ปีชง ของ ‘สมโภชน์’ EA

27 พ.ค. 2567 - 10:31

  • เปิดปีมังกร ด้วยอาการชงตลอดตั้งแต่ต้นปี

  • ติดตามความเคลื่อนไหวหุ้น EA ของสมโภชน์ อาหุนัย

  • 3 หุ้นในมือ EA, NEX, บียอร์ด ทิ้งดิ่งแบบไม่ฟื้น

deep-space-ea-SPACEBAR-Hero.jpg

ปี 2567 อาจจะเป็นปีมังกรทองของใครบางคน แต่สำหรับ สมโภชน์ อาหุนัย ฉายา ‘อีลอน มัสก์’ เมืองไทย ชายผู้ไร้ชื่อเล่นวัย 57 ปี ทั้งที่ไม่ได้เกิดปีจอ แต่กลับดูจะเป็น ‘ปีชง’ ที่เจอแต่ข่าวร้ายๆ มาตั้งแต่ต้นปี

เริ่มตั้งแต่ต้นปี สมโภชน์ เปิดตัวลงชิงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สอท. แข่งกับ ‘เกรียงไกร เธียรนุกุล’ ประธานคนเดิมที่ต้องการทำงานต่ออีกสมัย โดยดูจากทรงตอนแรกก็ออกตัวได้สวย เรียกเสียงเชียร์ได้ไม่น้อยจากสื่อ แต่สุดท้ายก็โดนแรงต้านจากคนใน สอท. จนต้อง ‘อกหัก’ อย่างแรง 

ขณะเดียวกันในเชิงธุรกิจ สมโภชน์ก็โดนมรสุมหลายด้าน ที่ทำให้ผลประกอบการของ EA บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และ NEX บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัก (มหาชน) ออกมาต่ำกว่าคาดหมาย แถมยังส่งผลกระทบไปถึง BYD บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ถือหุ้นอยู่ด้วย

ราคาหุ้นของทั้ง 3 บริษัท ‘สาละวันเตี้ยลง’ แถมยังไหลลงลึกจนน่าตกใจ โดยราคาหุ้น EA ล่าสุดเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 พฤษภาคม 2567) ยังลงต่ออีก 1.26% มาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับราคาหุ้นละ 23.50 บาท จากจุดสูงสุดที่เคยขึ้นไปถึง 105.50 บาท 

หุ้น NEX ราคาอยู่ที่ระดับ 3.08 บาท จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดเกือบ 30 บาท ส่วนราคาหุ้นของ BYD ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 2.30 บาท

หุ้นในกลุ่ม EA เริ่มมีการปรับตัวลงมาเรื่อยๆตั้งแต่ปี 2564 แต่ก็ดูจะมาถึงจุด ‘เลวร้าย’ สุดๆในปีนี้ หลังจากผลประกอบการย่ำแย่ต่อเนื่องมาหลายปี 

ในส่วนของ EA นั้นโดนผลกระทบเต็มๆจากรายได้ และกำไรที่หดหายไป เพราะบรรดาโรงงานไฟฟ้าที่เคยได้รับ ‘ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม’  หรือ Adder ที่เริ่มทยอยหมดอายุ และโดนผลกระทบหนักสุดในช่วงปีนี้ ทำให้กำไรสุทธิเหลือราว 888 ล้านบาท จากปีก่อนที่เคยมีกำไรถึง 2.6 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน NEX ก็มีปัญหาในการผลิตรถ EV ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ทั้งการผลิตรถแท็กซี่ไฟฟ้า มาจนถึง รถหัวลากไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และรถเมล์ไฟฟ้า ทำให้ยอดการผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอาการสะดุดที่มาจาก ‘ดีลใหญ่’ ที่จะขายรถแท็กซี่ไฟฟ้าให้กับ ‘กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนียน สุวรรณภูมิพัฒนา’ จำนวน 3.5 พันคัน และดีลรถเมล์ไฟฟ้า ที่เกิดอาการสะดุดตามมาอีก ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการแข่งขันในตลาดรถยนต์ EV ไฟฟ้าที่สู้กันรุนแรง โดยมีซัพพลายจากจีนที่เข้ามา ‘ดัมพ์ราคา’ จนตลาดปั่นป่วนไปหมด  

ในขณะที่ BYD หรือ บล.บียอนด์ ก็โดนผลกระทบจากอาการ ‘ซึมเศร้า’ ของตลาดหุ้นไทย ที่ฉุดให้ผลประกอบการออกมาย่ำแย่มาอย่างต่อเนื่อง 

