สถานการณ์การเมืองที่คุกรุ่น ระหว่าง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กับ สมาชิกวุฒิสภาบางกลุ่มที่นำโดยประธานวุฒิสภา มงคล สุระสัจจะ และรองประธานคนที่ 1 พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หลัง ดีเอสไอ เปิดประเด็นการสอบสวนที่ระบุว่า มีการฮั้วในการคัดเลือก สว. จนมีรายชื่อ 138 สว. และรายชื่อ สว.สำรอง อีก 2 ราย มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำดังกล่าว
ล่าสุด แม้คณะกรรมการคดีพิเศษ หรือ บอร์ดคดีพิเศษ จะพยายามที่จะลดแรงปะทะระหว่างกันลง โดยมีมติให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน และให้ส่งเรื่องให้อนุกรรมการพิจารณาคดีพิเศษของดีเอสไอนำกลับไปกลั่นกรอง ก่อนนำเข้ามาสู่ที่ประชุมใหม่
แต่ท่าทีของฝั่ง สว.ก็ดูจะยังไม่ลดราวาศอกที่จะโต้ตอบกลับ เนื่องเพราะเห็นว่า การกระทำของดีเอสไอเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจและมีเจตนาทางการเมืองแอบแฝง
ศึกระหว่าง 138 สว.และดีเอสไอ จึงยังดูเหมือนจะยืดเยื้อและรอเวลาแตกหัก จนมีการวิเคราะห์กันว่า นี่คือ สงครามระหว่างสี คือ สีแดง และ สีน้ำเงิน
สีแดง ถูกมองว่า มีส่วนรู้เห็นและส่งสัญญาณให้ดีเอสเคลื่อนไหวเรื่องนี้ โดยมีนัยยะสำคัญในการเปลี่ยนขั้วเสียงส่วนใหญ่ของ สว.
สีน้ำเงิน ถูกมองว่า ได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อกล่าวหา และเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ชัดเจน กรณี 138 สว.พ้นจากตำแหน่ง
แม้ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหา สว.ที่เกิดขึ้น โดยให้เหตุผลว่า ตัวเขาเองเป็น สส. และพรรคการเมือง จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการคัดเลือก สว.มิได้ แต่ทั้ง 138 สว.ก็เป็น 138 สว.ที่ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่สำคัญ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมีฐานเสียง และมีอิทธิพลทางการเมืองแทบทั้งสิ้น
สว.ส่วนใหญ่ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามา จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกครหาว่า เป็น สว.สีน้ำเงิน
ขณะที่สีแดง พรรคเพื่อไทย ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่า ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดในการคัดเลือก สว.รอบที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ผู้สมัครที่ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ ไม่ผ่านการคัดเลือก และเข้ามาเป็น สว.ชุดปัจจุบันในสัดส่วนที่น้อยมาก
แม้กระทั่ง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นน้องเขยของทักษิณ ชินวัตร และเป็นอาเขยของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน แพทองธาร ชินวัตร ก็ยังไม่มีผ่านการคัดเลือก
สัดส่วน สว.ในชุดปัจจุบัน ทำให้พรรคเพื่อไทยขาดพันธมิตรที่ชัดเจน ต่อการสนับสนุนในสภาสูง ส่งผลให้ขาดความมั่นใจในการเสนอกฎหมายสำคัญๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานตามนโยบายที่หาเสียงไว้
นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ที่จะต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยอาจขาดสายสัมพันธ์ที่ดีกับคณะกรรมการในองค์กรอิสระสำคัญหลายองค์กร ที่มีผลต่อความเป็นไป และความเป็นความตายของพรรค
ความเคลื่อนไหวของ ดีเอสไอ ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้นสังกัดของดีเอสไอ จึงมีความพยายามถูกเชื่อมโยงว่า มีส่วนเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคเพื่อไทย
เนื่องเพราะหากพบว่า 138 สว. มีการกระทำดังที่ถูกกล่าวหาจริง ทั้ง 138 สว. ก็จะพ้นจากตำแหน่ง และ สว.ที่มีรายชื่อขึ้นทะเบียนสำรองเอาไว้ ก็จะได้รับการขยับขึ้นมาแทนทันที โดยไม่ต้องมีการคัดเลือกใหม่
ถึงแม้รายชื่อสำรองที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้ไม่ครบ 138 คน แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 107 ระบุว่า หากสมาชิกวุฒิสภายังคงมีอยู่เกินกึ่งหนึ่ง หรือเกิน 100 คน ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องคัดเลือกเพิ่มให้ครบตามจำนวน
