การประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติด่วนของพรรคเพื่อไทย ประเด็นขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ในวันนี้ (17 มีนาคม 2568)
ไม่ใช่คิวแทรกระหว่างศึกซักฟอก!!
แต่การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่คาสภามาตั้งแต่เริ่มมีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแล้ว ซึ่งคงพอๆ กับข้าวสิบปีไม่เน่านั่นแหล่ะ เพราะเพื่อไทยรู้ว่าสามารถใช้เป็นอาวุธทางการเมือง ล่ามฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนเอาไว้ได้
หลังเล่น ‘ปาหี่’ แก้รัฐธรรมนูญกันมาหลายฉากหลายตอน ชนิดตบจูบๆ พอๆ กับละครหลังข่าว วันนี้มาถึงคิวที่ต้องขอมติรัฐสภาส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ร่าง คือ ร่างของ**‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’** สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และร่างของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าจะพิจารณาต่อไปได้หรือไม่?
ทั้งหลายทั้งปวง เพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แต่ยังไม่ได้ทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
ญัตติของพรรคเพื่อไทย แม้จะมีเนื้อหาเดียวกับที่ สว.‘เปรมศักดิ์ เพียยุระ’ เสนอต่อที่ประชุมไปในคราวที่แล้ว จนทำให้เกิดการวอล์คเอาท์ องค์ประชุมสภาล่มต่อเนื่องกันสองวัน สาเหตุจากสองพรรคใหญ่ ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ มีปัญหาปีนเกลียวกันในหลายเรื่อง
แต่ถือว่าเข้าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว
ล่าสุด ‘วิสุทธิ์ ไชยณรุณ’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล ดูมีความมั่นใจอย่างมากว่าจะไม่เกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นอีก เพราะได้พูดคุยทำความเข้าใจกับพรรคภูมิใจไทยไปแล้วไม่มีอะไรติดใจ ทั้งยังเดาใจศาลรัฐธรรมนูญที่เคยไม่รับคำร้องไว้พิจารณาด้วย
‘วันนั้นกับวันนี้มันต่างกัน น้ำใสเปลี่ยนใจปลา กาลเวลาเปลี่ยนใจคน’
ถึงจะไม่มั่นใจแบบ 100 เปอร์เซนต์ แต่วิสุทธิ์ ก็เชื่อว่าเวลาสามารถเยียวยาความสับสนต่างๆ ลงไปได้ แต่ก็ยังมีเผื่อใจเอาไว้อยู่บ้างว่า ทุกอย่างคงไม่ผ่านฉลุยไปได้ทั้งหมด
‘อย่าไปว่าอย่างนั้น เราจะไปตัดสินใจแทนคนอื่นไม่ได้ แต่เราก็หวังว่ามันจะฉลุย หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น’
ในตอนท้ายของการให้สัมภาษณ์สื่อ วิสุทธิ์ พูดเหมือนกับจะเปิดให้เห็นกันหมดไส้หมดพุง เพื่อลบคำครหาเรื่องซื้อเวลา ไม่ตั้งใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่ได้หาเสียงและบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเอาไว้
‘วันนี้หลายอย่างเราก็บอก ในเมื่อมันไปไม่ได้ ทำไมไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทำได้หรือไม่ได้ ก็แค่นั้นเอง จะได้จบข้อกังขาของทุกฝ่าย ไม่ต้องมากล่าวหากันว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ มันจะได้เรียบร้อยสักทีหนึ่ง ก็ไม่ได้มีอะไร ถ้าศาลรัฐธรรมนูญให้ทำ เราก็ทำ ถ้าไม่ให้ทำ เราก็หยุดแค่นั้นเอง แสดงว่าเราได้ทำแล้ว เจตนาเราคือเราได้ทำแล้ว นี่คือเจตนาหลัก’
หลังร่ายยาวความตั้งใจให้เห็น วิสุทธิ์ยังพูดเผื่อไว้ในตอนท้ายสุด เพื่อไม่ให้คนที่อยากเห็นการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สิ้นหวังเสียเลยทีเดียว นั่นคือ หากศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ทำประชามติ 2 ครั้งได้ ก็จะพยายามทำให้ตั้ง ส.ส.ร.ได้ในสภาชุดนี้้
โบราณว่า คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต น่าจะนำมาใช้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหนนี้ได้ เพราะการจะแก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นฉบับประชาชน หรือจะเรียกฉบับอะไรก็ตามแต่
ขั้นตอนไม่ได้สิ้นสุดแค่ทำประชามติกี่ครั้งเท่านั้น
‘การทำประชามติ’ เป็นเพียงด่านแรกที่จะต้องขออนุญาตประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญว่าจะอนุญาต ไม่อนุญาต จากนั้น เมื่อได้คำตอบว่าอนุญาตให้ทำได้ ถึงค่อยมาพิจารณาเนื้อหาในร่างแก้ไข ซึ่งทั้งสองร่างที่คาอยู่ในสภานั้น มีเนื้อหาต่างกันลิบลับ
เอาเฉพาะแค่หมวด 1 หมวด 2 ที่ร่างเพื่อไทย ‘ห้ามแตะ’ แต่ร่างพรรคประชาชน ให้รื้อทำใหม่หมด
เพียงแค่หลักการตรงนี้ ก็ไปกันคนละทางแล้ว ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคเพื่อไทย รวมทั้ง พรรคอื่นๆ และสว.ที่มีจุดยืนในเรื่องสถาบันเหมือนกัน จะยกมือรับหลักการร่างของพรรคประชาชนไว้พิจารณา
ขณะที่ร่างของพรรคเพื่อไทย ที่ไปตัดอำนาจของสว.เดิมต้องมีเสียงสว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในวาระ 1 และวาระ 3 ทิ้งไป รวมทั้ง ให้ใช้เสียงเหมือนการแก้ไขกฎหมายทั่วไป คือ มากกว่ากึ่งหนึ่งเท่านั้น ทำให้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดมีสถานะไม่ต่างกับกฎหมายทั่วๆ ไป ทั้งๆ ที่มีศักดิ์สูงกว่าในฐานะเป็นกฎหมายแม่บท
ด้วยเหตุที่ว่า จึงทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสองฉบับ ทั้งของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ทำประชามติเพียง 2 ครั้ง หรือพิจารณาต่อไปได้เลย ก็คงจอดสนิทตั้งแต่วาระแรก
ไม่ผ่านการรับหลักการทั้งคู่ เพราะคงมีเสียงสว.เห็นชอบด้วยไม่ถึง 67 เสียง ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
บางเรื่องคิดใหญ่ แต่ทำไม่เป็น บางเรื่องคิดไว้ใหญ่ แต่ไม่ทำ สองเรื่องนี้ต่างกันตรงที่ทำไม่ได้ กับไม่ตั้งใจจะทำ สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับใหม่ขึ้น ก็คงเป็นอย่างที่ประธานวิปรัฐบาล บอกกับสื่อไว้นั่นแหล่ะ
‘ตั้ง ส.ส.ร.ได้ในสมัยนี้ก็บุญแล้ว’
นี่แหล่ะที่เรียกว่า อีกฉาก..ของละครแก้รัฐธรรมนูญ?!