มาจนถึงนาทีนี้ ดูเหมือนอภิมหาเมกะโปรเจค ‘แลนด์บริดจ์’ หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย- อันดามัน ที่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยไปฉกเอามาเป็นโครงการขายฝัน ที่นายกฯเศรษฐา ผ้าขาวม้าหลากสี นำไปใช้เป็น ‘จุดขาย’ ในเวลาเดินสายไปทำหน้าที่ ‘เซลล์แมน’ ประเทศไทย
เริ่มมีสภาพเหมือน ‘เรือธง’ ที่ยังคงลอย ‘เวิ้งว้าง’ อยู่กลางทะเลมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดจากการจัดสัมมนา ‘ทดสอบความสนใจ’ จากภาคเอกชน (Market Sounding) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ( 30 พฤษภาคม 2567) ที่มีเสียงตอบรับจากนักลงทุนไทยและต่างชาติน้อยมากจนน่าตกใจ
ความจริงงานนี้ควรจะเป็นงานใหญ่ เพราะมีการร่อนเทียบเชิญเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศที่สนใจมาฟังแนวคิดของรัฐบาลในการผลักดันโครงการนี้ ซึ่งตัวนายกฯเศรษฐา หรือ รองนายกฯ และรมว.คมนาคม ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ควรจะมาเป็นประธานเปิดงาน แต่กลับมีเพียงระดับ รมช.คมนาคม ‘มนพร เจริญศรี’ มาเปิดเวที
ถึงแม้จะมีการระบุว่ามีผู้ที่สนใจมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก และควรจะมีบรรดานักลงทุนระดับ ‘บิ๊กเนม’ บินมาจากทั่วโลก แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับมีเพียงไม่กี่ราย และไม่ครอบคลุมครบทุกอุตสาหกรรมหลักๆ ที่จะเข้ามาลงทุน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC ที่จะจัดตั้งขึ้น
งานนี้เจ้าภาพหลักคือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่จัดเพื่อนำเสนอแนวคิด Conceptual Paper เพื่อให้ข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์กับภาคเอกชนที่สนใจ พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นและรวบรวมไปประกอบการจัดทำเอกสารประกวดราคาในอนาคต รวมทั้งเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)
ตามไทม์ไลน์กระทรวงคมนาคมจะประชุมเพื่อสรุปร่างทั้งหมดเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงเดือน กันยายน 2567 นี้ จากนั้นจะวางกรอบเวลาในการเสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พิจารณาทั้ง 3 วาระ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลา ‘อย่างน้อย 1 ปี’ ในการจัดตั้ง SEC ซึ่งจะทันกับการประมูลโครงการแลนด์บริดจ์เฟสแรกในช่วงปลายปี 2568
ตามโครงการคาดว่าจะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า ‘1 ล้านล้านบาท’ ในการพัฒนาท่าเรือ 2 แห่ง คือท่าเรือฝั่งอ่าวไทยที่ ชุมพร และ ท่าเรือฝั่งอันดามัน ที่ระนอง พร้อมกับการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงสองท่าเรือเข้าด้วยกัน ทั้งมอเตอร์เวย์ ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมัน รวมทั้งอาจจะมีการตั้งโรงกลั่นน้ำมันและคลังน้ำมัน ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม
จากการประมาณการคาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนในการสร้างท่าเรือฝั่งชุมพรราว 3 แสนล้านบาท ฝั่งระนองราว 3.3 แสนล้านบาท การลงทุนในการสร้างมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ 3.58 แสนล้านบาท
ผลการศึกษายังมีการประเมินว่า ทั้งสองท่าเรือจะสามารถรองรับปริมาณสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึงปีละราว 20 ล้านตัน TEU เมื่อเสร็จสมบูรณ์ในปี 2584 โดยคาดว่า จะสามารถรองรับเรือสินค้าขนาดกลางเป็นหลัก แยกเป็นสินค้าที่ส่งผ่าน Transhipment ราว 13.6 ล้านตัน สินค้าส่งออกและนำเข้าของไทย 4.6 ล้านตัน สินค้าที่ส่งผ่านพรมแดนไปยัง จีนตอนใต้และ ประเทศในอนุภูมิภาคเม่นน้ำโขงอีกราว 1.2 ล้านตัน
มีการกำหนดการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ว่าจะทำในรูปแบบ ‘PPP Net Cost’ โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้ ‘สิทธิประโยชน์’ แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหา ‘พื้นที่’ และการ ‘เวนคืน’ ให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ
ส่วนภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการในแบบ Single Package ในระยะเวลา 50 ปี โดยสามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium) ซึ่งทาง สนข.มีอ้างผลการศึกษาว่า การประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการมีความ ‘คุ้มค่า’ กับการลงทุน
ถึงแม้ทางรัฐบาลจะพยายามตีกระแสว่า โครงการนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม แต่หากไปเจาะรายละเอียดจริงๆจะพบว่า มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่แสดงความสนใจ ‘น้อยมาก’
โดยหากมองในลักษณะของ Stake Holder แยกเป็นกลุ่มจะพบว่า แต่ละกลุ่มมีเพียงภาคเอกชนไม่กี่รายที่แสดงความสนใจ และยังจำกัดอยู่เฉพาะนักลงทุนในแถบเอเชียตะวันออกเป็นหลัก
กลุ่มผู้ประกอบการท่าเรือ มีตัวแทนมาจาก ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง ของจีน, เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินอล (ประเทศไทย), Maritime & Transport Business Solutions BV จากเนเธอร์แลนด์, Hebei Port Group Co Ltd จากจีน, และ Royal Haskoning DHV จากเวียดนาม
กลุ่มสายการเดินเรือมีเพียง โอโอซีแอล โลจิสติคส์ ของฮ่องกง, เอสไอทีซี คอนเทนเนอร์ ไลนส์ (ประเทศไทย), เค ไลน์ จากญี่ปุ่น, และอินเตอร์เอเชีย จากญี่ปุ่นเช่นกัน
ขณะที่ผู้ประกอบการด้านอื่นๆ เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม มีเพียง WHA และ อมตะ คอร์ปอเรชั่น โดยมีกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ คือกลุ่มสยามพิวรรธน์ เคดับบลิวไอ โตคิวคอร์ป
ในขณะที่สถาบันการเงินมีเพียง กรุงไทย, แบงค์ออฟไชน่า และ โฮกุริกุ จาก ญี่ปุ่น ที่เหลือเป็นตัวแทนจากสถานทูตอย่างอินเดีย, ญี่ปุ่น, ปากีสถาน และเมียนมา
ถ้าไม่คิดแบบเข้าข้างตัวเอง ก็ต้องยอมรับว่าโครงการนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เมื่อดูเสียงตอบรับจากนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติที่สนใจน้อยมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนลงแรงเดินสาย ‘โรดโชว์’ ไปขายฝันโครงการนี้ของนายกฯเศรษฐาตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา และหากดูตามรูปการณ์แล้ว ในที่สุดโครงการแลนด์บริดจ์อาจจะเป็นอีกโครงการที่อาจกลายเป็น ‘ฝันร้าย’ ที่ตามหลอกหลอนนายกฯ เศรษฐาไปอีกนาน...