เส้นทางบาปบริสุทธิ์ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ EP 4 : โกงความตายด้วยเซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น

6 ส.ค. 2567 - 04:50

  • การกลับมาของสมโภชน์ อาหุนัย หลังแยกทางกับ บล.หยวนต้า

  • เซนต์ คาเบรียล คอนเนคชั่น คือทางรอดใหม่

  • การคืนชีพของสมโภชน์มาจาก พี่และเพื่อน

deep-space-ea-st-gabriel-connection-SPACEBAR-Hero.jpg

ย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคมปี 2544 จากบทเรียนที่แสนเจ็บปวดที่ถูก ‘อัปเปหิ’ ออกมาจาก ‘หยวนต้า (ประเทศไทย)’ แบบบอบช้ำ แถมยังถูก ‘แบล็กลิสต์’ กลายๆ จากตลาดทุนด้วยข้อหาร้ายแรงว่ามีการปั่นหุ้น ‘ไทยธนาคาร’ ทำให้ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ เจ้าของอาณาจักรพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ต้องตกอยู่ในสภาพเสียศูนย์ ทำใจเลียแผลอยู่พักใหญ่ ก่อนตั้งสติและตัดสินใจที่จะกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นใหม่อีกครั้ง

การกลับมาในคราวนั้น เขาพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมตลาดทุนแบบเงียบๆ ลดดีกรีของความ ‘อหังการ’ ในความสำเร็จ ที่กลายเป็นการสร้างศัตรูรอบตัวโดยที่ไม่รู้ตัว กลับมาเล่นบทนักลงทุน และเป็น ‘เงา’ อยู่เบื้องหลังให้กับตำนานนักลงทุนรุ่นพี่ ‘ศิริธัช โรจนพฤกษ์’  เจ้าพ่อคอม-ลิ้งค์ โดยเข้าไปช่วยดูแลพอร์ตการลงทุนให้จนกลายเป็น ‘ลูกน้องสุดเลิฟ’ ของศิริธัชอยู่ระยะหนึ่ง 

นอกเหนือจาก ‘เสี่ยคราม’  ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท คอม-ลิงก์ จำกัด จะเป็นเพื่อนรักของ ‘บิ๊กป้อม’ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ที่ทำให้เกิดตำนานเรื่อง _‘นาฬิกายืมเพื่อน_’ แล้ว ‘ศิริธัช’  ที่ร่วมก่อตั้ง คอม-ลิงก์ มากับปัฐวาท ก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่ ‘เซนต์คาเบรียล’ เช่นเดียวกับ ‘หม่อมอุ๋ย’ มรว.ปริดิยาธร เทวกุล 

ทั้งสามคนต่างก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้งคอม-ลิงก์มาด้วยกัน และอาณาจักรแห่งนี้ก็เป็นเสมือนฐานทุนใหญ่เครือข่ายทางการเมืองของบิ๊กป้อมมาโดยตลอด  

ในบรรดาโรงเรียนที่เป็นนักเรียนชายล้วน นอกเหนือจาก 4 มหาอำนาจขาสั้น ในนาม ‘จตุรมิตร’ คือ สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ อัสสัมชัญ และ กรุงเทพคริสเตียนแล้ว เครือข่ายศิษย์เก่าของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เลือดน้ำเงิน-ขาว ก็เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์ของศิษย์เก่าที่เข็มแข็งและเหนียวแน่น 

บรรดานักเรียนเก่าของสถาบันแห่งนี้สามารถเข้ามาโลดแล่นอยู่ในวงอำนาจทั้งการเมืองและเศรษฐกิจในแถวหน้าได้เป็นจำนวนมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จนถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคหลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 จนกระทั่งมีคำเรียกขานเฉพาะว่า  ‘เซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น’

หากจะนับว่าหลังปี 2549 เป็นยุคเริ่มต้น จากนั้นคำว่า ‘เซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น’  ก็ไม่เคยห่างหายไปจากการเมืองไทย โดยเริ่มจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีปัจจุบัน ที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่เคยเรียนชั้นประถมโรงเรียนเซนต์คาเบรียล  และ ครม.ในยุคนั้น มีรัฐมนตรีที่มีเลือดน้ำเงิน-ขาว ถึง 4 คน ได้แก่ 

