หวยเกษียณ ในมือของ ‘เผ่าภูมิ’

8 ก.ค. 2567 - 11:41

  • หวยเกษียณอยู่ภายใต้การดูแลของ รัฐมนตรีช่วยคลังเผ่าภูมิ โรจนสกุล

  • ช่วงเปิดตัว แนวทางออกมาดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปดูไม่ออกว่าจะไปอย่างไร

  • เงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดไว้กำลังถูกเปลี่ยนแปลงจากเดิม

deep-space-paophum-mof-nida-poll-oppose-retirement-lottery-SPACEBAR-Hero.jpg

อาจเป็นเพราะ ‘อ๊อฟ’ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ป้ายแดง เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทย ที่รองนายกฯ ‘อ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย เห็นว่ามีหน่วยก้านพอที่จะมีโอกาสแจ้งเกิดในฐานะหนึ่งในขุนพลด้านเศรษฐกิจของพรรคจึงได้รับการเลื่อนชั้นเป็นพิเศษขึ้นมาเป็นถึงเสนาบดีในการปรับครม.ล่าสุดทั้งๆที่ไม่ได้เป็น สส. ที่มาจากเขตเลือกตั้ง

แต่ในสภาพจริงๆ ‘อ๊อฟ’ ก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘มะม่วงที่ถูกบ่มให้สุกก่อนเวลา’ ทั้งๆที่หากว่าการตามชื่อชั้นแล้วเขาควรจะต้องอาศัยเวลาฝึกปรือฝีมือมากกว่านี้อีกสักหน่อย ทำให้ดูเหมือนเขายังไม่ได้รับการยอมรับในบทบาททางการเมืองที่เป็นอยู่สักเท่าไร

ในช่วงแรกๆเขาพยายามที่จะเข้าไปมีบทบาทในโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’  แต่ก็ดูจะไปทับซ้อนกับบทบาทของ รมช.คลัง ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ ซึ่งผลัดกันพูดคนละทีสองทีสร้างความสับสนและทำให้คนทำงานปวดหัวไปตามๆกัน จนต้องใส่ ‘เกียร์ถอยหลัง’ เปิดทางให้รมช.จุลพันธ์รับผิดชอบไปเต็มตัวมากกว่า 

เพราะเหตุนี้ เผ่าภูมิ จึงต้องหาพื้นที่ใหม่ซึ่งในตอนแรกก็ดูจะสร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย เมื่อออกมา ‘จุดพลุ’ เปิดเผยถึงแนวคิดในการทำโครงการสลากเกษียณหรือ ‘หวยเกษียณ’ แต่สุดท้ายก็เหมือนกับอีกหลายโครงการของรัฐบาลที่ยังไม่ทันที่จะ ‘ตกผลึก’ ในแนวคิดและรายละเอียดสำคัญๆ แต่เร่งหยิบฉวยมาเพื่อสร้างภาพ แต่พอลงลึกไปในรายละเอียดกลับยังมีการบ้านที่ต้องทำอีกมากมาย

ความจริงโครงการหวยเกษียณ เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ที่ต้องการจะส่งเสริมให้เกิดการออมเพื่อการเกษียณแบบ ‘สมัครใจ’ ของแรงงานที่อยู่นอกระบบ เนื่องจากที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีรูปแบบการออกเพื่อการเกษียณผ่านหลากหลายช่องทาง เช่นกองทุน บำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของมนุษย์เงินเดือนในภาคเอกชน และกองทุนประกันสังคม แต่ก็เป็นกองทุนสำหรับแรงงานในระบบที่มีอยู่ราว 17 ล้านคน

แรงงานอิสระอีกกว่า 20 ล้านคน ยังไม่มีหลักประกันในการออมเพื่อการเกษียณที่ดีพอ ถึงแม้จะมีการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554 แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีสมาชิกเพียงราว 2.76 ล้านคน เนื่องจากเงื่อนไขและผลตอบแทนที่จะได้รับหลังเกษียณไม่สร้างแรงจูงใจเท่าที่ควร จึงเกิดแนวคิด ‘หวยเกษียณ’ ขึ้นมา เพื่อใช้เงินรางวัลในแต่ละงวดเป็นตัวสร้างแรงจูงใจกระตุ้นให้เกิดการออม

ตามรูปแบบหวยเกษียณ จะเปิดโอกาสให้สมาชิก กอช.สามารถซื้อสลากเกษียณ ที่จะเป็นสลากแบบขูดดิจิตอลได้ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท โดยจะออกรางวัลทุกๆวันศุกร์ เดือนละ 4 ครั้ง โดยเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดไม่ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่  จะถูกนำไปออมเพื่อการเกษียณ แต่ยังมีโอกาสถูกรางวัลสูงสุดถึง 1 ล้านบาท จำนวน 5 รางวัล และรางวัลปลอบใจรางวัลละ 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล หากแต่ละงวดไม่มีผู้ถูกรางวัลจะมีการทบรางวัลนั้นๆไปในงวดถัดไป ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ได้รับความสนใจจากสมาชิก กอช.ที่นิยมการเสี่ยงโชคอย่างแน่นอน 

