แบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย ตัวชี้วัด ‘บารมี’ เศรษฐา

11 เม.ย. 2567 - 09:47

  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติ 5:2 คงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม

  • เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่แรงกดดัน

  • การยืนนโยบายขัดใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง ต้องดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

deep-space-National-Bank-SPACEBAR-Hero.jpg

แบงก์ชาติ ขัดใจ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกแล้ว ไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบายตามเสียงเรียกร้องของนายกฯเศรษฐา ที่พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นแผ่นเสียงตกร่องว่า ต้องการให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย นโยบายลงมา เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 เมษายน มีมติ 5 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50 % ต่อปี โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวสูงจากปีก่อน อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพ เศรษฐกิจและการเงิน เอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวแบบมีศักยภาพในระยะยาว ไม่ได้เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ขัดกับการขยายตัวหรือขัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

กนง. หรือก็คือ แบงก์ชาตินั่นแหละ เห็นต่างกับนายกฯและรัฐมนตรีคลัง เศรษฐา ที่ชอบย้ำว่า ‘เศรษฐกิจไทยวิกฤต’ แต่แบงก์ชาติเห็นว่า เศรษฐกิจไทยไม่วิกฤต กำลังดีขึ้น แต่ขยายตัวช้า และอ่อนแอ ซึ่งการลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับจะสร้างผลกระทบในเรื่องอื่นๆ เช่น สร้างแรงจูงใจ ในการก่อหนี้ ทำให้เงินไหลออก ส่งผลต่อค่าเงินบาท ที่จะไปทำให้สินค้านำเข้า โดยเฉพาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แพงขึ้น

แบงก์ชาติมองว่า  ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และใช้มาตรการอื่นๆที่ไม่ใช่โยบายดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

ไม่เพียงกล้าขัดใจนายกฯ แต่ยังบังอาจมาสั่งสอนวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐานให้นายกฯที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว ถ้าเป็นคนอื่น เป็นเรื่องแน่ แต่นี่คือ นายกฯเศรษฐา จึงทำอะไร แบงก์ชาติไม่ได้ ได้แต่ท่องคำว่าแบงก์ชาติ ต้องลดดอกเบี้ย ๆๆๆ ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

จริงอยู่ ความเป็นอิสระจากอำนาจการเมืองของแบงก์ชาติ ได้รับการคุ้มครอง จาก พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า รมต คลัง สามารถปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้ แต่ต้องขอความเห็นชอบ จาก ครม และต้องแสดงเหตุผลที่ชัดเจนว่า ผู้ว่า แบงก์ชาติ ทำผิด ร้ายแรง สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างไร จะกล่าวหาลอยๆ ว่า ไม่สนองนโยบายรัฐบาล เหมือนการปลดผู้ว่า แบงก์ชาติในอดีต 

นั่นคือ ‘อำนาจตามกฎหมาย’ ที่มีข้อจำกัดในการใช้ แต่ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือนายกรัฐมนตรี มีอำนาจอันเกิดจากบารมีส่วนตัว ที่ทุกคนมีความศรัทธา ยอมรับ เกรงใจ เกรงกลัว  และมีเหตุผลที่รับฟังได้ว่า ทำไมแบงก์ชาติควรลดดอกเบี้ย ผู้ว่าแบงก์ชาติก็ต้องรับฟัง 

แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ไม่มีบารมีและความมีเหตุมีผล ที่จะทำให้แบงก์ชาติยอมรับฟัง ซ้ำร้าย ยังใช้วิธีกล่าวหา โยนความผิดให้แบงก์ชาติ ผ่านช่องทางโซเชียล มีเดีย กลับเป็นฝ่าย กนง. หรือแบงก์ชาติเสียอีก ที่ให้เหตุผลในการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้อย่างครอบคลุมทุกด้าน ผ่านช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นทางการ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ แม้นายกเศรษฐา จะพุ่งเป้าโจมตีแบงก์ชาติ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ กนง. ก็ยืนหยัดในหลักการ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตลอดมา แบบไม่เกรงใจหรือให้ราคานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังเลย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์