หม่อมอุ๋ย’  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ และ รมว.คลัง  โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม และ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

เครือข่ายของความสัมพันธ์นี้มี ‘บิ๊กป้อม’ พลเอกประวิตร เป็นเสมือน ‘ศูนย์กลาง’ และพี่ใหญ่ของเครือข่าย โดย 

เชื่อกันว่าที่ผ่านมา ‘บิ๊กป้อม’ ใช้สถานะการเป็นพี่ใหญ่ในกองทัพและศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล ในการแบ่งปันจัดสรรทั้งอำนาจและผลประโยชน์ให้กับบุคคลในเครือข่ายรอบตัวมาอย่างต่อเนื่อง และทำให้บรรดานักธุรกิจที่มีเลือด น้ำเงิน-ขาว ที่สามารถเข้าไปในอยู่เครือข่ายวงในแห่งอำนาจในยุคที่ผ่านมาจะเหมือนมีลมใต้ปีกที่ช่วยหนุนส่งให้สามารถผลักดันธุรกิจตัวเองบินขึ้นมาอยู่ในจุดสูงสุด หรือแถวหน้าได้อย่างรวดเร็ว และ สมโภชน์ ก็เป็นคนหนึ่งในนั้น 

ในยุคนั้น รัฐบาลของพลเอก สุรยุทธ์ มีนโยบายส่งเสริมเรื่องธุรกิจพลังงานทดแทน จึงทำให้เป็นโอกาสทองของบรรดานักธุรกิจในเครือข่าย ‘เซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น’ อาศัยสายสัมพันธ์พิเศษพาเหรดเข้าไปลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ทั้งการตั้งโรงงานผลิตเอทานอล และ ไบโอดีเซล รวมทั้งโรงไฟฟ้าทั้งจากพลังแสงอาทิตย์ และพลังลม ที่ได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อเป็นพิเศษจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

สมโภชน์ เห็นโอกาสและแนะนำให้ ศิริธัช และ _‘วรเจตน์ อินทามระ’_เพื่อนรุ่นพี่จากเซนต์

คาเบรียลเช่นเดียวกัน ใช้ตลาดทุนในการระดมทุน ในรูปแบบ ‘แบ็กดอร์ลิสซิ่ง’ ในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม โดยการให้ ‘บริษัทซีฮอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ SH ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้ว เข้าซื้อกิจการของ บริษัทบุญอเนก จำกัด’ เพื่อลงทุนตั้งโรงงานผลิตเอทานอลขนาดกำลังผลิตวันละ 1.5 ล้านลิตร และทั้ง 3 คนก็เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของซีฮอร์ส เพื่อให้กลายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน ซีฮอร์ส และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘อีเทอเนิล เอนเนอยี’ หรือ EE มุ่งสู่การทำธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์

ซีฮอร์ส หรือ ม้าน้ำ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 เดิมชื่อ บริษัท ซีฮอร์ส จำกัด  โดยมี ‘เกียรติศักดิ์  มหัทธนาดุล’  ถือหุ้นใหญ่ ทำธุรกิจการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งอยู่ที่ อ.เมือง สงขลา จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2535 แต่ประสบปัญหาด้านการเงินหลังเผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540

สมโภชน์เคยเล่าว่า การเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานไบโอดีเซล และการตั้งโรงงานไบโอดีเซล ของ EE ไม่ได้เป็นความตั้งใจของเขาในตอนแรก แต่เกิดจากแม่ของสมโภชน์อยากให้เขาสร้างกิจการเพื่อเป็นธุรกิจหลักของตระกูล แทนที่จะ ‘รีไทร์’ หลังจากกลับมาทำเงินจากการ ‘เล่นหุ้น’ ได้เป็นหลักพันล้านบาท 

