รถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย อีกหนึ่งนโยบายคิดไปทำไป

21 ต.ค. 2567 - 10:30

  • เพื่อไทยประกาศค่ารถไฟฟ้า 20 บาททุกเส้นทางช่วงหาเสียง

  • นโยบายนี้กำลังตามไล่ล่าสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะเป็นจริงได้หรือไม่

  • รัฐมนตรีคมนาคมสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจพูดอยู่คนเดียว แต่เอกชนไม่มีใครร่วมด้วย

deep-space-all-electric-train-lines-20-baht -SPACEBAR-Hero.jpg

หนึ่งปีกับอีกหนึ่งเดือนกว่าๆ ของรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 1 คน แต่ยังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่สามารถผลักดันโยบายที่เคยหาเสียงไว้ หรือที่แถลงต่อรัฐสภา ออกมาได้เลยแม้แต่เรื่องเดียว

ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ ลงท้ายกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ ที่เคยยืนยันหัวชนฝาว่า จะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้คนไทย 50 ล้านคน สุดท้ายกลายเป็นแจกเงินสดแทน และให้แค่ 14.5 ล้านคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ

เงิน 1.45 แสนล้านบาท ที่แจกไป เงียบหายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง ไม่เห็นมีพายุเศรษฐกิจเกิดขึ้นเลยสักลูกเดียว

ลอยแพ 36 ล้านคนที่ไปลงทะเบียนแอปฯทางรัฐ ไม่รู้ว่าจะได้รับแจกหรือไม่ ได้เท่าไร และได้เมื่อไร

นโยบาย ‘1 ซอฟต์พาวเวอร์ 1  ครอบครัว’ ที่พรรคเพื่อไทยโฆษณาว่า จะสร้างรายได้ให้คนไทย 20 ล้านครัวเรือนเงียบหายไปเลย ประชุมคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แต่ละครั้ง มีแต่เรื่อง ‘แต่งตั้ง’ อนุกรรมการ ผลงานมีแต่การจัดอีเวนต์ ตามเทศกาล ประเพณี ตั้งแต่ปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง ที่ปกติก็มีการจัดกันอยุ่แล้ว โดยไม่ต้องมีบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ 

นโยบาย ‘แลนด์บริดจ์’ ล้มไปแล้ว นายกรัฐมนตรี ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ไม่พูดถึง เพราะเป็นโครงการที่ไม่มีใครสนใจ เพราะขัดแย้งกับความเป็นจริงของระบบการขนส่งสินค้าทางเรือของโลกในปัจจุบัน 

นโยบาย ‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน’ ทั่วประเทศ ภายในวันที่ 1 ตุลาคม ทำไม่ได้เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีแต่ลูกจ้าง แต่มีนายจ้างด้วย ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น 400 บาทต่อวันจริงๆ

ความล้มเหลวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ไม่สามารถทำให้นโยบายเหล่านี้ เป็นจริงได้ เพราะไม่มีการศึกษาว่า แต่ละนโยบายนั้นทำได้จริงหรือไม่ และต้องทำอย่างไรก่อนที่จะนำหาเสียง หรือประกาศเป็นนโยบายของรัฐ เป็นการพูดเพื่อหาเสียงเท่านั้น

เมื่อได้เป็นรัฐบาล ถึงเวลาต้องทำจึงค่อยมาดูว่า จะทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งพบว่ามีปัญหาทำไมได้ในทางปฏิบัติ แต่เมื่อหาเสียงไปแล้วว่าจะทำก็ต้อง ‘ดันทุรัง’  คิดไป ทำไป แก้ปัญหาไป สุดท้าย ทำไม่ได้  ต้องแก้ผ้าเอาหน้ารอด ทำโครงการออกไปแบบ ‘ไม่ตรงปก’

โครงการ แจกเงินดิจิทัล เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้

ล่าสุดคือนโยบาย ‘ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย’ ของกระทรวงคมนาคม 

นโยบายนี้มีอายุแค่ 1ปี เท่านั้นจะครบกำหนดในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ บอกว่า จะขออนุมัติจาก ครม. ต่ออายุไปอีก 1 ปี

นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จึงเป็น ‘นโยบายชั่วคราว’ ที่มีอายุเพียง 1 ปีเท่านั้น เมื่อหมดอายุแล้ว จะไปต่อต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. 

