‘สุริยะ’ ส่งสัญญาณ รถไฟ 3 สนามบิน ‘ล้ม’

8 พ.ย. 2567 - 02:00

  • โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินกลายเป็นปัญหา

  • หลังการประมูลก็มีการฟ้องร้อง และการแก้ไขสัญญาแบบกลับด้าน

  • รัฐมนตรีคมนาคม ออกอาการส่งสัญญาณล้มโครงการ

deep-space-3-airport-rail-link-project-SPACEBAR-Hero.jpg

วันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบหลักการการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน โดยแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ระหว่าง การรถไฟแห่งระเทศไทย (รฟท.) กับ บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ที่ซีพีถือหุ้นใหญ่

โดยมีเงื่อนไขว่า ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินควร 

ขั้นตอนต่อจากนั้นคือ ต้องเสนอให้ครม. เห็นชอบในหลักการแก้ไขสัญญา และตัวร่างแก้ไขสัญญา  ซึ่งกพอ .คาดว่าจะผ่าน ครม. และเซ็นสัญญาที่แก้ไขใหม่ได้ในเดือนธันวาคม เพื่อที่เอเชีย เอราวัน จะได้เริ่มลงมือก่อสร้างได้ต้นปีหน้า 

หลังจากที่ล่าช้า เซ็นสัญญาไปแล้ว 5 ปีเต็ม ยังไม่ได้ตอกเสาเข็มต้นแรกเลย

แต่ผ่านไปเกือบเดือนแล้ว จนถึงวันนี้ ‘การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน’ รถไฟ 3  สนามบิน ยังไม่ได้เข้า ครม. เลย ท่ามกลางกระแสข่าวว่า  พรรคร่วมรัฐบาล ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการแก้ไขสัญญาเพราะ ‘เอื้อประโยชน์’ ให้ เอเชีย เอราวัน เต็มที่ 

ทั้งยัง เป็นการ ‘ทำลายหลักการ’ ของสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับแอกชนหรือ พีพีพี ที่ เอเชีย เอราวัน ต้องสร้างรถไฟความเร็วสูงให้เสร็จ แล้วเปิดบริการจึงจะได้รับเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างจากรัฐ ไม่เกิน 149,000  ล้านบาท  โดยจ่ายเป็นงวดรายปี นาน 6 ปี  เพื่อเป็นหลักประกันว่า เอเชีย เอราวัน ต้องสร้างให้เสร็จเปิดบริการได้จึงจะได้ ‘ค่าก่อสร้างคืน’

แต่เอเชีย เอราวัน ขอแก้ไขให้รัฐจ่ายเงินหลังเริ่มก่อสร้างเลย โดยจ่ายตามความก้าวหน้าของเนื้องาน ซี่งทำให้ สัญญาแบบพีพีพี กลายเป็นสัญญาจ้างก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สร้างไป จ่ายไป   เอเชีย เอราวัน ไม่ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินมาก เพราะเบิกค่าก่อสร้างจาก รฟท. ได้เลย ไม่ต้องสร้างเสร็จแล้วเดินรถได้ก่อน จึงได้เงิน

รายงานการตรวจสอบประสิทธิภาพ การดำเนินการโครงการ รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า 

“แนวทางการแก้ไขสัญญา ที่ปรับให้รัฐชำระเงินเร็วขึ้น และการแบ่งชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุน ในแอร์พอร์ตลิงค์ มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนบางส่วน

อีกทั้งจะทำให้ รฟท. และรัฐเสียโอกาสนำเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ เพื่อไปใช้สำหรับบริหารงานหรือดำเนินโครงการอื่นๆที่จำเป็นเร่งด่วน”

‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นกรรมการบริหาร กพอ. ด้วยเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปลายเดือนตุลาคมว่า 

‘การแก้ไขสัญญา ไม่เอื้อประโยชน์ให้เอกชน รัฐไม่เสียเปรียบ และครม.จะพิจารณาในการประชุมวันที่ 4 พฤศจิกายนหรือสัปดาห์ต่อไป’

แต่การประชุม ครม. วันที่ 4 พฤศจิกายน ‘ไม่มีเรื่องนี้’ 

ล่าสุดสุริยะบอกว่า การประชุม ครม. นัดหน้าวันที่ 12  พฤศจิกายน ก็ ‘จะไม่มี’ วาระนี้เช่นเดียวกัน เพราะต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบก่อน โดยสาเหตุที่ล่าช้าคิดว่าเป็นเพราะการแก้ไขครั้งนี้ ต้องดูว่า ‘ไปเปลี่ยน’ หลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนหรือ พีพีพี. หรือไม่  ต้องไปเช็กดูให้ชัดเจนก่อน และไม่ได้ติดปัญหาความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล

นับเป็นการเปลี่ยนท่าทีแบบกลับหลังหัน 180 องศา ของสุริยะ ซึ่งยืนยันมาตลอดว่า การแก้ไขสัญญา ไม่เอื้อประโยชน์ให้เอกชน รัฐไม่เสียเปรียบ

เป็นสัญญาณชัดเจนว่า อนาคตของรถไฟฟ้าความเร็วสูง 3 สนามบิน จะได้ไปต่อ ในเงื่อนไขที่ รฟท. เปลี่ยนสถานะจากผู้ร่วมลงทุนกับ เอเชีย เอราวัน กลายเป็นผู้ลงทุนจ้าง เอเชียเอราวัน ก่อสร้าง หรือจบแค่นี้เพราะรัฐบาลไม่กล้าฉีกหลักการสำคัญของโครงการที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์