ส่องเส้นทางเหล็ก ‘พล.อ.ทรงวิทย์’ โซ่ข้อกลางอำนาจ

7 มี.ค. 2568 - 09:25

  • ส่องเส้นทางเหล็ก ‘พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี’

  • ถูกจับตาโซ่ข้อกลางอำนาจการเมืองหรือไม่

  • ย้อนเส้นทางโตของ ‘บิ๊กอ๊อฟ’ เมื่อครั้งเป็นกำลังสำคัญ ร.11 รอ.

deep-space-politic-soldiers-general-songwit-noonpakdee-big-off-SPACEBAR-Hero.jpg

เข้มข้นและดูเอาจริงเอาจังเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการทำงานในฐานะประธานคณะกรรมการ ปชด. ของ ‘บิ๊กอ๊อฟ’ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อมีการเรียกประชุมทันที หลังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ พร้อมประเดิมงานแรกด้วยการเตรียมตั้ง ศอ.ปชด.ส่วนหน้า ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 

ศอ.ปชด.ส่วนหน้า จะมี ‘บิ๊กหยอย’ พล.อ.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อนร่วมรุ่น ตท.24 ของ ‘บิ๊กอ๊อฟ’ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยมีภารกิจสำคัญในการสานต่อนโยบายการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของรัฐบาล 

ส่วนสถานการณ์ด้านชายแดนไทย-กัมพูชา ยังมอบให้ พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบดูแลไปก่อน หากมีสถานการณ์ที่ขยายตัวมากขึ้น ก็อาจตั้ง ศอ.ปชด.ส่วนหน้า ในภายหลัง 

การประชุมครั้งแรกที่มีทั้ง พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. เข้าร่วมประชุมโดยไม่ได้ส่งตัวแทน ไม่เพียงเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของคณะกรรมการชุดนี้ 

แต่ยังเป็นภาพที่ลดระยะห่างระหว่างกองทัพไทยและกองทัพบกลงได้ในระดับหนึ่ง หลังจากก่อนหน้านี้มีกระแสคุกรุ่นในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นบทบาทของกองทัพไทย และบทบาทของกองทัพบก 

มีการตั้งข้อสังเกตว่า บางสถานการณ์กองทัพไทย ในยุค พล.อ.ทรงวิทย์ เหมือนจะเดินนำหน้ากองทัพบกอยู่หนึ่งก้าวเสมอ ทั้งในสถานการณ์ภัยพิบัติ สถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดน 

ทั้งที่ในความเป็นจริง โครงสร้างของกองทัพไทยถูกออกแบบให้ปฏิบัติภารกิจในรูปแบบเสนาธิการร่วมอยู่แล้ว 

ปัญหาชายแดน กองทัพไทย มี กรมกิจการชายแดนและกรมแผนที่ทหาร ที่มีภารกิจเฉพาะในด้านนี้ ส่วนปัญหาภัยพิบัติ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาก็ถูกออกแบบมารองรับภารกิจช่วยเหลือประชาชนค่อนข้างชัดเจนเช่นกัน 

บทบาทของกองทัพไทยในแต่ละยุค ต่างกันก็ตรงที่ตัวบุคคลว่า ‘ใคร’ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและมีระยะเวลาในการครองตำแหน่งกี่ปี 

ยุคของ ‘บิ๊กแก้ว‘ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ แม้จะดำรงตำแหน่ง ผบ.สส. ยาวถึง 3 ปี และเป็น ผบ.สส. ที่คู่ขนานกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. 3 ปีเช่นกัน

แต่เป็น 3 ปี ภายใต้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา บทบาททางการทหารและความมั่นคง ส่วนใหญ่จึงอยู่ในมือของ ‘ลุงตู่’ แทบทั้งสิ้น ส่วน ผบ.สส. และ ผบ.ทบ. มีบทบาทชัดเจนในฐานะหน่วยปฏิบัติ 

ในยุคของรัฐบาลพลเรือน ที่มีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมเป็นพลเรือน บทบาทของผบ.เหล่าทัพ จึงเริ่มถูกจับตามองมากขึ้น โดยเฉพาะ พล.อ.ทรงวิทย์ ซึ่งเป็น ผบ.สส. ที่มีอายุราชการ 2 ปี โดยจะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2568 

บทบาทของ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่ดูแนบแน่นและทำงานร่วมกับภาคการเมืองได้มากที่สุด จึงเริ่มเรืองรอง นับจากเวลานั้น และถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็น ผบ.สส. ที่เดินนำหน้า ผบ.เหล่าทัพ ทุกเหล่า ในทุกภารกิจ 

