ไปกำหนด ‘เงื่อนไข’ การนิรโทษกรรม เพื่อนำมาสรุปและรายงานเข้าที่ประชุมในครั้งถัดไปที่จะมีขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย
‘ชัยธวัช ตุลาธน’ กรรมาธิการจากพรรคก้าวไกล ที่เป็นโต้โผใหญ่ในกลุ่มที่ 3 ขยายความเกี่ยวกับเงื่อนไขการนิรโทษคดีที่มีความอ่อนไหวเอาไว้ว่า
‘ก่อนที่จะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาว่า จะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ จะต้องมีการมาแถลงข้อเท็จจริงของผู้ที่กระทำผิดหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ว่าเหตุใดจึงกระทำการไปแบบนั้น มีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างไร ทำไมจึงเชื่อแบบนั้น แม้กระทั่งอาจจะถูกถามว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่อย่างไร
และอาจจะเปิดโอกาสให้คู่กรณีหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด หรืออาจมีการกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องไปผ่านกระบวนการอื่นๆ หรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และอาจจะต้องรับเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งภายในเวลากี่ปี’
ชัยธวัช ย้ำชัด ๆ ในตอนท้ายไว้อีกว่า
‘นี่จะเป็นบัฟเฟอร์ให้สังคมไทยในเวลาเปลี่ยนผ่าน และลดความขัดแย้งทางการเมือง โดยภายหลังจากได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว อาจจะต้องเข้าร่วมกิจกรรม หรือกระบวนการ หรือรายงานตัวอย่างต่อเนื่อง’
ชัยธวัช ตุลาธน ที่สวมหมวกผู้นำฝ่ายค้านฯ มีความคาดหวังกับการนิรโทษกรรมหนนี้อย่างมาก โดยเริ่มตั้งแต่เดินสายไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบเปิดใจกับแกนนำกลุ่มสีเสื้อ และเคยบุกไปถึงวัดอ้อน้อย จับเข่าคุยกับอดีตพระพุทธอิสระ ก็ไปมาแล้ว
จนมาถึงการรับบทประนีประนอม ยอมยืดหยุ่น ขอเดินทางสายกลางในชั่วโมงนี้
แต่เมื่อเปิดเข้าไปดูไส้ในความเห็นของ 3 กลุ่ม ที่เผยแพร่อยู่ในเวปไซต์ของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้แล้ว ชัยธวัชและคณะ ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่สาม ไล่ชื่อดูแล้วมีแต่ ‘คนกันเอง’ ในพรรคก้าวไกล กับนักวิชาการและเอ็นจีโออีกเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
ส่วนที่เหลือทุกพรรคไม่มีใครเอาด้วย ทั้งภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา ประชาฺปัตย์ แม้แต่พันธมิตรเก่าอย่างพรรคเพื่อไทย ยังเสียงแตก!!
‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ไม่ให้ความเห็น ‘นพดล ปัทมะ’ ไม่เห็นด้วย มีเพียง ‘นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์’ อดีตแกนนำเสื้อแดงขอนแก่น ที่เห็นด้วย และที่น่าตกใจคือ ‘ขัตติยา สวัสดิผล’ ที่แรก ๆ บ่ายเบี่ยงไม่ออกความเห็น โดยเมื่อถึงคิวต้องพูดในที่ประชุม มักจะเดินออกจากห้องประชุมไปก่อน
แต่สุดท้ายลูกสาวเสธ.แดง(พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) ก็เลือกที่จะไม่ให้ความเห็นเช่นกัน
คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ได้มีความเห็นร่วมกันว่า จะ ‘ไม่มีการลงมติในเรื่องคดีที่มีความอ่อนไหว’ แต่จะให้ทุกคนได้แสดงความเห็นเป็นรายบุคคลและบันทึกไว้ เพื่อนำความเห็นดังกล่าวบรรจุไว้ในรายงานเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาต่อไป
แม้จะเป็นผลศึกษาที่เปิดกว้างเอาไว้ ไม่ **‘ปิดประตู’**การนิรโทษกรรมคดี มาตรา 110 และมาตรา 112 แต่จากจุดยืนของตัวแทนแต่ละพรรคการเมือง ทั้งการแสดงความเห็นในที่ประชุมกรรมาธิการฯ และได้ให้ความเห็นต่อสาธารณะในหลายโอกาส ที่ล้วน ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวทั้งสองมาตรา
การนิรโทษกรรมหนนี้ ที่หลายคนโดยเฉพาะพรรคสีส้มฝันไว้ไกล สุดท้ายคง ‘ไปไม่ถึง’ ต่อให้เสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร พลิกมาเล่นกับกระแสยอมให้การสนับสนุน แต่คงยากที่จะฝ่าด่าน**‘สภาสีน้ำเงิน’** ไปได้
จึงเป็นนิรโทษกรรมที่ฝันไว้ไกลแต่ไปไม่ถึง..