มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ถ้าได้ผลจริง ทำไมเพิ่งทำ

10 เม.ย. 2567 - 08:31

  • ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง

  • สถานการณ์ซื้อขายบ้าน อาการน่าเป็นห่วงจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

  • รัฐบาลทราบดีว่าอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีปัญหา แต่ปล่อยเวลาเนิ่นนานค่อยแก้ไข

Deep space-มาตราการกระตุ้นอสังหา-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นเรื่อง ‘เซอร์ไพรส์’ พอสมควรกับการที่รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ผ้าขาวม้าหลากสี ลุกขึ้นมาเปิดเกมเร็วอัดมาตรการปลุกธุรกิจอังหาริมทรัพย์ชุดใหญ่ออกมาแบบไม่มีใครคาดหมาย ทั้ง ๆ ที่ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา บรรดาผู้คนในวงการอสังหาริมทรัพย์ต่างพยายามส่งเสียงเรียกร้องในเรื่องนี้ แต่กลับไร้สัญญาตอบรับมาตลอด

แต่แล้วจู่ ๆ นายกฯเศรษฐา ที่สวมหมวกอีกใบในฐานะ รมว.คลัง กลับนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาอนุมัติใน ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยระบุว่า ‘ยาหม้อชุดใหญ่’ เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์คราวนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ GDP ให้เติบโตขึ้นได้ถึง 1.7-1.8% 

มาตรการหลัก ๆ ประกอบไปด้วย การลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับบ้านที่มีราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 256 โดยหวังจะช่วยระบายสต๊อกส่วนเกินที่ล้นอยู่จำนวนมหาศาลกว่าสองแสนยูนิต

นอกจากมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองแล้ว ครม. ยังอนุมัติชุดมาตรการกระตุ้นอื่น ๆ อีกรวมเป็น 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน โดยสามารถใช้สิทธิ์ได้ล้านละหมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท

ขณะเดียวกันมีมาตรการกระตุ้น โดยให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กู้ระยะยาว ในโครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงินโครงการ 2 หมื่นล้านบาท และ โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงินโครงการ 1 หมื่นล้านบาทโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)  และโครงการสินเชื่อบ้านออมสินเพื่อประชาชน วงเงินโครงการ 1 หมื่นล้านบาท

ความจริงมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต่าง ๆ เรียกร้องมายาวนาน เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลกำหนดเพดานมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองไว้ที่บ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

ตามคำแถลงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์นี้จะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวได้ 1.7-1.8% โดยเฉพาะมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองจะช่วยกระตุ้นให้ GDP ขยายตัวได้ถึง 1.58% ที่เหลือเป็น ผลจากส่วนมาตรการด้านลดหย่อนภาษี และมาตรการด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 

หลังจากมาตรการดังกล่าวคลอดออกมา แน่นอนว่าๆได้รับเสียง ‘เฮ’ มาจากภาคธุรกิจอสังหาฯ เพราะได้รับประโยชน์โดยตรง แต่ในมุมมองในเรื่องการกระตุ้น GDP ยังเป็นคำถามว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ GDP โตขึ้นได้สูงถึง 1.5-1.7% จริงหรือไม่ เพราะยังมีปัญหาใหญ่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย คือ การขาดกำลังซื้อเนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดและทำให้มียอดปฎิเสธการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างสูง

ขณะเดียวกัน การผลักดันให้มีการออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐาในครั้งนี้ ยังทำให้เกิดคำถามว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องรอเวลามาถึงกว่า 7 เดือน โดยปล่อยให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ จึงเพิ่งจะผลักดันมาตรการนี้ออกมา 

ทั้งหมดจึงกลายเป็น ‘ตลกร้าย’ อีกเรื่องหนึ่ง เพราะชัดเจนว่าที่ผ่านมารัฐบาลนายกฯ เศรษฐา เลือกจะ ‘แทงม้า’ ตัวเดียว โดยเทน้ำหนักทั้งหมดไปกับ การผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1หมื่นบาทมากกว่า 

ทั้ง ๆ ที่หากเปรียบเทียบผลทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากทั้งสองมาตรการจากการแถลงของรัฐบาลเอง ผลจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จะช่วยกระตุ้น GDPให้โตขึ้นถึง 1.7-1.8% สูงกว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเสียอีก โดยในการแถลงข่าวเรื่องนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทในวันนี้ (10 เมษายน 2567) มีการระบุว่าจะทำให้ GDP โตขึ้นเพียง 1.2-1.6%

ยิ่งไปกว่านั้น หากเปรียบเทียบเม็ดเงินที่ต้องใช้ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาครัฐอาจจะสูญเสียรายได้ไปบ้าง แต่ตรงข้ามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 5 แสนล้านบาท ถึงแม้จะหันกลับมาใช้เงินกู้ในงบประมาณ แต่ก็ต้องใช้ ‘ท่าพิสดาร’ ดึงเม็ดเงินจาก 3 แหล่ง คืองบฯปี 2567-2568 และเงินยืมจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. มาใช้ในโครงการนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการออก พ.ร.บ.กู้เงิน

ทั้งหมดมีเพียงคำตอบเดียว คือ เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือ ‘เรือธง’ ที่เป็นเดิมพันสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่สัญญาไว้กับชาวบ้าน และจะเป็นตัวตัดสินอนาคตในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์