ในโลกธุรกิจต่างทราบกันดีว่า ไม่มีใคร ‘เก่งและเฮง’ ได้เสมอไป เราอาจจะเก่งในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในอีกช่วงเวลาหนึ่งอาจจะเพลี่ยงพล้ำ สะดุดลงด้วยหลายสาเหตุ เช่น อ่านโจทย์ไม่แตกหรือ อ่านตลาดไม่ออก

สมโภชน์ เองก็ไม่อาจหนีสัจจธรรมในเรื่องนี้ได้พ้น ถึงแม้เขาจะเคยถูกยกย่องว่านักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่สามารถก้าวขึ้นมาผงาดเป็นมหาเศรษฐีพันล้านในอันดับต้นๆได้หลายปีต่อเนื่อง แต่มาถึงนาทีนี้ ดูเหมือนถึงแม้ เขาจะอ่านโจทย์ และอ่านตลาดได้ทัน แต่เขากลับไม่สามารถแก้หรือปรับเปลี่ยนได้ทันตามแผน

ก่อนหน้านี้ สมโภชน์ พยายามปรับโครงสร้างธุรกิจของ EA เพราะรู้ตัวดีว่า รายได้จากโรงไฟฟ้า จะเริ่มปรับลดลง โดยพยายามหันไปสู่การลงทุนด้าน ‘แบตเตอรี่ไฟฟ้า’ และยังหันไปเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าใน ‘สปป.ลาว’ จากการลงทุนตั้งบริษัทร่วมทุน Super Holding Company ในสัดส่วน 65 : 35 ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ และจัดจำหน่ายพลังงานในต่างประเทศแบบ Single Gate Way แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะได้รับโอนโรงไฟฟ้ามาเข้าโครงการ

นอกจากนี้เขายังมีแผนที่จะเปิดแพลตฟอร์ม ตลาดซื้อขาย ‘คาร์บอนเครดิต’  แต่ก็เกิดอาการสะดุด หลังจากเริ่มเข้าไปปูทางในการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านทาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่เกิดประเด็นเรื่อง ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’  จน ส.อ.ท.ในยุค ประธานเกรียงไกร ต้องลงมาตรวจสอบ

ในขณะที่ความพยายามที่จะปรับโครงสร้างไปสู่ New S Curve ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV ก็ขยับช้าเกินไป จนตกเข้าไปสู่น่านน้ำของ Red Ocean ที่กำลังมีการแข่งขันที่ดุเดือด โดยเฉพาะในด้านราคาของค่ายจากจีน

ยิ่งไปกว่านั้น จุดแข็งเดิมของหุ้นในกลุ่ม EA ที่เป็นผลมาจากรากฐานเดิมที่อยู่ในแวดวงตลาดหุ้น คือ ‘บล.หยวนต้า’  ทำให้มีการกระจายหุ้นออกไปอยู่ในมือนักลงทุนรายย่อยค่อนข้างมาก โดย EA มีผู้ถือหุ้นรายย่อยสูงถึงกว่า 4.2 หมื่นราย และ NEX มีผู้ถือหุ้นรายย่อยถึง 1.2 หมื่นราย จึงค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคา 

ในตอนขาขึ้น ราคาก็จะถูกดันขึ้นไปค่อนข้างแรง แต่ผลเสียคือ เมื่อราคาหุ้นตก นักลงทุนจำนวนมากที่ติดหุ้น ต้องเผชิญกับการบังคับขาย หรือ Force Sell ยิ่งซ้ำเติมให้ราคาหุ้นดิ่งลงอย่างแรงเหมือนที่กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้

ซ้ำร้ายเมื่อเผชิญกับข่าวลือในทางลบ เรื่องผู้บริหารมีการทยอยขายหุ้นซ้ำเข้ามาอีก จึงยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแน่หนักขึ้น ทั้งๆที่ สมโภชน์เองก็ยืนยันว่า นอกจากไม่ได้ขายหุ้นออกมาแล้ว ยังซื้อหุ้นเพิ่มเสียด้วยซ้ำ

คงต้องดูกันต่อไปว่า สมโภชน์ ที่เคยได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้บริหารที่ขยันออกสื่อ จะออกมาแก้เกม ปลุกขวัญกำลังใจ และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนกลับมาได้หรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จอาจจะต้องลองเดินสาย แก้ชง ออกสื่อแก้เคล็ดเสียเลยจะดีไหม...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์