แจกเงินดิจิทัล เฟส 3 บลูบิคทำได้ทันกำหนดหรือไม่?

10 ม.ค. 2568 - 11:27

  • แจกเงินดิจิทัล เฟสสาม สำหรับคนทั่วไปกำหนดไว้มีนาคม

  • การเลือกบริษัทฟินเทคทำระบบยังมีข้อสงสัย

  • ระบบที่ต้องการ ปริมาณข้อมูล ความสามารถของผู้รับงาน จะตรงปกหรือไม่

deep-space-application-tang-rath-bluebik-digital-money-SPACEBAR-Hero.jpg

รัฐบาลพยายามเร่งเดินหน้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 3 ที่ต้องการแจกในรูปเงินดิจิทัล ให้กับผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน แอปพลิเคชั่น ‘ทางรัฐ’ ให้ได้ในราวไตรมาสที่สองของปีนี้ ทำให้เป็นโจทย์หินที่ท้าทายสำหรับ ‘บลูบิค กรุ๊ป’ ที่เพิ่งหาญกล้ารับงาน DGA เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) หรือ DGA (Digital Government Development Agency) ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เจ้าปัญหา ที่ล่าช้ามาเป็นแรมปี 

เพิ่งมีการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาจ้างงานพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน Payment Platform เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมปีที่แล้ว โดยระบุว่า ‘บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)’ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก โดยได้คะแนนมากที่สุด และมีการเสนอราคาต่ำสุด เป็นเงินทั้งสิ้น 90 ล้านบาท โดยเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ 

ราคาดังกล่าวต่ำกว่าราคากลางที่เคยมีการสืบราคา ที่ตั้งไว้ที่ 94,905,250.47 บาท ซึ่งแยกเป็นค่าพัฒนาระบบ 77.35 ล้านบาท ค่าเช่าระบบคลาวด์ 17.45 ล้านบาท และค่าดำเนินงาน 65,000 บาท

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ใช้วิธี ‘สืบราคา’ จากผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีความสามารถในการพัฒนาระบบนี้ 3 ราย คือ ‘บริษัท ครีเอทีฟ มี จำกัด’, ‘บริษัทดาต้าวัน เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด’ และ ‘บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)’

หลังจากผลการคัดเลือกออกมา คนในวงการ ‘ฟินเทค’ ต่างสูดปากไปตามๆกัน เพราะเชื่อกันว่า งานพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาล เป็นโจทย์ที่ ‘โหดหิน’ และยากที่สุด และคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการพัฒนานานที่สุด 

จนทำให้เกิดคำถามว่า บลูบิค กรุ๊ปฯ จะสามารถพัฒนาเสร็จได้ทันตาม ‘ไทม์ไลน์’ ที่รัฐบาลกำหนดในเดือนมีนาคมปีนี้ได้หรือไม่

ถึงแม้ฝ่ายบริหารและทีมงานของ บลูบิคฯ จะมองว่าการพัฒนาระบบ ‘เพย์เม้นท์’ หรือ ระบบชำระเงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มูลค่า 90 ล้านบาท จะเป็นโอกาสที่ดีของบริษัท และเชื่อว่ามีศักยภาพมากพอที่สามารถทำได้ แม้จะมีงบประมาณในการจัดทำไม่สูงก็ตาม

บลูบิคฯ มองว่า ตัวเองมี ‘แต้มต่อ’ มากกว่ารายอื่น เนื่องจากก่อนหน้านี้ ก็เพิ่งเข้าไปรับงานในการ ช่วยพัฒนา ‘Super App’ แพลตฟอร์ม ‘ทางรัฐ’  ในวงเงิน 27 ล้านบาท ในส่วนของระบบการลงทะเบียนของประชาชนกว่า 35-40 ล้านคน ซึ่งมีความซับซ้อนทางเทคนิค เพื่อให้สามารถทำงานรองรับปริมาณการทำธุรกรรมจำนวนมหาศาลให้เป็นไปอย่างราบรื่นในอนาคต

ก่อนหน้านี้แพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง ‘ทางรัฐ’ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน โดยบุคลากรของทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นผู้พัฒนา และเริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึง แต่เมื่อรัฐบาลต้องการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ให้เป็น Super Apllication กลางของภาครัฐ จึงต้องมีการขยายผลต่อยอดเพื่อรองรับบริการต่าง ๆ ของภาครัฐเพิ่มขึ้น 

นอกจากจะเข้าไปช่วยสนับสนุน เป็นส่วนของการพัฒนาระบบลงทะเบียนที่สามารถรองรับผู้ใช้งานอย่างน้อย 50 ล้านรายแล้ว ยังมีการปรับปรุงการออกแบบหน้าจอ (UX/UI) และการตั้งค่าบริการคลาวด์ ซึ่งบลูบิคฯมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่เคยพัฒนาระบบขนาดใหญ่ อาทิ โมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) ระบบซื้อขายหลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัล ระบบลงทะเบียนขนาดใหญ่ และระบบ Super Application 

แต่โครงสร้างของ แอปพลิเคชั่น ‘ทางรัฐ’ ที่ต้องรับรองธุรกรรมภายใต้โครงการดิจิทัล วอลเล็ต นอกจากจะเป็นการต่อยอดจากการพัฒนาโดย DGA ในช่วงเริ่มต้นและมาต่อยอดระบบลงทะเบียนโดยบลูบิคฯแล้ว ยังมีการว่าจ้าง ‘บริษัทเดพท์เฟิร์สท จำกัด’ ให้มาพัฒนาในส่วนของการลงทะเบียนร้านค้าแยกส่วนอีก 

ทำให้ต้องพยายามนำองค์ประกอบทุกส่วนงานให้มาผนึกรวมกันแบบไร้รอยต่อ โดยจะต้องมั่นใจว่าจะสามารถรองรับธุรกรรมจำนวนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีปัญหา

โจทย์ยากที่สุด คือการกำหนดเงื่อนไขที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนของภาครัฐที่ยัง ‘ไม่มีความชัดเจน’ ในรายละเอียด ของการกำหนดเงื่อนไขของการใช้เงินที่มีการกำหนดรายการสินค้าและบริการ และยังกำหนดให้ร้านค้าไม่สามารถแลกเป็นเงินสดในรอบแรก และยังต้องทำให้ระบบเชื่อมต่อกับระบบชำระเงินของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ หรือ Open Loop ที่อาจทำให้มีความเสี่ยงเรื่องระบบ ซึ่งปกติแล้วอาจต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี 

นอกจากนี้ก่อนที่จะเปิดให้ใช้ระบบในวงกว้าง ซึ่งจะต้องรองรับธุรกรรมจำนวนมหาศาล และระบบจะต้องสามารถทำให้เกิด ‘Transaction ที่รวดเร็วรายวินาที’ จำเป็นจะต้องมีการทดสอบระบบในระบบปิด Sandbox จนมั่นใจว่าไม่มีปัญหาทั้งในเรื่องของความเสถียรและความปลอดภัยของระบบ

ทั้งหมดจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่า บลูบิคฯ จะสามารถพัฒนาระบบทั้งหมดให้สามารถพร้อมใช้งานได้ตาม ‘ไทม์ไลน์’ ที่รัฐบาลกำหนดไว้หรือไม่  

หลังจากประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยืนยันว่าการจ่ายเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ในเฟส 3 สำหรับคนทั่วไป จะเป็นการจ่ายเงินแบบดิจิทัล โดยเชื่อว่าระบบจะแล้วเสร็จภายในเดือน มีนาคมนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์