เปิดศึกชิงทำแผนฟื้นฟู JKN เจ้าหนี้หุ้นกู้แตกเป็นสองกลุ่ม

29 เม.ย. 2567 - 09:17

  • หลังศาลล้มลายกลาง ให้ JKN เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

  • การช่วงชิงเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูในฝั่งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ก็เริ่มขึ้น

  • การจับมือ และระดมเจ้าหนี้ เพื่อโหวตผู้ทำแผนจึงต้องเร่งมือ และรวดเร็ว

deep-space-jkn-rehabilitation-plan-debenture-creditor-SPACEBAR-Hero.jpg

สำหรับคนทั่วไปเมื่อรับทราบคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง วันที่ 23 เมษายน ที่มีคำสั่งให้พื้นฟูกิจการของ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN อาจจะเชื่อว่า จักรวาลของ ‘แอน’ จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ฉายาหญิงข้ามเพศ และอาณาจักร JKN ที่ก่อตั้งมา อาจถึงคราว ‘ล่มสลาย’  ลง เพราะคงถูกตัวแทนฝั่งเจ้าหนี้แต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯเข้ามายึดอำนาจบริหารและจัดทำแผนฟื้นฟูฯทั้งหมด

แต่สำหรับ แอน จักรพงษ์ คำพิพากษาที่ออกมา ยังคงเปิดทางให้ลูกหนี้สามารถเข้าไปทำแผน และใช้ผู้ทำแผนฟื้นฟูฯที่มาจากตัวแทนลูกหนี้ หากเธอสามารถรวบรวมเสียงจากตัวแทนกลุ่มเจ้าหนี้ให้หันกลับมาสนับสนุนให้ลูกหนี้เป็นคนทำแผนฟื้นฟูฯ ทำให้มีการ ‘ล็อบบี้’ กันอย่างหนักหน่วงในเวลานี้เพื่อจะดึงบรรดาเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มให้มาโหวตให้ฝั่งของตัวเองเป็นผู้ชนะในศึกครั้งใหม่

ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ JKN โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (กรมบังคับคดี) เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่า บุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน โดยระหว่างดำเนินการเพื่อตั้งผู้ทำแผนให้ผู้บริหารลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ 

ในการเสนอเข้าแผนฟื้นฟู JKN ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยขอให้ JKN และบริษัทเพลินจิต แอดไวเซอรี่ แอนด์ แพลนเนอร์ และ บริษัทฟินิกซ์ แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (PAS) ร่วมกันเป็นผู้ทำแผน แต่ถูกคัดค้านจากตัวแทนจากกลุ่มเจ้าหนี้หลายกลุ่ม ที่ต่างไม่เชื่อมั่นในความสุจริตของลูกหนี้

ตัวแทนกลุ่มเจ้าหนี้ ระบุว่ามีความสงสัยในพฤติการณ์หลายอย่าง เช่น อาจมีการนำเงินที่ได้รับจากกการออกหุ้นกู้ไปใช้อย่างไม่เหมาะสม มีการซื้อลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บางรายที่ทำให้เจ้าหนี้รายอื่นเสียเปรียบ หรือมีการออกหุ้นกู้หลายครั้งเพื่อนำไปชำระหนี้เดิม รวมทั้งอาจมีการปกปิดข้อมูลของธุรกิจในบริษัทย่อย จึงคัดค้านการที่จะให้ JKN เป็นผู้ทำแผนและบริหารแผนร่วมกับ บริษัทเพลินจิต แอดไวเซอรรี่ฯ และ PAS

ในฝั่งของตัวแทนเจ้าหนี้ บริษัทมอร์แกน แสตนลีย์ Morgan Stanley ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่และผู้ถือหุ้น มีการเสนอ บริษัทเอินส์ท แอนด์ ยัง (Ernst & Young) หรือ EY ให้เข้ามาเป็นผู้ทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูฯ

อย่างไรก็ตามตัวแทนฝั่งลูกหนี้ คือ แอน JKN ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างโดยความ ‘สุจริต’ และมีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินการต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน โดยการปรับโครงสร้างของลูกหนี้ ประกอบกับลักษณะธุรกิจของ JKN มีโครงสร้างรายได้สำคัญจากการขายลิขสิทธิ์รายการ และจากการบริหารจัดการงานจ้าง และงานบันเทิงของนางงามผู้ครองตำแหน่งสำคัญ ขององค์กรนางงามจักรวาล Miss Universe Organization (MUO) ตลอดจนรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม และรายได้อื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีประสบการณ์และความสามารถมารับผิดชอบในการทำแผน

คาดว่าจะมีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผนในราวกลางหรือปลายเดือนมิถุนายนนี้ ทำให้บรรดาเจ้าหนี้ต้อง ‘เร่งรวบรวมเสียง’ เนื่องจากจะต้องรวบรวมได้เสียงโหวตจากเจ้าหนี้ให้ได้ถึงสองในสาม เพื่อให้ได้ผู้ที่จะเข้ามาทำแผนฟื้นฟูฯ 