หากนับจากปี 2535 เป็นต้นมา หลังยุคของ ‘บิ๊กเต้’ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล บทบาทของ ผบ.สส. ก็เหมือนจะลดลง ถึงจะมีช่วงปี 2545 – 2546 ในยุคของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จะกลับมามีบทบาทบ้าง แต่ก็เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ตำแหน่ง ผบ.สส. เป็นตำแหน่งรองรับนายทหารที่พลาดหวังจากตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพหรือรองรับผบ.เหล่าทัพ ที่ถูกโยกออกจากตำแหน่งก่อนวาระ เช่น พล.อ.สมทัต อัตตะนันท์ และ พล.อ.ชัยสิทธิ์  ชินวัตร

เมื่อมาในยุคของ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่เริ่มมีบทบาทการนำมากขึ้น และแจ่มชัดมากขึ้น จึงไม่แปลกที่จะถูกตั้งคำถาม และถูกจับตามอง 

ถามว่า แล้ว พล.อ.ทรงวิทย์ คือใคร นอกจากเป็นลูกชายคนเดียวของ ‘บิ๊กตุ๋ย’ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี อดีต ผบ.ทบ.และอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมแล้ว อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ทรงวิทย์ ได้รับการยอมรับจากภาคการเมือง 

และเป็นดั่ง ‘โซ่ข้อกลาง’ เชื่อมระหว่างสองอำนาจ…

พล.อ.ทรงวิทย์ เคยเป็นหนึ่งในแคนดิเดต ผบ.ทบ. และเป็นนายทหารคนแรกที่ใกล้เคียงที่สุดต่อการแหวกม่านประเพณีนายทหาร ที่ไม่จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ได้  

เส้นทางการเติบโตในราชการทหารของ พล.อ.ทรงวิทย์ เริ่มจากการรับราชการใน กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ ทหารเสือราชินี ‘บิ๊กอ๊อฟ‘ จึงจัดเป็นในนายทหารที่จบหลักสูตรทหารเสือราชินี มีศักดิ์และสิทธิ์ในการติดเครื่องหมายทหารเสือ

จากนั้นจึงขยับมารับราชการในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และเติบโตขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

ใน ร.11 รอ. เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ทรงวิทย์ มีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ คลับ 11 หรือ ร.11 คอนเนคชั่น ที่ต่อมานายทหารจาก ร.11 รอ. หลายนายมีบทบาทอย่างยิ่งทั้งด้านการทหารและด้านการเมือง

มองอย่างผิวเผินอาจเห็นภาพของ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นหัวแถวของนายทหารจาก ร.11 รอ. ที่ขับเคลื่อนบทบาทสำคัญทางการเมืองในแต่ละยุค 

คอนเนคชั่นของ ‘บิ๊กแดง’ และสไตล์ที่ดุดันตรงไปตรงมา และมากไปด้วยมวลมิตรในหลายวงการ ทำให้ ‘บิ๊กแดง’ เป็นเหมือนภาพตัวแทน ร.11 คอนเนคชั่น 

พล.อ.ทรงวิทย์ ในขณะนั้นจึงเหมือนดั่งน้องรักของ ‘บิ๊กแดง’ ที่แนบแน่นกันมามาตั้งแต่รุ่นพ่อ คือ ‘บิ๊กจ๊อด’ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.สส. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ที่ร่วมกับ ‘บิ๊กสุ’ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี

นอกจากนี้ พล.อ.ทรงวิทย์ ยังเติบโตในตำแหน่งผู้นำหน่วย ตามหลังพี่เลิฟ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์มาโดยตลอด ทั้งตำแหน่ง ผบ.ร.11 รอ. , ผบ.พล.ร.11 และ ผบ.พล.1 รอ. เส้นทางเหล็กที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในอนาคต   

แต่ที่สุดเมื่อเติบโตมาเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 และจ่อขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 อันเป็นตำแหน่งที่การันตีเส้นทางสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ประเพณีหลักของกองทัพบก ทำให้ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่จ่อเก้าอี้ แม่ทัพภาคที่ 1 ต้องหลบมาเป็นรองเสนาธิการทหารบก และขึ้นเป็น พล.อ. ในตำแหน่งหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารบก ในยุคของ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

หลังจากนั้น ‘บิ๊กแดง’ จึงส่ง พล.อ.ทรงวิทย์ ข้ามห้วยไปดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.สส. และขยับขึ้นเป็น ผบ.สส. ในที่สุด 

