หากประเมินจากการส่งสัญญาณล่าสุดของทีมงานเศรษฐกิจของ รัฐบาล ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร ที่มี พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.คลัง ที่หาญกล้าทางการเมืองไม่หวั่นกระแสต้าน ถึงขนาดกล้าโยนหินถามทาง
ออกมาเปิดเผยถึง ‘แผนการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่’ ภายใต้สูตรพิสดาร 15-15-15 ย่อมสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าถึงนาทีนี้รัฐบาลเริ่ม ‘จนแต้ม’ ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างและมีอาการ ‘ตกหล่ม’ มานับทศวรรษ
ทั้งหมดอาจจะเป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้มีแนวคิดที่จะใช้นโยบายหลายด้านในโครงการสารพัดประชานิยมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินอีกมหาศาล แต่ก็ติดขัดเนื่องจากเหลือพื้นที่ทางการคลังให้ก่อหนี้น้อยเต็มที ในขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีก็ไม่เพียงพอ
ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นไปสูงถึงระดับ 65-66% ต่อ GDP ทำให้เหลือพื้นที่ก่อหนี้สาธารณะได้อีกน้อยมาก จากเพดานการก่อหนี้ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ต่อ GDP หรือราว 15 ล้านล้านบาท คือเหลือเพียง 4-5 % หรือราว 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น
ถึงแม้สถานะทางการคลังของไทยยังคงมีเสถียรภาพ แต่ภาระทางการคลังในระยะต่อไป เริ่มมีความเสี่ยงสำคัญจากการจัดเก็บรายได้จากภาษีที่ต่ำกว่ารายจ่ายด้านงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องมีภาระ ‘ขาดดุล’ งบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.5% ต่อ GDP ซึ่งสูงกว่าระดับปลอดภัยที่ IMF กำหนดไว้ที่ระดับ 3%
ในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา ในวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท รัฐบาลมีการการจัดเก็บรายได้ได้เพียง 2,792,872 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 126,064.7 ล้านบาท หรือ 4.7% จากงบประมาณปี 2566 ทำให้ต้องมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณกว่าแสนล้านบาท
สำหรับรายได้จากภาษีนั้น สัดส่วนถึง 68.10% มาจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 2,268,121 ล้านบาท กรมสรรพสามิต 523,742 ล้านบาท คิดเป็น 15.72% ตามด้วย หน่วยงานอื่น 421,046 ล้านบาท สัดส่วน 12.64% และกรมศุลกากร 117,949 ล้านบาท คิดเป็น 3.54%
ในการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2567 นั้น รายได้หลักมาจาก 3 ทาง คือ จากภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) 947,276 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 6.64%จากปี 2566 รองลงมาเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 783,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.05% จากปีก่อน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 415,036 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.87% จากปีก่อน และภาษีธุรกิจเฉพาะ 69,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.11%
อาจเพราะเหตุนี้ทำให้ กระทรวงการคลังมีแนวคิดในการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ โดยใช้ 15 เป็นเลข ‘เมจิค นัมเบอร์’ เหมือนสูตรปุ๋ย 15-15-15 โดยจะจัดเก็บ ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราเดียวกัน คือ 15%
