เบื้องหลังแคดเมี่ยมเข้ากรุง วัดใจนายกกล้า‘ลุย’คันทรี่กรุ๊ป ไหม?

11 เม.ย. 2567 - 10:03

  • นายกรัฐมนตรีจะเชิญบริษัทที่เป็นเจ้าของแคดเมียมมาคุยเพื่อแก้ปัญหา

  • บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ของตระกูลเตชะอุบล ต้องชี้แจง

  • ส่วนเรื่องผลกระทบสุขภาพ หรือขั้นตอนที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการพูดถึง

deep-space-cadmium-landfill-government-house -SPACEBAR-Hero.jpg

ข่าวใหญ่เรื่องการขุดและขนกากสารพิษแคดเมียมกว่า 1.38 หมื่นตัน จากหลุมฝังกลบที่จังหวัดตาก ลงมาเก็บไว้ตามโกดังแถวกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อรอการหลอมหรือส่งออกไปขาย จนกลายเป็นเรื่องที่ทำให้แตกตื่นกันทั้งประเทศในเวลานี้

กำลังเป็นอีกภาพหนึ่งที่สะท้อนและประจานความเลวร้ายของระบบราชการไทยที่เต็มไปด้วยเรื่องของผลประโยชน์ และการคอร์รัปชัน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีเดิมพันถึงขั้นอาจต้องแลกด้วยชีวิตประชาชน

แต่ก็เป็นเรื่องค่อนข้างผิดปกติที่กระบวนการแก้ปัญหาของรัฐบาลในเวลานี้ กลับดูเหมือนจะไม่ให้น้ำหนักในเรื่องการตามล่าหาคนผิดในเรื่องนี้สักเท่าไร กลับสาละวนกับการวิ่งวุ่นไล่ตามล่าหา ‘กากแคดเมียม’ ที่หายไป เพียงเพื่อเอากลับไป ‘ฝังกลบ’ ที่เดิม และหวังว่าอีกไม่นานกระแสข่าวอื่นๆ ก็จะมาช่วย ‘ฝังกลบ’ เรื่องนี้ให้จางหายไปในที่สุด

‘ตลกร้าย’ ไปกว่านั้นที่ไม่รู้จะ ‘หัวเราะหรือร้องไห้ทั้งน้ำตาดี’ คือบทบาทของ นายกฯเศรษฐา ผ้าขาวม้าหลากสี ที่ดูเหมือนจะพยายามจะเล่นบทในการโดดลงมาจัดการปัญหาด้วยตัวเอง แต่กลับไม่ออกอาวุธ ‘อาละวาด’ ซึ่งผิดวิสัยที่ควรจะเป็น เมื่อเผชิญหน้ากับภาคเอกชนที่เป็น ‘ต้นตอ’ ของเรื่องนี้คือ ‘กลุ่มคันทรีกรุ๊ป ของตระกูลเตชะอุบล’  ซึ่งรู้จักกันดีในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ฯ และมีคอนเนคชั่นทางการเมืองที่ไม่ธรรมดา ทั้งที่เป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาทั้งหมดในเรื่องนี้ 

นายกฯเศรษฐาทวิตล่าสุดใน X ระบุว่า ได้หารือร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับผู้บริหารของ เบาด์ แอนด์ บียอนด์ เกี่ยวกับกากแคดเมียม โดนบริษัทรับปากยินดีรับผิดชอบในการขนกากตะกอนแคดเมียมจากสมุทรสาครกลับไปที่หลุมฝังกลบที่ตาก โดยจะรีบเจรจากับ เจ แอนด์ บี เมทอล เพื่อร่วมดำเนินการขนย้ายกากกลับไปที่ตากโดยเร็ว ภายในวันที่ 30 เมษายน

ถ้าอ่านจากข้อความ เหมือนนายกฯ เศรษฐา กำลังจะสื่อว่าเมื่อมีการขนกากกลับไปฝังกลบเสร็จ ปัญหาทุกอย่างก็จะ ‘จบ’ ง่ายๆ เพียงแค่นั้น ไม่ได้มีท่าทีขึงขัง แข็งกร้าว หรือส่งสัญญาณว่าจะจัดการ ‘เช็คบิล’ เอาผิดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย

สำหรับหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ก็คือ ผาแดง อินดัสตรี หรือ PDI ในอดีต ที่กลุ่มคันทรีกรุ๊ป นำโดยทอมมี่ เตชะอุบล ไป ‘เทกโอเวอร์’ โดยถือหุ้นใหญ่ และ ‘เทิร์นอะราวด์’  บริษัทเปลี่ยนเป็น BEYOND ขยายไปลงทุนในกิจการโรงแรม โดยเป็นเจ้าของ โรงแรม 5 ดาวอย่าง Four Seasons Hotel Bangkok และ Capella Bangkok

หลังจากเทกโอเวอร์ผาแดงอินดีสตรีมา ตระกูลเตชะอุบล ก็พยายามลดความสำคัญจากธุรกิจดั้งเดิมที่ทำการขุดและถลุงสังกะสี ซึ่งมีแหล่งแร่สังกะสี และแหล่งฝังกลบกากอยู่ที่ตาก และโรงงานที่ระยอง 

