ไซดักทรัพย์ หรือไซดักเงินทอง เป็นเครื่องรางที่นิยมแขวนไว้ในร้านค้า และในบ้านเพื่อ ‘ดัก’ เงินทองให้ไหลมาเทมา เหมือนปลาที่ว่ายเข้าไปในไซดักปลา
โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ของพรรคเพื่อไทย สองรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ และ ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ ช่วยกันยืนยันว่า จะสร้างพายุหมุนเศรษฐกิจ 4 ลูกใหญ่ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นจากความซบเซา
พายุหมุนลูกที่ 1 คือ การใช้จ่ายเงินระหว่างประชาชนกับร้านค้า ขนาดเล็ก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่
พายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุน เพื่อประกอบอาชีพ
พายุหมุนลูกที่ 4 คือพลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคน จะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
แต่ไม่ว่าจะพรรณนาสร้างอุปมาอย่างไร เมื่อมองดูกติกาในการใช้จ่ายเงินดิจิทัล ของร้านค้าขนาดเล็กแล้วเห็นได้ชัดว่า โครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัลถูกออกแบบมาเพื่อให้ประโยชน์แก่ร้านค้าขนาดใหญ่คือร้านแบบที่เรียกว่า โมเดิร์น เทรด อย่าง แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี มากกว่า
เหมือนโยนเงินดิจิทัล 5 แสนล้าน ลงไปในบ่อปลา พอปลากินจนอิ่มแล้ว ก็วางไซ วางลอบดักปลาให้ว่ายเข้ามา
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า ในพายุหมุนลูกที่ 2 ร้านค้าขนาดเล็ก ที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อรับเงินดิจิทัลมาจากผู้ซื้อแล้ว ‘จะไปแลกเป็นเงินสดไม่ได้’ ต้องเอาเงินดิจิทัลไปซื้อของจากร้านค้าขนาดใหญ่ หรือเอาเงินดิจิทัลไปซื้อของกิน ของใช้จากร้านค้าที่รับเงินดิจิทัล
มีแต่ร้านค้าในพายุหมุนลูกที่ 3 คือ ร้านค้าขนาดใหญ่ที่รับเงินดิจิทัลมาจาก ร้านค้าขนาดเล็ก ที่สามารถเอาเงินดิจิทัล ที่ถูกใช้เป็นรอบที่ 2 ไปขึ้นเป็นเงินสดได้
กล่าวคือ พายุหมุนลูกที่ 1 ร้านค้าขนาดเล็ก พ่อค้ารายย่อย ขายของแล้ว ‘ไม่ได้เงินสด’ ได้แต่ของ ที่จะเอามาทำขายต่อ หรือของกินของใช้ ที่เอาเงินดิจิทัลที่ขายของได้ไปแลกเอา
สมมุติว่าขายข้าวแกง ปกติขายได้วันละ 5,000 บาท หักต้นทุน แล้วกำไร 1,500 บาท จะเก็บออมไว้ หรือเอาไปจ่ายค่าไฟจ่ายค่าเทอมลูกก็แล้วแต่ ที่เหลือ 3,500 บาท เอาไปซื้อวัตถุดิบ สำหรับทำข้าวแกงขายวันต่อไป
ในระบบของเงินดิจิทัล ขายได้ 5,000บาทนั้น จะต้องเอาเงิน 5,000 บาทนั้น ไปซื้อวัตถุดิบหรือของกินของใช้ จากร้านที่รับเงินดิจิทัลจะไม่ได้จับเงินสด ได้มาแต่ของลูกค้าในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ วันต่อๆไป ที่จ่ายค่าข้าวแกงเป็นเงินดิจิทัล ถือเป็นเงินดิจิทัล รอบที่ 1 เอาไปขึ้นเงินสดไม่ได้ ต้องซื้อของอย่างเดียว
ทั้งทุน ทั้งกำไร จมอยู่ในระบบเงินดิจิทัลตลอดไป ยกเว้นว่าจะมีคนมา ‘รับซื้อ’ ของเจ้าของร้านข้าวแกงที่เอาเงินดิจิทัลไปซื้อมา ในราคาที่ลดแล้ว 20-30 % เจ้าของร้านข้าวแกงอาจกำไรน้อยลง แต่ได้เงินสด ส่วนคนรับซื้อก็ได้ของต้นทุนถูกกว่าท้องตลาดไปขายต่อ
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่มีการไปสัมภาษณ์ผู้ค้ารายย่อย เจ้าของร้านค้าขนาดเล็กแล้ว มีคำตอบว่า ‘ไม่สนใจ’ จะเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะขายของแล้ว ‘ไม่ได้เงินสด’ ซึ่งจะเป็นไซดักทรัพย์อีกลูกหนึ่ง ที่กวาดต้อนประชาชนผู้มีสิทธิให้ไปใช้เงินดิจิทัลในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งไม่เดือนร้อนจากการไม่ได้เงินสด เพราะมีร้านค้าขนาดใหญ่ในเครือเดียวกัน รวมทั้งโรงงานผลิตสินค้า รองรับการจ่ายค่าสินค้าด้วยเงินดิจิทัลอยู่แล้ว
พายุหมุนที่รัฐบาลบอกว่า จะมีด้วยกัน4 ลูก ในที่สุดแล้ว จะถูกไซดูดทรัพย์ ดูดเข้าไปหมุนวนเวียนอยู่ในระบบการผลิต การค้าแบบครบวงจรของบรรดาเจ้าสัวทั้งหลาย