วันนี้รถเมล์ใน กทม. ไม่ใช้เป็นสัมปทานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( ขสมก.) แต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป
ขสมก. แปรสภาพเป็นเพียง ‘ผู้ได้รับอนุญาต’ ให้เดินรถเมล์ รายหนึ่งเท่านั้น
อำนาจ หน้าที่ในการให้ใบอนุญาต การกำกับดูแล ถูกโอนไปให้กับ ‘กรมการขนส่งทางบก’ กระทรวงคมนาคม
ภายใต้แผนปฏิรูปรถเมล์ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว มีรถเมล์ทั้งหมด 272 สาย เป็นเส้นทางของ ขสมก. 107 สาย เป็นของบริษัทไทยสมายล์ บัส จำกัด ถึง 123 สาย ที่เหลือเป็นเอกชนอื่นๆ ที่เคยให้บริการ รถร่วม ในช่วงก่อนแผนปฏิรูป
ไทยสมายล์ บัส หรือ ‘ไทยยิ้ม’ ผงาดขึ้นเป็นเจ้าของสัมปทานรถเมล์ใหญ่ที่สุด มีรถเมล์ให้บริการ 2,350 คัน เป็นรถเมล์ไฟฟ้าสีน้ำเงินใหม่เอี่ยม เก็บค่าโดยสารตามระยะทาง เริ่มต้น 15 บาท สูงสุดไม่เกิน 25 บาท ตลอดสาย
ในขณะที่ ขสมก. ยังใช้รถเมล์เก่าๆ ทั้งรถร้อน รถปรับอากาศยูโร ใช้น้ำมันดีเซล รถปรับอากาศเอ็นจีวี รวม 2,800 กว่าคันเพราะไม่มีเงินซื้อรถใหม่ ตามแผนปฏิรูปรถเมล์จะเริ่มจัดหารถใหม่ 3,390 ที่เป็นรถไฟฟ้า ในไตรมาส 3 ปีหน้า ‘ถ้า ครม. อนุมัติ’
สำหรับเงื่อนไข การให้ใบอนุญาตของ กรมการขนส่งทางบก ไม่มีใครรู้รายละเอียดว่า ผู้ขอต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เหตุใดไทยสมายล์บัสจึงกวาดสัมปทานไปเกือบครึ่งหนึ่ง และมีเงื่อนไขไหมว่า แต่ละสายต้องมีรถวิ่งอย่างต่ำกี่คัน ในแต่ละช่วงเวลา
เพราะตั้งแต่ไทยสมาย์บัส เริ่มให้บริการเมื่อ 2 ปีก่อน ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดคือ ผู้โดยสารต้อง ‘รอรถนาน’ ไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง หรือบางทีก็เกือบชั่วโมงซึ่งน่าจะเกิดจากรถไม่พอ คนขับไม่มี เพราะมีสายรถเมล์ที่ต้องให้บริการถึง 123 สาย เพราะแม้บริษัทจะบอกว่ามีรถให้บริการแล้ว 2,350 คัน แต่ไม่มีการตรวจสอบว่า ‘วิ่งจริงกี่คัน’ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างมาก ที่แม้ยอมจ่ายค่าโดยสารที่แพงขึ้นกว่า 2 เท่าตัว แต่ไม่มีรถโดยที่ไม่มีเสียงจาก regulator คือกรมการขนส่างทางบกเลยว่า ได้ทำอะไรบ้าง เพื่อแก้ปัญหานี้
ไทยสมาย์บัส เป็นธุรกิจในเครือ พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ของสมโภชน์ อาหุนัย
สมโภชน์ถือหุ้น ไทยสมายล์บัส ผ่าน ‘บริษัท EA’ ที่เข้าไปถือหุ้น ‘บริษัทหลักทรัพย์บียอนด์ จำกัด’ (มหาชน) หรือ BYD อีกทีหนึ่ง ในสัดส่วน 49 %
หุ้นอีก 51 % ถือโดย ‘กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา’ ซึ่งเป็น CEO ของไทยสมายล์บัสด้วย
กุลพรภัสร์ หรือ กิ๊ก ยังเป็นเจ้าของ ‘บริษัทดับเบิ้ล พีแลนด์’ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ‘บลูเทคซิตี้’ ที่จังหวัดฉะเชิงเทราที่สมโภชน์ ไปลงทุนตั้งบริษัทผลิตแบตเตอรี่ รถไฟฟ้าชื่อ ‘อมิตา เทคโนโลยี่’ และ ‘บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน)’ ที่ผลิตรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย คือ รถบัส รถเมล์ไฟฟ้า
ผู้ถือหุ้นใหญ่ เน็กซ์อีกรายหนึ่งคือ ‘คณิสสร์ ศรีวชิระประภา’ ซึ่งเป็น ซีอีโอด้วย
คณิสสร์ ยังเป็นเจ้าของ ‘บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด’ ที่นำเข้า รถเมล์ เอ็นจีวีจากจีนยี่ห้อ Sunlong มาขาย ขสมก. ทำให้เขามีเส้นสาย และช่องทางในการทำธุรกิจขายรถกับ ขสมก.