อย่างไรก็ตามหลังจากรัฐบาลไฟเขียวให้ดำเนินการในเรื่องนี้ ถึงแม้จะได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดีในตอนแรก แต่เมื่อลงลึกไปในรายละเอียดและโดนคำวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทีมงานและเผ่าภูมิ เริ่มออกอาการ ‘เป๋’ และเริ่ม ‘หลุด’ ออกจากกรอบความคิดเดิมไปมากขึ้นเรื่อยๆ 

ยิ่งล่าสุด นิดาโพล มีการไปทำการสำรวจความคิดเห็น ซึ่งผลออกมาในเชิงลบว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับนโยบายหวยเกษียณเพิ่มมากขึ้นกว่าในตอนที่เปิดตัวใหม่ๆ รมช.เผ่าภูมิ ก็ออกมาสวนกลับทันที ระบุว่าโพลมีความคลาดเคลื่อน และมีทัศนคติในเชิงลบต่อแนวคิดของรัฐบาล

เผ่าภูมิ ระบุว่า ถึงแม้รัฐบาลจะยอมรับฟังเสียงสะท้อน ‘แต่ไม่ได้บริหารประเทศผ่านโพล’ โพลมีหน้าที่ช่วยขัดเกลาเงื่อนไขให้ดีขึ้น แต่ยํ้าว่าไม่มีผลกระทบต่อหลักการ และการดำเนินการของโครงการ

ยิ่งไปกว่านั้นหากจับเนื้อหาการสัมภาษณ์ต่อจากนั้นจะเริ่มเห็นชัดว่า เริ่มมีอาการ**‘แกว่ง’** ไปจากกรอบความคิดเดิมที่มองกลุ่มเป้าหมายเฉพาะแรงงานอิสระที่เป็นกลุ่มเป็นหมายที่จะมาสมัครเป็นสมาชิก กอช. โดยยอมเปิดกว้างให้เฉพาะ ‘ผู้ประกันตนตามมาตรา 40’ และ **‘แรงงานอิสระทั่วไป’**เข้ามาเป็นสมาชิก

แต่มาถึงตอนนี้ รมช.เผ่าภูมิกลับพูดถึงความเป็นไปได้ที่ ‘อาจจะเปิดกว้างมากขึ้นไปอีก’  โดยมีแนวคิดที่จะขยายไปยังกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม (ม.33) ในระยะต่อๆไป ซึ่งหลุดออกไปจากกรอบความคิดเดิมอย่างมาก และไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง กอช.ที่ต้องการรองรับเฉพาะแรงงานอิสระที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กองทุนฯอื่นๆ

เขาบอกอีกว่ากำลังรอบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของ ครม. เมื่อได้รับความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมคาดว่าจะเข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้ (9 กรกฎาคม) แต่ไม่ทันจึงขอเลื่อนเป็นสัปดาห์หน้า และหลังจากที่ ครม.อนุมัติหลักการก็จะให้กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เร่งแก้กฎหมาย พ.ร.บ.กอช. และนำเรื่องเข้าสู่สภาฯ ต่อไป

ลำพังเรื่องการจะแก้กฎให้ กอช.มาทำหน้าที่ในการออกสลากเกษียณ โดยอ้างวัตถุประสงค์ว่าเพื่อสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมการออมให้กับแรงงานอิสระก็ดูจะเป็นอะไรที่ ‘ย้อนแย้ง’  และเป็นหนังเรื่องยาวที่ต้องทำความเข้าใจกันหนักอยู่แล้ว

แต่หากจะขยายวงไปถึง ข้าราชการและแรงงานในระบบที่เดิมเคยกำหนดว่าสมาชิกของ กอช.ต้องไม่เป็นสมาชิกของกองทุนฯอื่นที่อยู่ระบบที่มีอยู่ก็ยิ่ง ‘ยุ่ง’ เข้าไปใหญ่

จนพอจะเดาได้เลยว่าความหวังที่จะเข็นโคงการนี้ออกมาให้ได้ในไตรมาสแรกของปีหน้า คงเป็นเรื่องต้องอธิบายกันอีกยาว และอาจทำให้ หวยเกษียณ จะเป็นอีกโครงการที่ รมช.เผ่าภูมิต้องถูกทวงถามด้วยคำถามเดิมๆว่าจะต้องปล่อยให้ชาวบ้านรอกันไปถึงกี่โมง...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์