นอกจากเป็นนโยบายชั่วคราวปีเดียวแล้ว ยังเป็นนโยบายที่ใช้กับรถไฟฟ้า ‘สายสีแดง’ และ ‘สายสีม่วง’ เท่านั้น เพราะเป็นโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของกระทวงคมนาคม สั่งซ้ายหัน ขวาหันได้

แต่ไม่สามารถใช้บังคับกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีชมพูและสายสีเหลืองได้ เพราะเป็นโครงการสัมปทานของเอกชน

สุริยะให้ข่าวมาโดยตลอดว่า  ภายในเดือนกันยายน ปี 2568  รถไฟฟ้าทุกสีทุกสายใน กทม. จะมีราคา 20 บาทตลอดสาย และจะเจรจา ‘ซื้อสัมปทาน’ คืนจากเอกชน 

เมื่อถามว่าจะนำเงินมาจากไหนเพราะลำพังแค่ชดเชยค่าโดยสาร 20 บาท ตลอดสายของสายสีแดงกับสายสีม่วง ก็ต้องใช้เงินปีละ 8 พันล้านบาท ถ้าต้องชดเชยทุกสาย และจะซื้อสัมปทานคืนมา จะต้องใช้เงินมหาศาลแค่ไหน 

มิพักต้องพูดถึง เอกชนเจ้าของสัมปทานว่า จะยอมขายสัมปทานคืนให้รัฐหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา สุริยะพูดอยู่ฝ่ายเดียวว่า จะซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน

เรื่องแหล่งเงินทุนที่จะมาซื้อคืนสัมปทาน ตลอดจนชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สุริยะบอกว่า จะมาจากหลายๆแหล่ง เช่น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด, การตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน, การใช้เงินของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น ซึ่งจะต้องศึกษารายละเอียดอีกที แต่ยืนยันว่าจะทันใช้อัตราค่ารถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสายภายในเดือนกันยายนปี 2568 แน่นอน 

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เป็นวิธีของประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีระบบขนส่งมวลชนพื้นฐานรองรับอย่างสมบูรณ์ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด แต่กรุงเทพมหานครไม่มีระบบขนส่งมวลชนพื้นฐานที่จะรองรับมาตรการนี้ได้ แต่จะเก็บ congestion fee  เพื่ออุดหนุนค่ารถไฟฟ้า

การตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนจะไม่เติบโต ไม่มีผลตอบแทนที่ดึงดูดนักลงทุน เพราะค่าโดยสารถูกตรึงไว้ในอัตรา 20 บาท ตลอดสายทุกสาย 

การใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงพลังงานที่เป็นโควต้าของพรรครวมไทยสร้างชาติ ปัจจุบัน กองทุนมีเงินแค่ 10,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น เพราะมีการลดอัตราการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันแค่ 0.05 บาทต่อลิตร จากเดิมที่เคยจัดเก็บ 10  สตางค์ต่อลิตร 

สมมติว่า พรรครวมไทยสร้างชาติยอมให้พรรคเพื่อไทยเอาเงินกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานไปสนองนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายทุกสี ก็จะต้องเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างภาระค่าครองชีพ นอกเหนือจากที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมรถติดแล้ว เพราะไม่มีระบบขนส่งมวลชนถึงหน้าบ้าน จำเป็นต้องขับรถไปทำงาน หรือไปรับส่งลูก

เรื่องแหล่งเงินทุนที่จะใช้ซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า และชดเชยราคา 20 บาทตลอดสายนี้ สะท้อนถึงวิธีการผลักดันนโยบาย ทำโครงการแบบ ‘คิดไป ทำไป’ ของสุริยะ และของพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน ซึ่งในที่สุดแล้วจะทำไม่ได้ เหมือนโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่ล้มเหลวไปหมาดๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์