ก.ล.ต. ใส่เกียร์ว่าง ปล่อย ‘สมโภชน์’ ลอยนวล 7 ปี

15 ก.ค. 2567 - 10:52

  • กรณีพฤติกรรมผู้บริหารของ EA ต้องตั้งคำถามกับ ก.ล.ต.

  • ได้รับเรื่องร้องเรียนมาก่อนหน้านี้ 7 ปี แต่ไม่ดำเนินการ

  • ให้เหตุผลรอหลักฐาน และความชัดเจน สุดท้ายนักลงทุนรับเคราะห์

deep-space-ea-crisis-sec-negligent-SPACEBAR-Hero.jpg

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต ได้รับเรื่องร้องเรียน พฤติกรรมการทุจริตของผู้บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559  แต่เพิ่งจะมากล่าวโทษ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ และ ‘อมร ทรัพย์ทวีกุล’ กรรมการและผู้บริหาร EA  และ ‘พรเลิศ เตชะรัตโนภาส’ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)  ว่า ร่วมกันทุจริต ทำให้ EA และบริษัทย่อยเสียหาย คิดเป็นมูลค่า 3,465.64  ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมานี้เอง

ทำไม ก.ล.ต ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี  ผ่านเลขาธิการ ก.ล.ต มาแล้ว 2  คนคือ ‘รพี สุจริตกุล’ ต่อเนื่องมาถึง ‘รื่นวดี  สุวรรณมงคล’ จนมาถึงเลขาคนปัจจุบัน ‘พรอนงค์ บุษราตระกูล’  จึงค่อยมาบอกนักลงทุน บอกประชาชนว่า  ผู้บริหาร EA ถูกกล่าวหาว่าโกงบริษัท 

ก.ล.ต อธิบายว่า ที่ต้องใช้เวลานาน กว่าจะกล่าวโทษสมโภชน์กับพวกได้ เพราะมีประเด็นตรวจสอบหลายประเด็น เกี่ยวพันกับกฎหมายหลายมาตรา  มีข้อมูลต้องพิจารณาจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังต้องให้ความเป็นธรรมกับ ‘ผู้ต้องสงสัย’ ชี้แจงอย่างเต็มที่ทั้งเรียกมาสอบปากคำ และชี้แจงเป็นหนังสือ 

EA  มีผู้ถือหุ้นรายย่อย 42,659  ราย คิดเป็น 40 %  ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดได้รับ ‘ความเสียหาย’ ทั้งจากการ ‘ทุจริต’ ของสมโภชน์ และจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่ารวม ถึง  136,400 ล้านบาท จากมาร์เก็ตแคปที่หายไป

นักลงทุนรายย่อยเหล่านี้ถ้ารู้ว่า ‘สมโภชน์’ โดน ก.ล.ต สอบทุจริต มาตั้งแต่ 7 ปีก่อน คงระมัดระวัง คิดหน้าคิดหลังว่าจะลงทุนกับหุ้น EA ต่อไปดีไหม แต่พวกเขาไม่รู้ เพราะ ก.ล.ต.ไม่บอก

มีคนที่รู้เรื่องนี้อยู่ไม่กี่คนคือ สมโภชน์กับพวก และเมื่อรู้ว่าใกล้จะถูกตั้งข้อหาก็ ‘ทยอยขายหุ้นทิ้ง’ เงียบๆ ขายไปเดือนหนึ่งแล้ว ค่อยแจ้งตลาดหลักทรัพย์กับ ก.ล.ต. โดยคำอธิบายการขายหุ้นที่ให้กับตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต ก็ ‘ไม่เหมือนกัน’ 

ก.ล.ต อ้างว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับสมโภชน์กับพวก แต่มองดูนักลงทุนรายย่อยเป็น ‘แมงเม่า’ บินเข้ากองไฟที่สมโภชน์จุดขึ้นล่ออย่าง ‘เลือดเย็น’

นอกจากนักลงทุนรายย่อยที่เสียหายนับแสนล้านแล้ว ยังมีผู้ถือหุ้นกู้  EA ทั้งที่เป็นนักลงทุนสถาบัน สหกรณ์ออมทรัพย์ และนักลงทุนรายย่อย จำนวน31,000  ล้านบาท ที่จะครบกำหนดชำระในปีนี้ 5,500ล้านบาท และรุ่นสุดท้ายจะครบกำหนดในปี 2576 

หลังจาก ก.ล.ต เปิดปากเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีว่า ผู้บริหาร EAโกง และ ‘ทริส’ ลดอันดับเครดิต มีผู้เสนอขายหุ้นกู้ EA ในราคา ‘Discount’ ถึง 50 % เพราะไม่มั่นใจว่า เมื่อถึงกำหนดไถ่ถอน EA จะสามารถ ‘จ่ายเงินต้นคืน’ ได้หรือไม่

การขายหุ้นกู้ต้องขออนุญาตต่อ ก.ล.ต.  ถ้าทำถูกขั้นตอน เปิดเผยข้อมูลครบตามกฎ ก็จะได้รับการอนุมัติให้ขายหุ้นกู้ได้   ก.ล.ต.ไม่สนใจว่า คนที่ออกหุ้นกู้นั้นเป็นใคร มีประวัติอย่างไร  ถูกร้องเรียนว่าทุจริตหรือไม่  เป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่ต้องประเมิน ‘ความเสี่ยง’ และตัดสินใจเอง 

การขายหุ้นกู้เหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วง 7 ปีที่ ก.ล.ต. ไม่ยอมบอกนักลงทุนให้รู้ว่า  ผู้บริหาร EA กำลงถูกสอบเรื่องทุจริต

จริงอยู่ที่ การร้องเรียนตลอดจนการกล่าวโทษของ ก.ล.ต . ว่าสมโภชน์กับพวกทุจริต ยังเป็นเพียงข้อกล่าวหาไม่ใช่ข้อยุติ เพราะคนที่ตัดสินคือศาล แต่  ก.ล.ต มีหน้าที่ ‘กำกับ’ ดูแล การลงทุนในตลาดทุนให้ ‘โปร่งใส’ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย  ไม่ใช่เป็นธรรมกับผู้บริหารกิจการที่ออกหลักทรัพย์เท่านั้น แต่ต้องเป็นธรรมกันนักลงทุนด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริหารที่ถูกร้องเรียนด้วย  เพราะหากมัวแต่รอให้หลักฐานชัดเจน ดิ้นไม่หลุด แล้วค่อยประกาศกล่าวโทษ 

เท่ากับซื้อเวลาให้คนทำผิดลอยนวล หาผลประโยชน์ใส่ตัวจนนาทีสุดท้าย

อุปมาเหมือนมีคนไปแจ้งตำรวจว่า  นาย ก. ลักทรัพย์ ตำรวจบอกว่าอย่าไปบอกใครนะ ขอเวลาสอบสวนหาหลักฐานก่อนเพื่อความเป็นธรรมกับนาย ก. 

ระหว่างนั้น นาย ก. ก็ลักทรัพย์ไปทั่ว โดยไม่มีใครรู้เพราะตำรวจห้ามบอก จนเมื่อมั่นใจในพยานหลักฐานแล้ว ตำรวจจึงประกาศจับแจ้งข้อหา นาย ก. แต่ถึงตอนนั้นทุกบ้านโดน นาย ก. งัดบ้านเข้าไปขโมยของหมดแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์