แต่สมโภชน์เข้าไปลงทุนร่วมกับ ‘ศิริธัช’ ได้ไม่นานความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เดินมาถึง ‘ทางตัน’ เนื่องจากการลงทุนตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลมีต้นทุนสูงกว่าที่คาด และไม่ทำกำไรเท่าที่ควร ทำให้ตัดสินใจแยกทางกันในเวลาต่อมา 

สมโภชน์ยังมั่นใจ และเห็นโอกาสจากนโยบายรัฐบาลในตอนนั้น ทำให้เขาชวนเพื่อน 2-3 คนมาลงขันกันเพื่อไปซื้อโรงงานผลิตไบโอดีเซล พร้อมก่อตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ ‘ซันเทคปาล์มออยล์’ ในปี 2549 และถัดมา 2 ปี ก็เปลี่ยนชื่อเป็น ‘พลังงานบริสุทธ์’ ที่ถือเป็นจุดกำเนิดของกลุ่ม EA

สมโภชน์เล่าว่า เพราะรัฐบาลในตอนนั้นเมื่อปี 2550 มีนโยบายส่งเสริมให้เอกชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าในราคาพิเศษหรือ (ADDER) ในช่วง 10 ปีแรก จากอายุสัมปทาน 25 ปี จำนวน 6.50-8.00 บาทต่อหน่วย ทำให้มีกำไรและมีผลตอบแทนที่แน่นอนคุ้มการลงทุน ทำให้เขาวางแผนลงทุนทยอยตั้งโรงไฟฟ้าหลายแห่ง ทั้งที่ ลพบุรี นครสวรรค์ ลำปาง และพิษณุโลก 

นอกจากนี้ยังเสนอตัวลงทุนตั้ง โรงงานไฟฟ้าจากกังหันลมอีก 13 โครงการ ซึ่งได้มาจากเครือข่ายความสัมพันธ์ของ ‘เซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น’ ที่สมโภชน์ดึง น้องชายสุดรักของบิ๊กป้อม พลตำรวจเอก ‘พัชรวาท วงษ์สุวรรณ’  อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มานั่งเป็นประธาน 

เพราะเหตุนี้ทำให้ปัจจุบัน EA  มีธุรกิจโรงไฟฟ้าอยู่ในมือกำลังการผลิตรวม 664 เมกกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 4 โครงการ 278 เมกกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังลมอีก 386 เมกกะวัตต์

วันที่ 31 มกราคม  2560ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางให้ โรงไฟฟ้ากังหันลม เทพสถิต วินด์ฟาร์ม ของ EA  ที่อำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งอยู่ในที่ดิน ส.ป.ก ออกจากพื้นที่ เพราะไม่ใช่กิจการเกษตร จึงเป็นการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ของส.ป.ก

อีก 4 เดือนต่อมา มีคำสั่ง คสช ที่ 31/2560  อนุญาตให้ธุรกิจพลังงานใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก ได้ เท่ากับล้มล้างคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลก่อนหน้านี้ ให้สัมปทานโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในที่ดิน ส.ป.ก ไปเป็นจำวนมาก มีการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท เกรงว่า คำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดนี้จะเป็นบรรทัดฐานที่นำไปสู่การล้มเลิกโรงไฟฟ้าเหล่านั้น

พลตำรวจเอกพัชรวาท นั่งเป็นบอร์ด EA  อย่างยาวนานกว่า 10 ปี เพิ่งจะลาออกเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

หลังจากนั้นอีกไม่ถึงปี  สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต.กล่าวโทษ  สมโภชน์กับพวกว่า ทุจริตหลังจากดองเรื่องไว้นานถึง 9 ปี

การออกจากบอร์ด EA  ของพัชรวาท เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ สัญญารับซื้อไฟฟ้าแบบมีค่า adder ของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของ EAทยอยหมดอายุลง

โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังงานลมได้รับเงินอุดหนุนจาก กฟผ.  ที่เรียกว่าค่า adder หน่วยละ 6.50 -8 บาท  ตามนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน  เพราะย้อนหลังไปตอนนั้น เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ และพลังงานลมยังมีต้นทุนการผลิตสูง ภาครัฐหวังว่า การอุดหนุนนี้จะทำให้โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์และพลังงานลม ได้แจ้งเกิด และช่วยให้ผู้ประกอบการ มีรายได้ มากพอที่จะนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพ เทคโนโลยีการผลิตให้ค่าไฟถูกลง

ค่า adder นี้จึงทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในยุคแรกๆ มีรายได้ มีกำไรแบบสบายๆ ไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะรัฐอุ้มโดยผลักภาระไปให้กับผู้ใช้ไฟในรูปค่า เอฟที ปีหนึ่ง 4-5 หมื่นล้านบาท และทำให้มีผู้ต้องการเข้าสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดในยุคหนึ่งมีข่าวลือว่า มีการซื้อขายใบอนุญาตกัน ในราคา ‘เมกฯละล้าน’

เมื่อหมดอายุการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบมีค่า adder   โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังงานลมก็ไปต่อไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาอยู่ได้เพราะ กฟผ. อุ้ม ให้เงินอุดหนุน รายได้กำไรจึงหายไปทันที ดังเช่นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของEA  ที่นครสวรรค์และลำปาง พอหมดค่าadder  สมโภชน์ก็ปิดโรงงาน เลิกกิจการ 

EA มีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีกหลายโรงที่จะทยอยหมดค่า adder นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายสำนัก เคยออกบทวิเคราะห์ว่า EA  จะไม่มีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าแล้ว  ต้องหาธุรกิจใหม่ทดแทน 

สมโภชน์จึงเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า เพราะเห็นโอกาสจากการเข้ามาของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ที่มี ‘เทสลา’ ของสหรัฐฯ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทำให้เขาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้า โรงงานแบตเตอรี่ไฟฟ้าฟ้า ไปจนถึงการเดินรถเมล์ไฟฟ้าในไทย 

จนวงการสื่อในยุคนั้นตั้งฉายาเขาว่าเป็นเหมือน ‘อีลอน มัสก์’ ของเมืองไทย

ยุคแห่งความรุ่งเรืองของ สมโภชน์ พุ่งถึงขีดสุดในปี 2565 เมื่อเขาได้รับการจัดอันดับเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 6 จากนิตยสารฟอร์บส โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสูงถึง 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ราว 1.37 แสนล้านบาท แต่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์พลิกผันครั้งใหญ่ จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เปลี่ยนขั้วอำนาจมาเป็นพรรคเพื่อไทย

ปิดฉากความยิ่งใหญ่ของ ‘เซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น’ และทำให้อาณาจักร EA และตัวสมโภชน์ต้องเผชิญกับวิบากกรรมในชีวิตที่หนักหนาสาหัส ชนิดที่เจ้าตัวยังต้องถามตัวเองว่าเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

มีบางคนบอกว่า อาจเป็นเพราะ สมโภชน์ ยังคงมี ‘ไฟแค้น’ จากการถูกขับออกจากวงการ ทำให้ สมโภชน์ ต้องการพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง จึงหวนกลับเข้าไปลงทุนซื้อ บริษัทหลักทรัพย์เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์บียอนด์ จำกัด (มหาชน) BYD ในปี 2564 

แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ สมโภชน์ มีสภาพคล้าย ‘น้ำที่เต็มจนล้นแก้ว’ และ ‘เปรียบหมือนพระจันทร์ที่เต็มดวง ที่เข้าสู่เดือนแรม’  ทำให้เขาเดินเกมการเงินที่ผิดพลาด จนกลายเป็นการทำร้ายตัวเองอีกครั้ง จากการกระโจนลงไปสู่ ‘กับดักทางการเงิน’ หรือ Money Game ที่ตัวเองสร้างขึ้น ซ้ำร้ายยังถูก ‘พิษรักรอยแค้น’ จากคู่ชีวิตที่ร่วมกันสร้างอาณาจักร EA มาด้วยกัน 

(โปรดติดตามตอนต่อไป EA กับ ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือไม่?)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์