เส้นทางของ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่เติบโตมาจาก ร.11 รอ. และตามหลัง ‘บิ๊กแดง’ มาโดยตลอด จึงยากปฏิเสธ ถึงความแนบแน่นในฐานะสมาชิกราบ 11 และเป็นส่วนหนึ่งของ ร.11 รอ. ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง ในยุคปี 2549 – 2557 ช่วงต่อรัฐประหาร 2549 – รัฐประหาร 2557  

รัฐประหารในปี 2549 ร.11 รอ. เป็นหน่วยสำคัญในกรุงเทพฯ ที่นำกำลังออกมาควบคุมพื้นที่สำคัญในเมืองหลวง  ขณะนั้น พล.อ.ทรงวิทย์ ยังเป็นเพียง เสนาธิการ ร.11 รอ.

และในปี 2553 ร.11 รอ. ถูกใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยขณะนั้นพล.อ.ภิรัชต์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ร.11 รอ. และ พล.อ.ทรงวิทย์ ดำรงตำแหน่ง รองผบ.ร.11 รอ.

แม้จะเติบโตในเส้นทางเดียวกันกับ ‘บิ๊กแดง’ แต่ พล.อ.ทรงวิทย์ กลับมีภาพที่ต่างจาก ‘บิ๊กแดง’ เพราะถูกมองว่า เป็นนายทหารสายพิราบ ไม่ใช่สายเหยี่ยว และมีบุคลิกที่ประนีประนอมมากกว่า โดยเฉพาะภาพของการเป็นทหารประชาธิปไตย 

แต่ถ้าใครรู้จัก พล.อ.ทรงวิทย์ จะรู้ว่า ภายใต้ภาพความประนีประนอม นั้น พล.อ.ทรงวิทย์ มีความเด็ดขาดซ่อนอยู่ไม่แพ้พี่เลิฟ และพร้อมสำหรับภารกิจสำคัญ…หากถึงเวลา

แต่ด้วยความเป็นคนที่อ่านหนังสือมาก เรียนหนังสือเยอะ มีทฤษฎีทางการทหารอ้างอิงเสมอ ทำให้ พล.อ.ทรงวิทย์ ถูกมองว่า เป็นนายทหารสายพิราบ

พล.อ.ทรงวิทย์ เคยตอบคำถามนักข่าวบางคนที่ถามว่า ทำไมทหารถึงชอบรัฐประหาร ว่า “ทำไมไม่คิดว่า ทุกครั้งที่ต้องทำรัฐประหาร ทหารก็เจ็บปวดไม่แพ้ประชาชนที่รักประชาธิปไตยเช่นกัน แต่เมื่อต้องทำ ก็ต้องทำ”     

เช่นเดียวกับสถานการณ์ตามแนวชายแดนที่เกิดขึ้น พล.อ.ทรงวิทย์ ก็ตอบคำถามใกล้เคียงกันว่า “เมื่อถึงเวลาต้องทำ ก็ต้องทำ”

วันนี้ในฐานะ ผบ.สส. จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ทรงวิทย์ จะมีบทบาท และได้รับการยอมรับจากภาคการเมือง โดยเฉพาะ พรรคเพื่อไทย 

หากใครเชื่อว่า ดีลลังกาวีมีจริง และใครเชื่อว่า พรรคเพื่อไทย กำลังแปลงร่างไปเป็นตัวแทนฝั่งอนุรักษ์นิยมยุคใหม่ ก็ต้องเชื่อว่า ทำไม พล.อ.ทรงวิทย์ ถึงอยู่ในสถานะ ‘โซ่ข้อกลาง’ ที่แข็งแรง และมีพลังต่อการสื่อสารระหว่างฝั่งอำนาจทั้งสองฝั่งได้อย่างตรงไป ตรงมา 

โดยเฉพาะการสื่อสารข้อมูลระหว่างพี่เลิฟ ที่ พล.อ.ทรงวิทย์ มักจะหาเวลาว่างไปนั่งจิบไวน์ด้วยเสมอที่บ้านย่านริมคลองประปา 

ทั้งหมดยังไม่นับความเป็นน้องรักของ ‘บิ๊กต๊อก’ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีต รอง ผบ.สส. ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.อิสระพงศ์ และเคยทำงานร่วมกันกับ พล.อ.ทรงวิทย์ เมื่อครั้งที่ ‘บิ๊กตุ๋ย’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยุค รัฐบาล รสช.

รวมทั้ง…เป็นนายทหารที่ ‘ลุงตู่’ และ ‘อาจารย์น้อง’ ให้ความเอ็นดูมาโดยตลอดเช่นกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์