ปัจจุบันตัวแทนกลุ่มเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมีทั้งหมด 14 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้จำนวน 1,857 ราย โดยนางสาวธีรดา รุ่งโรจน์สลากุล
2.บริษัทมิตซูบิชิ เอชซี แคปปิตอล (ประเทศไทย)จำกัด
3.นางรุ่งนภา รัตนภิญโญพิทักษ์
4.นายนราธิป ลิขสิทธิพันธุ์
5.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน)
6.ธนาคารกรุงไทยจำกัด(มหาชน)
7.ธนาคารทหารไทยธนชาติ จำกัด (มหาชน)
8.นายเธนศ อภิบุญญชัย
9.บริษัทเดอะ การูด้า เพาเวอร์ จำกัด
10.นายวิชัย ทองแตง
11.นายพิชัย อร่ามเจริญ
12.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
13.นอร์ธ เฮเวน ไทย ไพรเสท เอควิตี้ เจ็มมิไน คอมพานี (ฮ่องกง)
14.กลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้จำนวน 47 ราย โดยนางสาวธีร์วรา เพชรรักษ์

ในการรวบรวมเสียงเจ้าหนี้ กลุ่มที่ดูจะมีปัญหามากที่สุด คือ กลุ่มเข้าหนี้หุ้นกู้ที่มีมูลหนี้รวมกันราว 3,200 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้รวมตัวกันเป็นเอกภาพ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงคัดค้านการทำแผนฟื้นฟูฯ ‘บริษัทหลักทรัพย์บียอนด์’ ที่เป็นตัวแทนการขายหุ้นกู้ได้มอบให้ตัวแทนจาก ‘บริษัทฟินิกซ์ แอดไวซอรี่ฯ’  เสนอเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจรวบรวมรายชื่อจากเจ้าหนี้หุ้นกู้แต่ละกลุ่มและรวบรวมรายชื่อได้มากที่สุดคือ 1,857 ราย ในนามนางสาวธีรดา รุ่งโรจน์สลากุล คิดเป็นมูลหนี้ราว 2 พันล้านบาท

ส่วนเจ้าหนี้หุ้นกู้ในส่วนที่เหลือพยายามรวมตัวกันในนามของ ‘กลุ่ม JKN BondHolder’ ซึ่งมีแนวโน้มจะสนับสนุนให้ EY เข้ามาเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ แต่ปัญหาก็คือ จะต้องดึงเสียงผู้ถือหุ้นกู้ที่เคยมอบอำนาจให้บริษัทฟินิกซ์ แอดไวซอรี่ฯ กลับมาเพื่อมาโหวตสนับสนุนตัวแทนฝั่งเจ้าหนี้ที่ไม่ต้องการให้ JKN เป็นผู้ทำแผน เนื่องจากเกรงว่าเจ้าหนี้กลุ่มนี้อาจจะไม่ทราบข้อเท็จจริง และถูกดึงไปโหวตผู้ทำแผนฟื้นฟูฯจากฝั่งลูกหนี้คือ JKN 

ขณะเดียวกันยังต้องดึงเจ้าหนี้กลุ่มอื่นๆให้มาร่วมโหวตผู้ทำแผนในฝั่งเจ้าหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายใหญ่ๆ อย่าง ‘วิชัย ทองแตง’  และอีกหลายๆคนเพื่อให้โหวตสนับสนุน EY ในขณะที่เจ้าหนี้ในกลุ่มสถาบันการเงินยังคงสงวนท่าทีไม่ชัดเจนว่าจะโหวตไปในทิศทางไหน

ล่าสุดกลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้ในนาม JKN BondHolder มีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยออกเป็นแถลงการณ์ ‘ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน’ ในการประชาสัมพันธ์ช่องทางการติดต่อ เพื่อรวบรวมรายชื่อของกลุ่มผู้เสียหายจากหุ้นกู้ของ JKN เพื่อกำหนดแนวทางในการโหวตเลือกผู้ทำแผนที่จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้มากที่สุด

ถึงนาทีนี้ ศึกชิงมงกุฎ ในการหาผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของ JKN จึงต้องจับตามองว่า ในที่สุดเสียงโหวตจากบรรดาเจ้าหนี้ทั้ง 14 กลุ่ม จะเลือกตัวแทนผู้ทำแผนฟื้นฟูฯจากฝั่งไหน ระหว่างฝั่งเจ้าหนี้ กับ ฝั่งลูกหนี้คือ JKN ที่คงจะต้องแย่งเสียงสนับสนุนกันจนถึงนาทีสุดท้าย...

deep-space-jkn-rehabilitation-plan-debenture-creditor-SPACEBAR-Photo01.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์