แต่ก็มีเรื่องแปลกๆเกิดขึ้น จากอดีต ‘กากแคดเมียม’  ที่ถือว่าเป็นกากสารพิษจากการถลุงแร่สังกะสีจะต้องถูกนำไปฝังกลบในที่ดินของโรงงานที่ตาก แต่ต่อมาไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใด รัฐบาลกลับมีการเปลี่ยนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เปิดทางยอมให้ขุดกากสารพิษขึ้นมา ‘รีไซเคิล’ ได้ ทำให้กากสารพิษที่เป็นเหมือนขยะพิษกลายเป็นของมีค่าขึ้นมาในทันที โดยสามารถขายได้ในราคาสูงถึงราวตันละ 8 พันบาท 

 ในคำชี้แจงที่ เบาว์ แอนด์ บียอนด์ แจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯหลังจากเกิดเหตุ ระบุว่า บริษัทเป็นเพียง ‘คู่สัญญาซื้อขายกากแคดเมียม’ กับ เจ แอนด์ บี เมทอล ตามสัญญาลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการประกอบกิจการกับ เจ แอนด์ บี เมทอล แต่อย่างใด และยินดีจะร่วมมือกับภาครัฐเพื่อร่วมยุติและบรรเทาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อคลายความกังวลของสาธารณชน

ชัดเจนว่า เบาว์ แอน์ บียอนด์ ต้องการจะสื่อว่า เป็นเพียงผู้ขายกากแคดเมียม แต่ไม่ได้รับรู้ว่าเมื่อกากสารพิษนี้ถูกส่งจากต้นทางออกไปแล้วจะมีเส้นทางไปไหนอย่างไร ทั้งๆที่ในหนังสือที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตากส่งถึงบริษัท กลับระบุสถานะของ เจ แอนด์ บี เมทอล ว่าเป็น ‘ผู้รับบำบัดกำจัดกากแคดเมียม’

แต่ถ้าดูตามข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่า เบาว์ แอนด์ บียอนด์ คือ ‘ผู้ก่อกำเนิด’ กากสารพิษตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฎิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการขนส่งและการจัดเก็บแม้เมื่อนำออกจากโรงงานไปแล้ว จนกว่าจะได้รับการจัดการแล้วเสร็จตามที่ได้รับอนุญาต 

เมื่อเป็นเช่นนี้ เบาว์ แอนด์ บียอนด์ จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ เจ แอนด์ บี เมทอล ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าลงทุนซื้อกากแคดเมียมจำนวนถึงกว่า1.38 หมื่นตันเพื่อนำไปหลอมในโรงงานรีไซเคิลในไทยที่ไหน หรือมีการสำแดงเท็จส่งออกกากแคดเมียมไปยังต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะทำเงินได้อย่างมหาศาล เพราะแคดเมียมที่ได้จากการหลอมสามารถจะขายได้ในราคาสูงถึงราวตันละ 1.4-1.5 แสนบาท

 เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ค่อนข้างชัดเจนว่า มีขบวนการคอร์รัปชันในการอนุมัติ และออกใบอนุญาตของใครบางคนในกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายทุนเจ้าของเหมือง คือ ผู้ได้ประโยชน์ลำดับแรกจากกากแร่พิษ ที่กฎหมายเคยบังคับให้ฝังไว้ใต้ดินเป็นขยะตลอดไป แต่วันนี้กลับขายได้ราว 100 ล้านบาท แถมที่ดินผืนที่ใช้ฝังกลบก็จะกลับมามีมูลค่าอีกครั้ง

ขณะเดียวกันนายทุนต่างชาติที่กล้าซื้อของล็อตใหญ่ขนาดนี้ ก็คงย่ามใจว่าประเทศไทยอะไรก็ซื้อได้แม้เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะกากแร่จำนวนถึง 13,832 ตัน ต้องใช้รถบรรทุก 10 ล้อขนไม่น้อยกว่า 550 เที่ยว แต่สามารถขนย้ายไปไหนต่อไหนตามอำเภอใจ 

ในขณะที่โกดังที่ใช้เก็บ นอกจากจะตั้งอยู่บนที่ดินกว่า 80 ไร่ และกระจายไปแอบเก็บไว้อีกหลายที่โดย อุตสาหกรรมจังหวัด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ กรมโรงงานฯ กลับแสดงท่าทีเหมือนไม่เคยรับรู้เรื่องนี้มาก่อน

ยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาประจานให้เห็นความเลวร้ายในเวลานี้ จึงไม่น่าจะเป็นทั้งหมดของปัญหาที่แท้จริง แต่บทพิสูจน์ของเรื่องนี้จะไปจบลงตรงไหน คงต้องกลับไปถามใจนายกฯเศรษฐาว่าจะ ‘ฝังกลบ’ เรื่องนี้ไว้ที่ทำเนียบ หรือจะกล้าพอที่จะขยายผลเปิดโปงความจริงทั้งหมดในเรื่องนี้ ?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์