รองนายกฯและ รมว.คลัง พิชัย ชุณหวชิร เปิดเผยแนวคิดดังกล่าว ระหว่างปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘Financial Policies for Sustainable Economy’ ของสื่อใหญ่ค่ายบางนา โดยระบุว่าการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นการจัดเก็บจากการบริโภคจากทุกคน
แต่ปัจจุบันฐานภาษี VAT ของไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยตรึงในอัตรา 7% มาตั้งแต่ปี 2535 แต่หากเก็บสูงขึ้น คนรวยจะจ่ายสูงขึ้นตามการใช้จ่าย ทำให้เงินภาษีกองกลางใหญ่ขึ้น และจะถูกส่งกลับไปให้โอกาสกับคนรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่างๆของภาครัฐ ไม่ว่าจะสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล สถานศึกษา ซึ่งจะทำให้ ‘ช่องว่าง’ ระหว่างคนรวยกับคนจนลดลง
ความจริงอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้มีเพดานสูงสุดที่ 10% แต่ที่ผ่านมา ไม่มีรัฐบาลชุดไหนกล้าแตะของร้อน เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบที่จะทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น จึงตรึงในอัตรา 7% มาตลอดตั้งแต่ปี 2535 ขณะที่เฉลี่ยแล้วทั่วโลกจัดเก็บที่อัตรา 15-25% โดยจีนจัดเก็บที่ 19% สิงคโปร์ 9% และหลายประเทศในยุโรปอยู่ที่ 20%
‘ภาษีบริโภคเป็นภาษีที่คนทั่วไปมองว่าเซนซิทีฟ อย่างไรก็ตามหากจัดเก็บอัตราเหมาะสมจะเป็นเครื่องมือช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยและคนจนให้เล็กลงได้’
รองนายกฯพิชัยย้ำแนวคิดที่ต้องการให้มีการเพิ่มอัตราภาษี VAT ให้สูงขึ้น
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังยังมีแนวคิดที่จะปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่อัตรา15% ตามหลักการ Pillar 2 ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งอัตราการจัดเก็บภาษีของไทยต้องลดลงจากปัจจุบันที่ 20% เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราเดียว โดยจะจัดเก็บในอัตราฐานที่ 15% แทนการจัดเก็บแบบขั้นบันได โดยมีอัตราสูงสุดถึง 35% โดยเชื่อว่าจะดึงดูดให้บุคคลากรและคนเก่งจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทย ซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่จะจัดเก็บภาษีเงินได้อยู่ที่ 17-18% และต่ำที่สุดที่ 15%
‘การเก็บภาษีสูงหรือต่ำจะต้องพิจารณาให้ดีในแง่ของนโยบายการจัดเก็บภาษีของรัฐ ผมคิดเรื่องนี้ทุกคืน ซึ่งลำดับแรกจะต้องทำให้คนเข้าใจก่อน หากไม่เข้าใจแล้ว ผมจะอยู่รอดถึงวันไหนนะ’
รองนายกฯ พิชัย ชุณหวชิร ยอมรับถึงความยากลำบากหากจะผลักดันในเรื่องนี้ เพราะจะมีกระแสต้านโจมตีว่าเป็นการถอน ‘ขนห่าน’ จากประชาชน ซึ่งทำให้การปรับโครงสร้างภาษีในช่วงที่ผ่านส่วนใหญ่จะเป็นการปรับลดอัตราภาษีมากกว่า
คงต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ทุกๆรัฐบาลก็มี ‘ความพยายาม’ ที่จะปรับเพิ่มอัตราภาษี VAT เช่นเดียวกัน เพราะถือเป็นอัตราภาษีที่สามารถนำรายได้เข้ารัฐได้มหาศาล เพราะหากคำนวณจากฐานการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 947,276 ล้านบาท ทุก 1% ของ VAT ที่เพิ่มขึ้นจะนำรายได้เข้ารัฐถึงประมาณ 1.3 แสนล้านบาท
หากมีการจัดเก็บ VAT เป็นอัตรา 15% เพิ่มขึ้นอีก 8% จากอัตราปัจจุบัน 7% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นทันทีสูงถึง 1 ล้านล้านบาท !!!