เป้าหมายการเปลี่ยนแปลง สว.138 คน โดยขยับรายชื่อที่ขึ้นทะเบียนสำรองขึ้นมาแทน จึงเป็นเป้าหมายที่ถูกระบุว่า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้ว และเปลี่ยนโมเมนตัมในรัฐสภาทันที
สว.ชุดล่าสุด มี สว.กว่า 150 คน ถูกเชื่อมโยงว่า ใกล้ชิดกับพรรคภูมิใจไทย และถูกกล่าวหาว่า เป็น สว.สีน้ำเงิน ทำให้เมื่อผนวกกับตัวเลข สส.พรรคภูมิใจไทยในรัฐสภาแล้ว พรรคภูมิใจไทยมีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร 70 เสียง และมีพันธมิตรในวุฒิสภาอีก 150 เสียง รวมเสียงที่อาจสนับสนุนพรรคภูมิใจไทยในรัฐสภาถึง 220 เสียง หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% จาก 700 เสียง
ขณะที่พรรคเพื่อไทย แม้จะมีเสียง สส.ในสภาผู้แทนราษฎรถึง 141 เสียง มากกว่าพรรคภูมิใจไทยเท่าตัว แต่เสียงในสภาสูงหรือวุฒิสภา แทบจับต้องไม่ได้ การขับเคลื่อนกฎหมายสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย เช่น กฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือกฎหมายการเงินฉบับสำคัญๆ ล้วนต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากฟากพันธมิตรของพรรคภูมิใจไทยเป็นหลัก
ท่าทีของพรรคภูมิใจไทยที่ยังไม่ชัดเจนว่า จะสนับสนุนกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์หรือไม่ และท่าทีแข็งกร้าวของพรรคภูมิใจไทยที่ปฏิเสธการแก้รัฐธรรมนูญที่ยังไม่ผ่านประชามติ สะท้อนเสียงที่เข้มแข็ง และเป็นไปในทิศทางการเดียวกันระหว่างพรรคภูมิใจไทยและพันธมิตรในวุฒิสภา
การโหวตเห็นชอบองค์กรอิสระ อย่างกรรมการ กกต. หรือ กรรมการ ป.ป.ช. หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง.ล่าสุด ก็เป็นการโหวตที่มีนัยยะ เมื่อวุฒิสภาโหวตเห็นชอบ คณะกรรมการ คตง.เพียง 4 คน จาก 6 คน ส่วนอีก 2 คน ไม่เห็นชอบ
ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหวที่นักวิเคราะห์มองว่า สร้างความไม่สบายใจให้กับฝั่งพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำอำนาจฝั่งรัฐบาล เพราะเชื่อว่า จะไม่สามารถกุมความได้เปรียบ หากจำเป็นต้องใช้เสียงจากสภาสูงมาสนับสนุนในบางเรื่อง
เกมที่เปิดออกมายัง 138 สว. จึงเป็นเกมที่มีเป้าหมายของการเปลี่ยนโมเมนตัมใน สภาสูง เป็นเกมที่มีเป้าหมายการทอนตัวเลข 150 สว.ลงมาในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 30%
รวมทั้งยังเป็นเกมที่ส่งสัญญาณการต่อรอง เพื่อขอถ่วงดุล และปรับดุลยภาพทางอำนาจในรัฐสภาใหม่
เกมนี้แม้จะไม่ได้จบเร็ว และยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ทั้งยังไม่ชัดว่า ดีเอสไอ จะมีอำนาจหรือไม่ หรือ หาก กกต.ต้องเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนต่อ แต่หลักฐานและรายละเอียดที่ทยอยหลุดมาหน้าสื่อ รวมทั้งหนังสือของดีเอสไอ ที่ส่งไปยังประธาน กกต. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 อันมีรายละเอียด พฤติกรรมการกระทำที่อ่านแล้วชวนขนลุก…(หากเป็นจริง)
ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลยิ่งต่อการพูดคุย การต่อรอง การขอปรับดุลอำนาจ รวมถึงการเจรจาสำคัญๆ บางเรื่อง…
อันเป็นเงื่อนไขที่สีแดง พลิกขึ้นมาถือแต้มต่อสีน้ำเงิน ในระดับหนึ่ง และเป็นเงื่อนไขในระดับที่ซือแป๋เรียกพ่อ
เป็นเงื่อนไขที่สะท้อนนัยยะทางการเมืองว่า ลูกศิษย์ ก็คือ ลูกศิษย์ อาจารย์ยังไงก็เป็นอาจารย์
เป็นเงื่อนไขที่ ‘ครูใหญ่’ ยังไงก็ต้องฟัง ‘ผู้อำนวยการ’
แต่กระนั้น ก็อย่าได้พึงวางใจ…อย่าคิดว่า เงื่อนไขที่สุกงอม จะเปลี่ยนดุลอำนาจการเมืองในสภาแต่เพียงอย่างเดียว
เพราะ “ไส้” ที่สาวออกมา เป็นเป้าหมายที่ “อีกา” กำลังจับตาอยู่…
ผลการสอบสวนของดีเอสไอรอบนี้ ที่มีรายละเอียดชัด มีหลักฐานประกอบในหลายด้าน เป็นผลการสอบสวนที่มีเสียงขอบคุณระงมมาจาก ‘การเมืองนอกสภา’
เป็นหลักฐาน…ที่อาจจะเพียงพอต่อความเคลื่อนไหวใหญ่
เป็นหลักฐาน…ที่อาจเพียงพอต่อการสร้างเงื่อนไข
เป็นหลักฐาน…ที่อาจส่งผลสะเทือนยิ่งต่อการเมืองในช่วงเดือนพฤษภาคม
เงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงอำนาจ เงื่อนไขที่หายาก อาจผุดขึ้นราวกับ “น้ำยังไม่ลด แต่ตอผุดขึ้นมาก่อน”
‘ตาอิน’ รบกับ ‘ตานา’ จะหนักหนาและเข้มข้นแค่ไหน ก็ต้องระวังหลัง อย่าเผลอไผล…เพราะมี “ตาอยู่” กลุ่มใหญ่ นั่งกระดิกขา…รอหยิบพุงเพียวๆ ไปกิน