การไม่ยื่นอภิปรายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นอภิปรายทั่วไป หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคก้าวไกล กำลังถูกตั้งคำถามว่า ตกลงก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุกแบบไหนกันแน่
ทั้งๆที่ถ้าย้อนไปดูข่าวเก่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 หลังที่ประชุมรัฐสภามีมติเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ณ เวลานั้น ได้นำสส.ของพรรค 140 ชีวิต แถลงที่รัฐสภา ประกาศจุดยืนการทำหน้าที่ฝ่ายค้านไว้ว่า
‘ต่อจากนี้ไป พรรคก้าวไกลจะต้องทำงานในฐานะพรรคฝ่ายค้าน โดยเราจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ทุกเสียงที่พี่น้องประชาชนได้มอบให้พรรคก้าวไกล จะต้องมีความหมาย ผู้แทนราษฎรทุกคนของพรรคก้าวไกลจะทำงานอย่างสุดความสามารถ ทั้งในด้านการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทั้งในด้านการผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า ทั้งในด้านการผลักดันวาระของประชาชนผ่านกลไกต่างๆ ของสภา รวมทั้ง การทำงานร่วมกับประชาชนนอกสภา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยร่วมกันอย่างไม่ท้อถอย’
ชัยธวัชยังย้ำด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น บอกถึงเหตุผลที่ต้องไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านว่า
‘วันนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ และการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากวันนี้ มิได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง’
แต่ผ่านมาถึงวันนี้ พรรคก้าวไกล นอกจากจะยังไม่ได้ทำในสิ่งที่ประกาศไว้แล้ว ยังเพิ่มความเคลือบแคลงสงสัยอีกต่างหาก ที่เลี่ยงไม่ยื่นขอเปิดอภิปรายรัฐบาลในสมัยประชุมนี้ ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ด้วยการอ้างเหตุผลสารพัด ทั้งระยะเวลาที่กระชั้นกับการขอเปิดอภิปรายรัฐบาลของวุฒิสภา และใกล้เคียงกับการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวาระ 2-3
โดย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่สวมหมวกประธานวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า
‘ดูจากไทม์ไลน์แล้วคิดว่าอาจจะยังไม่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไปในสมัยประชุมนี้’
พร้อมกับย้ำเหตุผลให้ฟังชัดๆ อีกว่า
‘ต้องบอกตามตรงว่า ซักฟอกที่เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โอกาสมีน้อยมากจริงๆ เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลก็เพิ่งมา ยังไม่ได้ใช้งบประมาณที่ตนเองเป็นคนจัดทำเลยแม้แต่บาทเดียว ก็ต้องพูดตามตรงว่ามีงบประมาณจริงๆ ก็หลังจากเดือนพฤษภาคม ถึงจะใช้งบประมาณที่รัฐบาลจัดทำขึ้นมาเป็นครั้งแรก’
เอาเป็นว่า พรรคก้าวไกล ในฐานะฝ่ายค้าน จะใช้ช่องทางตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านการตั้งกระทู้ถามแทน
เมื่อประธานวิปฝ่ายค้าน ประกาศชัดแบบนี้ วันนี้จึงไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลที่นโยบายไม่ตรงปก ฝ่ายค้านเองก็ไม่ตรงปกด้วย
การไม่ใช้สิทธิยื่นขอเปิดอภิปรายรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 และมาตรา 152 ที่ให้เปิดอภิปรายได้ปีละหนึ่งครั้ง จึงทำให้พรรคก้าวไกล เสียสิทธิดังกล่าวไปเปล่าๆ ในปีแรกของสภา ที่จะปิดสมัยประชุมครั้งที่สองลงในวันที่ 9 เมษายนนี้
จึงไม่แปลกหากใครจะบอกว่า พรรคก้าวไกลสร้างประวัติศาสตร์ให้กับฝ่ายค้าน ด้วยการไม่ยื่นอภิปรายรัฐบาล อันแตกต่างจากฝ่ายค้านในอดีต ที่ไม่เคยมียุคสมัยไหนที่ไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แม้ในบางยุคมีเสียงไม่มากพอ ยังหันไปใช้วิธีเดินสายตั้งเวทีเปิดอภิปรายนอกสภาแทนด้วยซ้ำ
ดังนั้น การประกาศตัวเป็น ‘ฝ่ายค้านมิติใหม่’ ของพรรคก้าวไกล ที่ไม่จำเป็นต้องค้านไปเสียทุกเรื่อง และพร้อมให้การ สนับสนุนรัฐบาลหากมีเรื่องไหนที่เป็นประโยชน์กับประชาชน นับเป็นการวางบทบาทที่แตกต่างจากฝ่ายค้านในอดีตอย่างมาก
แต่บังเอิญการยอมเสียสิทธิ เลี่ยงไม่ยื่นอภิปรายรัฐบาลหนนี้ของพรรคก้าวไกล มันก้ำกึ่งกันอยู่ระหว่างเหตุผลที่อธิบายไว้ กับการเลี่ยงไม่ตรวจสอบฝ่ายบริหารท่ามกลางเสียงครหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก่าเรื่องเดิม ‘ดีลลับฮ่องกง’ จึงเลี่ยงวิจารณ์**‘ทักษิณ ชินวัตร’** แบบแรงๆ มาตลอด เพราะมีสายสัมพันธ์ลับค้ำคออยู่
หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะหลัง ที่ปรับลดท่าที มีความยืดยุ่น ไม่สุดโต่งเหมือนเดิม หลังมีปัญหาเรื่องขบวนเสด็จของกลุ่มมวลชนที่ให้การสนับสนุนพรรค รวมทั้ง คดียุบพรรคอันสืบเนื่องจากประเด็นมาตรา 112 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.
นอกจากนั้น ลึกๆ ยังมีปัญหาความไม่ลงตัวภายในพรรค ทั้งการกุมสภาพความคิด ความไม่เป็นเอกภาพในการนำ และการไม่มีผู้นำทางจิตวิญญาณที่เป็นตัวเป็นตนเหมือนก่อน หลังการชักเข้าชักออกของ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ที่ทำตัวอยู่**‘ห่างๆ แบบห่วงๆ’** ตัดไม่ได้ขายไม่ขาด
ทั้งหมดที่ว่ามา ไม่แน่ใจข้อจำกัดการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารของพรรคก้าวไกล อยู่ที่ตรงไหน คงต้องถามจากคนในพรรคก้าวไกลเอาเองว่า ตกลงเป็นฝ่ายค้านเชิงรุกแบบไหนกันแน่