รายได้ดังกล่าวสามารถจะมาชดเชยรายได้จากการจัดเก็บภาษีรายได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะปรับลดลงมาในอัตรา 15% ที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะช่วยการขยายฐานการจัดเก็บรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น และช่วยในการลดต้นทุนของ ผู้ประกอบการ และกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี หรือหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทย ‘ตกหล่ม’ และมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพมาตลอด ส่วนหนึ่งก็เพราะภาครัฐจัดเก็บรายได้เพียงราว 14% ของ GDP ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะมีรายได้ภาษีอยู่ที่ 18-20% ต่อ GDP ส่งผลกระทบถึงการทำงบประมาณขาดดุล และต้องก่อหนี้จนทำให้หนี้สาธารณเพิ่มขึ้นในระดับสูง จึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการหารายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะมาลงทุนและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้
แต่การปฏิรูปโครงสร้างภาษีในแนวทางดังกล่าว ต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมืองอย่างมาก เพราะการขึ้นภาษี จังหวะเวลาหรือ ‘ไทม์มิ่ง’ เป็นเรื่องสำคัญ คือ ควรทำเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวและแข็งแกร่งพอ
ปฎิบัติการทดลอง ‘แหย่เท้าลงน้ำ’ ของ รองนายกฯพิชัย ในครั้งนี้จึงต้องพบความจริงเชิงประจักษ์ เมื่อพบว่าน้ำที่เท้าแหย่ลงไปเป็น ‘น้ำเดือด’ จนต้องรีบชักเท้าออกแทบไม่ทัน เมื่อแต่เจอเสียงคัดค้านรุมถล่มมาจากทุกทิศทางทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายแค้น
อดีตรมว.คลัง ‘ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล’ ออกมาสวนแนวคิดดังกล่าวทันที โดยระบุว่า หากมีการขึ้นภาษี VAT จะกระทบคนมีรายได้น้อยอย่างกว้างขวาง เพราะจะทำให้กำลังซื้อลดลง เนื่องจากราคาสินค้าและบริการจะแพงขึ้น และนำไปสู่ ‘เงินเฟ้อ’ ที่จะทะยานขึ้นไป และยิ่งทำให้โอกาสที่จะให้แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเลือนรางลงไป
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อกำลังซื้อของประชาชนลดลง อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP ที่รัฐบาลพยายามจะกระตุ้นให้ตัวเลขสูงขึ้น ก็จะกลับแผ่วลง ถึงแม้จะพยายามจะแจกเงินหมื่นเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
แทนที่จะกระชากอัตราภาษี VAT ขึ้นไปทันทีถึง 8% ไปอยู่ในอัตรา15% รัฐบาลน่าจะใช้วิธีการเริ่มกระบวนการใช้หนี้สาธารณะคืนเพียงเล็กน้อย เช่น 1% และใช้โอกาสในการปรับโครงสร้างภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเพิ่มภาษี VAT สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นขั้นบันได โดยอาจจะปรับสูงขึ้นเป็น 15%
อดีตรมว.คลัง ธีระชัย ยังให้ความเห็นว่า แนวทางการปรับลดภาษีนิติบุคคลลงมาเหลือเพียง 15% ก็อาจเป็นเพียงนโยบายเพื่อเอื้อกลุ่มทุนในประเทศมากกว่า เพราะปัจจุบันธุรกิจข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนิติบุคคลจากการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนรายใหม่
แต่หากมีการลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงมา อาจจะได้ผลทางอ้อมที่ทำให้ตลาดหุ้นกลับมาคึกคัก เนื่องจากจะทำให้บริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีกำไรหลังหักภาษีเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ยุคแรกที่มีการลดภาษีนิติบุคคลอย่างมากจาก 35% เหลือ 21% ที่ทำให้ตลาดหุ้น Dow Jones พุ่งขึ้นในช่วง 4 ปี จากระดับ 2 หมื่นจุดไปเป็นระดับ 3 หมื่นจุด ทำให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกระจุกตัวอยู่แต่ในมือนักลงทุน และทุนใหญ่มากกว่า
เจอสอนมวย สวนหมัดกลับมาแรงขนาดนี้ จึงทำให้ รองนายกฯพิชัย ต้องรีบออกตัวว่าทั้งหมดเป็นเพียงการให้กระทรวงการคลังลองศึกษาแนวทางในการปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ ‘ตัดจบ’ ไปเพียงชั่วข้ามคืน...เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้...