คณิสสร์เคยชนะประมูลขายรถเมล์ เอ็นจีวี 489 คันให้ ขสมก. เมื่อปี 2559 แต่ถูกกรมศุลกากร**‘อายัด’**รถ เพราะสำแดงเท็จ เพื่อ ‘เลี่ยงภาษี’ คือเป็นรถที่นำเข้าจากจีนทั้งคัน แต่เอามาพักไว้ที่มาเลเซีย โดยแจ้งว่าประกอบที่มาเลเซีย เพื่อไม่ต้องเสียภาษี ตามข้อตกลง ‘อาฟต้า’ ทำให้ส่งมอบรถให้ ขสมก. ไม่ได้ถูกบอกเลิกสัญญา
คณิสสร์ฟ้องศาลปกครองให้ ขสมก. ใช้ค่าเสียหาย ศาลปกครองกลางให้เบสท์ริน ‘ชนะ’ สั่งให้ ขสมก. จ่ายค่าเสียหาย 1,159 ล้านบาท ขสมก. อุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง กลับคำสั่งศาลปกครองกลาง และสั่งให้ เบสท์รินกรุ๊ป ‘จ่ายค่าปรับ’ ให้
ขสมก. เป็นเงิน 520 ล้านบาท ภายใน60 วัน หรือภายในวันที่ 4 สิงหาคม ที่จะถึงนี้
‘เน็กซ์’ ผลิตรถเมล์ไฟฟ้าขายให้ ไทยสมายล์บัส และผู้เดินรถเมล์สายอื่นๆ รวมทั้งบริการซ่อมบำรุง ในขณะเดียวกัน EA กู้เงิน 2,000 ล้านบาทจากธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อ ‘ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ’ รถเมล์ไฟฟ้าผ่านบริษัทในเครือ ให้กับไทยสมายล์บัส และผู้รับอนุญาตอื่นๆ
นี่คือระบบ ‘อีโคซิสเต็ม EA’ ที่สมโภชน์สร้างขึ้นมา เป็นโมเดลธุรกิจที่ผลประโยชน์ทุกอย่างไม่รั่วไหลออกไปข้างนอก สมโภชน์เอาเงินไปลงทุนในเน็กซ์ กับไทยสมาย์บัส ไทยสมายล์ บัส ซื้อรถจากเน็กซ์ เป็นรายได้ ‘กลับคืน’ ไปสู่สมโภชน์
ลำพังรายได้จากค่าโดยสารรถเมล์ไม่น่าจะทำให้ ไทยสมายล์บัส ‘คืนทุน’ และมี ‘กำไร’ ในเวลาสั้นๆ แม้ว่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่เป็นไฟฟ้าจะถูกกว่าน้ำมัน และค่าโดยสารที่สูงขึ้น
Exit strategy หรือ วิธีถอนทุนของไทยสมายล์บัสคือ เข้าตลาดหลักทรัพย์ ภายในปี 2568 หรืออย่างช้าไม่เกินปี 2570
แต่เมื่อสมโภชน์กับพวกโดน ก.ล.ต กล่าวโทษว่า ‘ทุจริต’ และทั้งหุ้น EA หุ้น NEX หุ้น BYD ราคา ‘ร่วง’ ลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นเรื่องของ EA ไม่ใช่ไทยสมายล์ บัส แต่ไทยสมาย์บัส อยู่ในอีโคซิสเต็ม ของEA
เมื่อต้นน้ำ คือสมโภชน์ และ EA สะดุด ปลายน้ำอย่าง ไทยสมายล์บัส ย่อมต้องสะเทือนและจะส่งผลกระทบต่อแผนปฏิรูปรถเมล์อย่างแน่นอน เพราะ ไทยสมาย์บัส เป็นผู้ให้บริการรถเมล์รายใหญ่ที่สุดเกือบครึ่ง กทม. ในตอนนี้