แก้รัฐธรรมนูญพรรคส้มวัดใจเพื่อไทย

6 ม.ค. 2568 - 03:17

  • แก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีการปรับแก้ในเนื้อหาตามที่พรรคการเมืองต้องการ

  • พรรคส้มเสนอให้ปลดล็อกประชามติ 2 ชั้น 3 ชั้น

  • การเปลี่ยนอำนาจจากมือ สว. มาอยู่ในมือ สส.

Deep Space_แก้รัฐธรรมนูญพรรคส้มวัดใจเพื่อไทย-SPACEBAR-Hero.jpg

ชั่วโมงนี้หลายคนเริ่มออกมาตั้งคำถามกันหนาหูมากขึ้น ถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาชน ที่ให้เพิ่มหมวด 15/1 ในมาตรา 256 โดยไม่ผ่านการทำประชามติก่อนจะทำได้หรือไม่

เรื่่องนี้ถ้ามองเผินๆ ผ่านสายตาคนในพรรคสีส้ม ทั้ง ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’, ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ ต่างเชื่อว่าการที่ประธานรัฐสภา ‘วันมูหมัดนอร์ มะทา’ บรรจุร่างแก้ไขฉบับดังกล่าวเข้าสู่วาระพิจารณาของรัฐสภาได้

เท่ากับเป็นการปลดล็อกประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้งได้แล้วนั้น

นับเป็นความเข้าใจที่ ‘คลาดเคลื่อน’ และผิดอย่างมหันต์ เพราะนั่นเป็นเพียงด่านแรก ที่ยังไม่รู้ว่าจะได้พิจารณาหรือไม่ รวมทั้งหากได้พิจารณาก็ไม่รู้จะผ่านวาระแรกไปได้หรือเปล่า เพราะเริ่มมีสว.บางรายออกมายืนขวาง ไม่เอาด้วย

เนื่องจากมีปัญหาซ้อนปัญหา คือวิธีการก็มีปัญหา เพราะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ทำประชามติสอบถามประชาชนเสียก่อน ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4 / 2564 และเนื้อหาก็สุดโต่ง

ที่ว่าเนื้อหาสุดโต่ง ไม่เพียงไปริบดาบคืนจาก สว.กรณีการลงมติในวาระ 1 และวาระ 3 ที่ปัจจุบันต้องมีเสียงสว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เปลี่ยนเป็นเสียงเห็นชอบของสส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน

แย่งเอาดาบจากมือสว.มาไว้ในมือสส.แทน?!

 แถมยังแตะหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ แบบตรงๆ ไม่ต้องอ้อมให้เสียเวลา ผ่านการแก้ไข (8) ที่ให้ตัดเงื่อนไขการนำไปออกเสียงประชามติก่อนการทูลเกล้าฯ โดยยกของเดิมออกทั้งหมด เหลือไว้เพียง 

“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เท่านั้น ที่ต้องออกเสียงประชามติ

นั่นเท่ากับว่า การแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1 หมวด 2 รวมทั้ง เรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องเกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ สามารถแก้ไขได้เหมือนกับบทบัญญัติอื่นทั่วๆ ไป

ไม่นับเนื้อหาใน (9) ที่เพิ่มความ ‘ยุ่งยาก’ ให้กับการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) หรือไม่ เดิมให้สมาชิกเข้าชื่อกันโดยใช้เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 10  แต่ปรับเพิ่มเป็นเสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 แทน

ทำให้การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกิดความยุ่งยากต้องใช้เสียงมากขึ้นอีกเท่าตัว

นอกจากนั้น ส.ส.ร.200 คน ในร่างของพรรคประชาชน ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด แบ่งเป็นจากระบบเขต 100 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ล้อไปกับการเลือกตั้งทั่วไปที่ให้มีบัตรสองใบ ในขณะที่ร่างเดิมของพรรคเพื่อไทย ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งร้อยเปอร์เซนต์

งานนี้ทั้งพรรคส้ม พรรคแดง ต่างมีแผนเข้าไปกินรวบยึดสภา ส.ส.ร.ด้วยกันทั้งคู่ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท เป็นเรื่องของบ้านเมือง แต่ยังถอดความเป็นพรรคออกไม่ได้

พรุ่งนี้ วันอังคารที่ 7 มกราคม พรรคเพื่อไทยจะให้ที่ประชุมสส.พิจารณาว่า จะเสนอร่างของตัวเองประกบกับร่างของพรรคประชาชนหรือไม่ จากนั้น 

วันพุธที่ 8 มกราคม ประธานรัฐสภา จะประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อจัดลำดับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 17-18 ร่าง ว่าจะพิจารณาร่างไหนก่อนหลังกันในวันที่ 14-15 มกราคมนี้

นาทีนี้จุดยืนพรรคการเมืองอื่นๆ ยังคงยืนยันไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เหมือนเดิม ยกเว้นพรรคเพื่อไทย ที่ต้อง ‘รอวัดใจ’ กันอีกรอบ เพราะระยะหลังเริ่มมีการแตะมือกันถี่ขึ้นกับพรรคสีส้ม 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้จะซีเรียสหรือล่อแหลมขนาดไหนก็อยู่ที่พรรคเพื่อไทยนั่นแหล่ะ แต่คอการเมืองเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยคง ‘ไม่สร้างเงื่อนไข’ ให้เป็นเป้าถล่มรัฐบาลเพิ่มในเวลานี้

คงแค่ใช้เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นสะพานเชื่อม แตะมือหลวมๆ ล่ามพรรคส้มให้อยู่ในโอวาทก็เท่านั้น!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์